ทีดีอาร์ไอหวั่น ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปิดช่องผู้แทนผู้บริโภคนั่ง กสทช.
ดร.สมเกียรติ ชำแหละ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ห่วงสเปคคุณสมบัติ กสทช. 7 คน จำกัดอายุ 45-65 ปี สูงเกินไป ไม่เปิดทางให้คนอายุน้อย แต่ประสบความสำเร็จทำงาน หวั่นไม่มีผู้แทนด้านคุ้มครองผู้บริโภคถูกสรรหา แนะใช้กฎหมายฉบับเก่าก่อน แม้ไม่สมบูรณ์
วันที่ 13 พฤษภาคม 2559 โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ หัวข้อ NBTC Policy Watch: 5 ปี กสทช. กับอนาคตการสื่อสารไทย ณ ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปาฐกถา เรื่อง กฎหมาย กสทช.ฉบับใหม่ กับการปฏิรูประบบวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมไทย ตอนหนึ่งระบุถึงข้อกังวลการได้มาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ...กำหนดให้มีคณะกรรมการ กสทช.ชุดเดียวอย่างแท้จริง จำนวน 7 คน จากเดิมชุดใหญ่ 11 คน แบ่งเป็น 2 ชุดย่อย คือ ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และด้านกิจการโทรคมนาคม
อย่างไรก็ตาม ที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เมื่อได้อ่านร่าง พ.ร.บ.แล้ว ค่อนข้างมีลักษณะปิดกั้น ยกตัวอย่าง ผู้มีคุณสมบัติต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี ไม่เกิน 65 ปี หลักเกณฑ์เช่นนี้ ในอนาคตหากนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจแล้ว หรือนายแลรี่ เพจ และนายเซอร์เกย์ บริน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์กูเกิล ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจแล้ว ซึ่งเกิดในประเทศไทย จะมาสมัครไม่ได้ เพราะมีอายุไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด
“นายมาร์ก อายุ 31 ปี นายแลรี่ อายุ 43 ปี นายเซอร์เกย์ อายุ 42 ปี ดังนั้น การจะนำคนรุ่นใหม่ที่มีความกระฉับกระเฉง มองโลกอนาคต เเต่ร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานั้น กำหนดคุณสมบัติจะได้คนตรงข้าม” ดร.สมเกียรติ กล่าว และว่า ไม่ได้หมายความว่า ผู้สมัครที่มีอายุมากจะต้องมีความคิดล้าหลังเสมอไป แต่พัฒนาการเทคโนโลยี พัฒนาการตลาดไปเร็วมาก
ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการกำหนดหากเป็นข้าราชการ ข้าราชการพลเรือน หรือพนักงานอื่นของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ต้องไม่มีตำแหน่งต่ำกว่าหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป นักวิชาการต้องมีตำแหน่งตั้งแต่รองศาสตราจารย์ขึ้นไป ทหารต้องมีตำแหน่ง พลโท พลเรือโท พลอากาศโท พลตำรวจโท ขึ้นไป ซึ่งเป็นที่พิศวงอย่างยิ่งว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับการเป็นผู้กำกับดูแล
ส่วนผู้สมัครที่เป็นนักบริหารธุรกิจต้องเป็นไม่น้อยกว่า 3 ปี ตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบริษัทมหาชน จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาท แต่หากเป็นผู้บริโภคต้องมีตำแหน่งเป็นผู้คุ้มครองผู้บริโภคต้องมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี ถ้าไม่มีประสบการณ์คุ้มครองผู้บริโภค แต่มีประสบการณ์คุ้มครองเสรีภาพประชาชน เหมือนน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบัน จะสมัครไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า กฎหมายต้องการผู้มาดำรงตำแหน่งหน้าตาแบบใด จึงเป็นห่วงว่าจะเป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่
ดร.สมเกียรติ ยังกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ยังมิได้กำหนดให้ กรรมการ กสทช. ทั้ง 7 คน แบ่งเป็นช่อง ๆ ว่าต้องให้คุ้มครองผู้บริโภค 1 คน แต่จะนำทุกคนมาให้คะแนนแล้วเรียงกัน นั่นหมายถึงอาจได้ผู้มาดำรงตำแหน่งยศพลโท 7 คน ก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะไทยไม่ค่อยสนใจการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว หากย้อนกลับไปดูงบประมาณสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ปี2559 จำนวน 220 ล้านบาท ประชากร 67 ล้านคน เฉลี่ยแล้วรัฐบาลคุ้มครองคนไทยประมาณ 3 บาท/คน/ปี ดังนั้น จึงอาจไม่มีผู้บริโภคเป็นตัวแทนในคณะกรรมการชุดใหม่
ส่วนผู้คัดเลือกคณะกรรมการสรรหา ประธาน ทีดีอาร์ไอ ระบุมี 7 คน ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นผู้มาจากฝั่งตุลาการ เชิงกึ่งตุลาการภิวัฒน์สำหรับการคัดเลือก นอกจากนี้ยังมีประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่เห็นความเชื่อมโยง ความเข้าใจ งานด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือรู้เรื่องบุคลากรของประเทศดี จะสามารถกำกับดูแลด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ได้หรือไม่
“ผู้คัดเลือก 7 คน มาจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ แต่ไม่ได้ทำให้เราอบอุ่นใจมากมาย มีจารีตตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ใช้ฝ่ายตุลาการในการคัดเลือกบุคลากรเข้ามาดำรงตำแหน่งบุคลากรในองค์กรอิสระของรัฐ ไม่ได้พบว่าคัดเลือกแล้วทำให้สาธารณชนรับความอบอุ่นใจเท่าไหร่” ดร.สมเกียรติ กล่าว และว่า ความจริงไม่เป็นธรรมกับฝ่ายตุลาการด้วย เพราะผู้พิพากษาจำนวนมากไม่เห็นด้วยที่จะให้ดึงฝ่ายตุลาการเข้าไปเรื่องการยุ่งกับการบริหารราชการแผ่นดินในรูปแบบต่าง ๆ วันข้างหน้าเกิดปัญหา หาก กสทช.ชุดใหม่ ถูกคดีขึ้นศาล ท่านผู้สรรหาอาจเจอผู้ถูกสรรหาขึ้นไป อาจมีความรู้สึกว่าสรรหาคนไม่เหมาะสมขึ้นไปหรือไม่ จึงเป็นไปได้หรือไม่ จะใช้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับเดิมไปก่อน แม้จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม .
ภาพประกอบ:www.nbtcpolicywatch.org