ต้นไม้เมืองกรุงถูกตัดเหี้ยน บิ๊กทรี ฉะ กทม.ขาดองค์ความรู้ ทำงานไม่ประสานกัน
บิ๊กทรี เผย ต้นไม้เมืองกรุงเหี้ยน เพราะคนตัดขาดองค์ความรู้ ด้านภาคประชาชน เอกชน ผนึกกำลังนาม “ เครือข่ายต้นไม้เมือง” หวังดันรัฐจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างเป็นระบบ
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เครือข่ายภาคประชาชน องค์กรเอกชน และมหาวิทยาลัย แถลงข่าวเปิดตัว “เครือข่ายต้นไม้เมือง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมแก้ปัญหาต้นไม้ในเมือง และหวังผลักดันการบริหารจัดการต้นไม้อย่างเป็นสากล
ด้าน นางสาวอรยา สูตะบุตร ผู้ก่อตั้งกลุ่มบิ๊กทรี (Big Trees Project) กล่าวถึงการดูเเลรักษาต้นไม้ในเมืองโดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมักพบปัญหาการตัดเหี้ยนอยู่บ่อยครั้งว่า เกิดจากปัญหาความไม่เข้าใจของคนงานที่จ้างตัดไม้ คนของกทม.ที่ผ่านมาอบรมเรื่องการตัดแต่งกิ่งไม้ ก็ไม่ได้ทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับลูกจ้างรายวัน รวมถึงยังการที่กทม.ขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและเข้าใจในเรื่องนี้อีกมาก
ผู้ก่อตั้งกลุ่มบิ๊กทรี กล่าวว่า หากการตัดแต่งต้นไม้นั้นมีวิธีการที่ถูกต้อง กทม.จะสามารถลดภาระการตัดแต่งลงได้อย่างมาก เพราะการตัดที่ถูกต้องจะเลือกตัดในส่วนที่มีปัญหาเท่านั้น เช่น กิ่งที่เสีย หรือกิ่งที่ยื่นเข้าไปในตัวอาคารบ้านเรือนหรือขวางทางสัญจร อีกทั้งการตัดที่ถูกต้องจะไม่ตัดยอดของต้นไม้ ซึ่งการตัดที่ดีจะทำให้ต้นไม้แข็งแรง ในหนึ่งต้นอาจตัดแต่งแค่ปีะครั้งเท่านั้น
"แต่การที่ตัดจนเหี้ยนทั้งต้น ยิ่งก่อให้เกิดกิ่งสาขามากกว่าเดิม มิหน่ำซ้ำยังเป็นกิ่งเล็กๆ ที่ไม่แข็งแรง ในหนึ่งปีจึงต้องตัดหลายครั้ง ส่งผลให้กทม.สูญเสียงบประมาณเพิ่มสูงมากขึ้นอีกด้วย" นางสาวอรยา กล่าว และว่า สิ่งที่ต้องทำอีกอย่างคือการปรับทัศนคติของประชาชน และกทม.ที่มีต่อต้นไม้ วันนี้เราคิดว่า ต้นไม้เป็นฆาตกร แค่กิ่งไม้ ใบไม้หล่นร่วงในพื้นที่ส่วนตัว เราร้องเรียนให้ตัดทิ้งๆ ทั้งๆ ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีที่ดีกว่า และประเด็นเรื่องสายไฟคิดว่าต้นไม้กับสายไฟอยู่กันได้ มีตัวอย่างหลายประเทศที่ทำให้ แต่เราไม่ทำ
สำหรับสิ่งที่ กทม.ต้องทำให้ได้ นอกเหนือจากการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการตัดแต่ง ผู้ก่อตั้งกลุ่มบิ๊กทรี กล่าวว่า คือการแจ้งประชาชนในพื้นที่ ก่อนที่จะมีการตัดแต่งต้นไม้ เพื่อให้คนในชุมชนละแวกนั้นได้มีส่วนร่วม หรือแม้แต่ทราบข่าว ไม่ใช่ว่าออกไปทำงานกลับมาต้นไม้หายหมดเเล้ว
ด้านนางสาวช่อผกา วิริยานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง กล่าวถึงความตั้งใจในการสร้างเครือข่ายครั้งนี้ว่า ทุกวันนี้ภาคประชาชนจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างสร้างสรรค์ การรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายคือการเชื่อมจุดต่างๆ เข้าด้วยกัน และเชื่อว่าเมื่อพลังเล็กๆ รวมกันจากจุดหนึ่งจุดจะกลายเป็นจุดใหญ่ และหวังว่าหน้าร้อนปีหน้าเราจะไม่ร้อนอย่างวันนี้ เพราะส่วนตัวเชื่อว่าต้นไม้ในกรุงเทพฯสามารถแก้ได้ แต่ต้องช่วยกัน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ปัจจุบันทางเครือข่ายต้นไม้มีองค์กรเข้าร่วมกว่า 56 องค์กร และจะเริ่มกิจกรรมแรกใช้ชื่อ “สายตรวจต้นไม้” โดยเครือข่ายฯขอเชิญชวนประชาชนผู้รักต้นไม้ในเมืองทุกคน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมกันเป็นอาสาสายตรวจต้นไม้ ทำหน้าที่สอดส่องเป็นหูเป็นตาตรวจตราต้นไม้ในชุมชนของท่านและถ่ายรูปโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย พร้อมใส่แฮทแทค #สายตรวจต้นไม้ เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางออนไลน์แสดงพลังสามัคคีร่วมกัน สำหรับชาวกรุงเทพฯ กำหนดออกตรวจต้นไม้ ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ พร้อมกันที่หน้าร้าน คาเฟ่ เวโลโดม ปากประตูทางออก ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์