คนอีสานเสนอ “นโยบายพัฒนาภาค”เน้นกระจายอำนาจแก้ได้ทุกปัญหา
สพม. จับมือ 873 สภาองค์กรชุมชนตำบลอีสาน เสนอนโยบายพัฒนาภาค ให้รัฐบาลแก้ 14 ปัญหา คลอบคลุมกระจายอำนาจ หนี้สินเกษตร ที่ดิน เหมืองแร่ ลุ่มน้ำ สวัสดิการ เกษตรพันธะสัญญา คอรัปชั่น นิวเคลียร์
เร็วๆนี้ คณะทำงานขับเคลื่อนสมัชชาองค์กรชุมชนภาคอีสาน ร่วมกับ สภาพัฒนาการเมืองภาคอีสาน สภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน จัดเวที “สมัชชาประชาธิปไตยชุมชนสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” ที่ที่ว่าอำเภอเวียงเก่า จ.ขอนแก่น และจัดประชุมสมัชชาสภาองค์กรชุมชนตำบล ที่โรงเรียนเวียงวงกตวิทยาคม มีสมาชิกสภาองค์กรชุมชน 863 ตำบล 20 จังหวัดภาคอีสาน สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองเข้าร่วมกว่า 8,500 คน
ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง(สพม.) กล่าวเปิดประชุมว่ารัฐธรรมนูญ 2540 นำไปสู่การเกิดพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อย่างน้อย 2 ฉบับซึ่งมุ่งเน้นสร้างประชาธิปไตยจากฐานล่าง ได้แก่ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.2551 เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของประชาธิปไตยชุมชน จากการสร้างสำนึกท้องถิ่นในการดำเนินชีวิตที่ใช้เหตุผล เคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น
ศ.ดร.สุจิต กล่าวต่อว่า สพม.ทำงานคู่ขนานสภาองค์กรชุมชน ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้การเมืองภาคพลเมือง เน้นให้ท้องถิ่นจัดการแก้ไขปัญหาตนเอง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของ “ประชาธิปไตยชุมชน” ซึ่งมีแนวคิดคือ “การวางตัวแก้ปัญหาให้ใกล้กับปัญหา” วิธีแก้ปัญหาที่ดีคือชุมชนท้องถิ่น ท้องที่ ซึ่งมีความเข้าใจปัญหาตนเองที่สุด ปัญหาต่างๆสามารถแก้ไขจากคนในชุมชนท้องถิ่นและท้องที่
นายสุรพร ชัยชาญ ประธานจัดงานสมัชชาประชาธิปไตยชุมชน กล่าวว่าสมัชชาครั้งนี้จะเสนอทุกข์คนอีสานให้รัฐบาลแก้ปัญหา เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่จัดทำร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมกำหนดตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด จนถึงภูมิภาคกลั่นกรองเหลือ 14 ประเด็นสาธารณะเป็น “นโยบายพัฒนาภาคอีสานฉบับประชาชน 2554”
นายแฉล้ม ทรัพย์มูล ประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนในระดับชาติ กล่าวว่าประชาธิปไตยจากฐานรากต้องเกิดจากองค์กรชุมชนที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมกำหนดการพัฒนาท้องถิ่นตนเอง เป็นการพัฒนาจากล่างขึ้นบน สะท้อนความคิดเห็น กำหนดทิศทางการพัฒนาทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล จนถึงระดับชาติ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนชาวบ้านต้องการอะไรก็ต้องใช้ชุมนุมเรียกร้องเดินขบวน แต่วันนี้เป็นกระบวนการเมืองภาคพลเมืองที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจร่วมแก้ปัญหา เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ประเทศชาติก็จะเจริญ
นายสน รูปสูง รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า สพม. ร่วมกับสภาองค์กรชุมชน ทำโครงการประชาธิปไตยชุมชนทั่วประเทศ นำร่องจังหวัดละ 11 ตำบล สำหรับภาคอีสานมีทั้ง 20 จังหวัดที่มีสภาองค์กรชุมชน จนขยายผลไปทั้ง 863 สภาองค์กรชุมชนตำบล ทั้งนี้บทเรียน 79 ปีประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์อำนาจทำให้สังคมไทยล้มเหลว ชนบทอ่อนแอแตกแยก แต่การมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายของชาวบ้านที่กำลังทำอยู่ และเป็นกระบวนการที่นับวันจะยิ่งขยายตัว ถือเป็นประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยที่กินได้ นี่คือทางออกของประเทศชาติ และหากมีการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาทั้งหมด ก็จะไปแก้ปัญหาได้ทั้งหมด
ด้านนางปฤษณา คำแผ่น ตัวแทนที่ประชุมสมัชชาสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคอีสาน ได้มอบข้อเสนอต่อนายแพทย์เหวง โตจิราการ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เพื่อส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวว่าที่ประชุมมีฉันทามิติแก้ไขปัญหาสาธารณะใน14 ประเด็น 1)เกษตรพันธสัญญา 2)การจัดทำเหมืองและแร่ 3)หนี้สินเกษตรกร 4)การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 5)ป่าไม้และทรัพยากร 6)การจัดการที่ดินทำกิน 7)การจัดการลุ่มน้ำโขง 8)พลังงานนิวเคลียร์ 9)การจัดสวัสดิการ 10)การพัฒนาองค์กรประชาชนด้วยสภาองค์กรชุมชน 11)ราคาผลผลิตทางการเกษตร 12)การสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น 13)การกำจัดคอร์รัปชั่น 14)การศึกษา
และเสนอนโยบายเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ 4 ประเด็น 1)แก้ปัญหาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง 2)แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเร่งผลักดัน พ.ร.บ.ปลูกป่าไม้ใช้หนี้ภายใน 1 ปี 3)กระจายการถือครองที่ดินทำกินให้เกษตรกรอย่างเท่าเทียม 4)ปรับปรุง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ให้องค์กรชุมชนมีสถานะเป็นหน่วยงานที่สามารถบริหารจัดการตนเอง
ทั้งนี้ภายหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล พ.ศ.2551 จนถึงปัจจุบัน มีสภาองค์กรชุมชนเกิดขึ้นประมาณ 2,850 ตำบลทั่วประเทศ ส่วนภาคอีสานมี 875 สภาองค์กรชุมชนตำบล และตั้งเป้าหมายให้ครอบคลุมทุกตำบลของภาคในปี 2555 .