อังคณา นีละไพจิตร แจงบทบาท กสม.ยังอิสระ หลังถูกถามในเวที UPR
นานาชาติห่วงสิทธิมนุยชนไทย ถามบทบาทเสรีภาพของ กสม. "อังคณา"แจง กรรมการสิทธิฯยังอิสระ แนะรัฐเคารพการทำงาน จี้ประเด็นอุ้มหาย ต้องรีบออกกฎหมายตามคำมั่น
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่แบล็กบอกซ์ คาเฟ่ องค์กรภาคประชาสังคมไทยและต่างประเทศร่วมกันจัดงานถ่ายทอดสดการรายงานกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชน Universal Periodic Review (UPR) ครั้งที่ 2 ของประเทศไทย เป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 105 ประเทศจากทั้งหมด 193 ประเทศ ได้ตั้งคำถามและมีข้อเสนอแนะต่อสถานการ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อาทิเช่น เสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม การซ้อมทรมาน การบังคับบุคคลสูญหาย เป็นต้น
โดยในเวทีมีหลายประเทศเช่น อินโดนีเซีย โปแลนด์ ตั้งคำถามถึงความอิสระในการทำงาน รวมถึงบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ของไทย
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยต้องไปนั่งในที่ประชุมที่เจนีวา และ กสม. ต้องมีถ้อยแถลงการต่อสถานการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แต่เนื่องจาก กสม.ไทยถูกลดสถานะจาก A เป็น B เลยทำให้กสม.ไม่สามารถมีถ้อยแถลงด้วยวาจาในเวที UPR ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม กสม.เป็นองค์กรอิสระ ทั้งตามรัฐธรรมนูญของไทยและหลักการสากล กสม.ไม่ได้มีภาระผูกพันที่ต้องปฎิบัติตามกฎหมายภายในประเทศอย่างเดียว แต่มีภาระหน้าที่ในการนำอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันทั้ง 7 ฉบับ มาเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศด้วย
"ต้องขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุนในเรื่องของงบประมาณ ซึ่งกสม.ไทยยังได้รับงบประมาณจากรัฐ แต่ตัวกรรมการสิทธิฯ ไม่ใช่ราชการ ดังนั้นกรรมการสิทธิฯ จึงต้องทำงานอย่างอิสระ" นางอังคณา กล่าว และว่า ส่วนเรื่องการปฏิรูปกสม. เห็นว่า กสม.ภาครัฐต้องสนับสนุน ไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่ต้องสนับสนุนให้ กสม.สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ เคารพการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยในไทย
นอกจากนี้ประเด็นที่ถูกประชาคมโลกตั้งคำถามอย่างมาก อย่างสถานการณ์การบังคับบุคคลสูญหายในประเทศ นางอังคนา กล่าวว่า เรื่องบังคับสูญหายเป็นประเด็นสำคัญ ในสถานการณ์ตอนนี้ประเทศไทยมีการอุ้มหายมากขึ้น ในช่วงตุลาคม 2554 ในการทบทวน UPR ครั้งแรก ไทยได้ตอบรับข้อแนะนำ และได้ลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับสูญหาย ในเดือนมกราคม 2555 จากนั้นไทยมีความพยายามในการร่างกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับบุคคลสูญหายและการซ้อมทรมาน แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายดังกล่าวก็ยังคงมีความล่าช้า ทั้งๆ ที่มีการยื่นให้ครม.ตั้งแต่เดือนเมษายน2558 จนปัจจุบัน กฎหมายดังกล่าว ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.
"ก็สงสัยว่าทำไมกฎหมายดีๆ แบบนี้ถึงยังไม่ผ่านการพิจารณาเสียที ต้องฝากรัฐบาลในการตอบข้อสงสัยนี้ เพราะว่ากฎหมายหมายฉบับนี้ กฎหมายที่จะคุ้มครองประชาชน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดัน ให้ออกมาโดยเร็ว โดยต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพราะว่าวันนี้ใครก็เสี่ยงถูกอุ้มหายได้ การอุ้มหายไม่ใช่เรื่องของการอุ้มฆ่าอย่างเดียว แต่หมายถึงการคุมตัวในสถานที่ลับ ประเทศให้คำมั่นที่จะสามารถนำกลับมาใช้ได้จริง"