ชง 'บิ๊กตู่' รื้อฟื้นคดีคลองด่านใหม่ ใช้คำพิพากษาคดีอาญา-แนวฎีกาค่าโง่ทางด่วนสู้!
'วิษณุ' จับมือ สตง. ชง พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการก.คลัง ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุด รื้อฟื้นคดีคลองด่านใหม่ ใช้แนวคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริต-ค่าโง่ทางด่วนสู้ เตรียมชงครม.สัปดาห์หน้า ระงับจ่ายเงินชดใช้กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2559 ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านฝ่ายกฎหมาย กับนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีการหารือกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งชี้ขาดตามคณะอนุญาโตตุลาการให้รัฐบาลชดใช้เงินค่าเสียหายคดีกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ในฐานะคู่สัญญา ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้อง เป็นเงิน 4,983,342,383 บาท ให้แก่ผู้เรียกร้อง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 4,424,099,982 บาท และของเงิน 26,434,636 เหรียญสหรัฐฯ นับแต่วันที่ 28 ก.พ. 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และคืนหนังสือค้ำประกันพร้อมค่าธรรมเนียมและจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้เรียกร้อง เป็นเงิน 6 ล้านบาท จนกว่าจะคืนหนังสือค้ำประกันให้ผู้เรียกร้อง ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลชำระไปแล้วจำนวน 2 งวด
โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า จะยื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุดให้รื้อฟื้นการพิจารณาคดีขึ้นมาใหม่ โดยให้ใช้คำพิพากษาศาลอาญา ที่ให้จำคุก อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และพวกรวมถึงบริษัทเอกชน โดยคำพิพากษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ามีการร่วมมือกันทุจริตระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มกิจการร่วมค่า ทำให้เห็นว่า เป็นสัญญามิชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยออกมา ศาลอาญายังไม่ได้คำพิพากษาคดีดังกล่าวออกมา
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่า จะให้แนวคำพิพากษาศาลฎีกา คดีค่าโง่ทางด่วนบางนา-บางปะกง 6,000 ล้านบาท ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นสัญญาไม่ชอบกฎหมายเพราะมีการทุจริตตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ชี้มูล ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินชดใช้ให้กับบริษัทเอกชน มาเป็นแนวทางในการต่อสู้คดีนี้ด้วย
"หลังจากนี้ สตง.จะทำหนังสือถึงนายกฯ โดยอ้างคำพิพากษาศาลอาญาว่า มีการทุจริต เพื่อสั่งให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้ฟื้นคดีขึ้นมาเป็นทางการอีกครั้ง"
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า ที่ประชุมยังได้มีข้อสรุปร่วมกัน ว่าจะมีการมาตรการไม่จ่ายเงินที่เหลือให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า โดยจะใช้ช่องทางตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งนายวิษณุ เป็นประธานคณะกรรมการ ปปง.ดำเนินการสั่งระงับการจ่ายเงินงวดที่เหลือให้แก่เอกชน
สำหรับฝ่ายเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างฯ ที่มีข้อพิพาทกับรัฐในคดีก่อสร้างบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ประกอบด้วย บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัทสี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, บริษัทประยูรวิศว์การช่าง จำกัด, บริษัทกรุงธนเอ็นยิเนียร์ จำกัด บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัทสมุทรปราการ ออฟเปอร์เรทติ้ง จำกัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2558 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษกได้อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน หมายเลขดำ 1682/57 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายปกิต กิระวานิช อายุ 79 ปี อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์พิบูรณ์ อายุ 64 ปี อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา อายุ 54 ปี ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ ขณะดำรงตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการคัดเลือก ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่มีหน้าที่จัดซื้อ ทำ จัดการรักษาทรัพย์ใดๆ, ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
คดีนี้ อัยการโจทก์ฟ้องระบุความผิดจำเลยเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2557 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 14 มิ.ย. 2538 - 28 ก.พ. 2546 นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ได้รวบรวมเข้าชื่อซื้อที่ดินจากประชาชนย่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ในนามบริษัท เหมืองแร่ลานทอง จำกัด แล้วขายให้กับบริษัทปาล์มบีช ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน จากนั้นจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ได้ร่วมกันเอื้อประโยชน์ให้ใช้ที่ดินของบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ฟิชเชอรี่ จำกัด บริษัทในเครือการก่อสร้างโครงการ และเอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG JOINT VENTURE) ให้ได้รับการคัดเลือกเข้าทำสัญญาโครงการกับกรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งให้ผ่าคุณสมบัติในการประกวดราคา และเพิ่มวงเงินงบประมาณก่อสร้างโครงการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดิน ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย มูลค่า 22,949,984,020 บาท เหตุเกิดที่ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. และ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เกี่ยวพันกัน จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยด้วย พวกจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสาม ซึ่งมีหน้าทีดำเนินการ และรับผิดชอบโครงการดังกล่าว กลับไม่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ยินยอมให้บริษัท ปาล์มบีชฯ ที่บริษัท คลองด่าน มารีนฯ ถูกเชิดให้ถือกรรมสิทธิ์แทน ซึ่งไม่มีคุณสมบัติในการยื่นซองประกวดราคาได้ยื่นข้อเสนอตั้งโรงบำบัดน้ำเสีย ทั้งยังปกปิดรูปแบบการการประกวดราคา การจัดซื้อที่ดิน ทำให้รัฐเสียเปรียบ มิได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีที่ประกวดราคาแบบเหมารวม โดยไม่ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2534
การกระทำของจำเลยทั้งสามเลือกดำเนินการเกี่ยวกับโครงการไปในทางที่ขัดต่อระเบียบราชการ พฤติการณ์ส่อแสดงให้เห็นถึงการวางแผนและดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์นับแต่ให้ที่ดินของบริษัท คลองด่านฯ ได้รับคัดเลือกนำมาใช้ในโครงการ ร่วมกันปกปิด และบิดเบือนสร้างราคาที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีผลเกี่ยวเนื่องให้กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG JOINT VENTURE) เข้ามาเป็นคู่สัญญาก่อสร้างโครงการกับกรมควบคุมมลพิษ แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า กลุ่มเอกชนร่วมกันบิดเบือน และปกปิดข้อเท็จจริงการเสนอแต่ละขั้นตอนโดยทุจริต แล้วเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีจำเลยทั้งสามรวมอยู่ด้วย กับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบเข้าร่วมมือกัน เป็นการกระทำโดยทุจริต และเอื้อประโยชน์ช่วยเหลือกัน ทำให้โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ กับกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี เป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสาม ทำให้ราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมลกฎหมายอาญามาตรา 151 อันเป็นบทหนักสุด จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 20 ปี
ขณะที่ ล่าสุด พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ระบุว่า คณะกรรมการมีมติให้อายัด เพื่อระงับไม่ให้รัฐจ่ายเงินชดใช้ตามสิทธิเรียกร้องหนี้ ในคดีบ่อบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ที่มี นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย พร้อมพวกรวม 4 คน เป็นจำเลย ซึ่งหลังจากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ จ่ายเงินชดใช้ค่าผิดสัญญาให้กับกลุ่มร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี กับพวก รวม 3 งวด
ทั้งนี้ รัฐได้มีการจ่ายเงินงวดแรก จำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท และกว่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 แล้วซึ่ง ปปง. ตรวจสอบตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และ สตง. มีหนังสือร้องขอ พบว่า รัฐไม่ได้ผิดสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า แต่เป็นการกระทำความผิดของขบวนการ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จึงเห็นควรให้อายัด เพื่อระงับไม่ให้รัฐจ่ายเงินชดใช้ อีก 2 งวด ในวันที่ 21 พฤษภาคม และวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้