งานปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วปท. 818ล. พิรุธแรง! ผู้รับเหมารายเดียวคว้า20สัญญา
วิจารณ์ขรม! งานปรับปรุงแหล่งน้ำ1,689แห่ง วงเงิน 818 ล. กรมทรัพยากรน้ำ ส่อพิรุธเร่งรีบดำเนินการผิดปกติ นัดทำสัญญาวันเดียว 100 งาน เผยจัดตัวผู้รับเหมารายรับงานโดยเฉพาะ โคราชได้งานรายเดียวกว่า 10 ล.- สตง.สั่งปูพรมสอบทั่วปท.แล้ว
โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ ปี 2559 จำนวน 1,689 แห่ง รวมวงเงินกว่า 818 ล้านบาท ซึ่งมีการกระจายงานออกไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ กำลังถูกจับตามอง หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การดำเนินงานโครงการลักษณะเร่งรีบมากเกินไป ขณะที่รายชื่อผู้รับเหมาที่เข้ามารับงานในแต่ละจังหวัดก็มีไม่กี่ราย บางรายได้รับงานไปมากถึงกว่า 10 สัญญา
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ขณะที่ การดำเนินงานโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ ปี 2559 ทั่วประเทศ จำนวน 1,689 แห่ง รวมวงเงินกว่า 818 ล้านบาท ของกรมทรัพยากรน้ำ กำลังถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบ ภายหลังถูกร้องเรียนว่า การดำเนินงานโครงการฯ นี้ มีความเร่งรีบมากเกินไป โดยมีการจัดทำแผนโครงการภายใน 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.2559) และทำในพื้นที่แหล่งน้ำเดิม เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง สระ ทั้งที่ในช่วงเวลานี้แต่ละพื้นที่กำลังประสบภัยแล้ง ซึ่งอาจจะมีผลกระทบกับปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ ในแหล่งน้ำสำรองสุดท้ายของชุนชน และทำโครงการครั้งละจำนวนมาก โดยให้ อปท.ส่งหนังสื่อมาขอรับการสนับสนุน
นอกจากนี้ โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำจำนวน 1,689 แห่ง ยังถูกระบุว่า มีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 818,230,000 บาท เป็นการเฉลี่ยงบประมาณในโครงการไม่เกิน 5 แสนบาท ต่อโครงการ ซึ่งอยู่ในกรอบวงเงินที่จะจัดหาผู้รับจ้างโดยวิธีตกลงราคาได้ และส่วนใหญ่มีการทำสัญญากันภายในวันที่ 31 มี.ค.2559 แต่ไม่มีการเปิดกว้างให้แก่ผู้รับเหมาเข้าเสนองาน
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ในพื้นที่งาน สทภ.1 -11 ถูกตรวจสอบพบว่ามีการจัดกลุ่มเฉพาะผู้รับเหมาบางกลุ่ม ขณะที่การจัดจ้างบางจังหวัดได้จ้างดำเนินการปรับปรุงแหล่งน้ำประมาณ 30 กว่าแหล่งน้ำ ใช้วิธีการตกลงราคาแยกแต่ละแหล่งน้ำ ทำให้ไม่มีการแข่งขันราคา และได้ตกลงราคาเลือกผู้รับจ้างเพียง 1 -2 ราย ของสัญญาทั้งหมดในจังหวัด ทำให้ผู้รับจ้างได้งานเฉลี่ย 1 รายต่อ 15 สัญญา คิดเป็นเงินงบประมาณ 7,500,000 บาท ต่อผู้รับจ้าง 1 ราย เช่นในพื้นที่ สทภ. 5 นครราชสีมา พบว่ามีการจัดทำสัญญาเฉพาะในวันที่ 30 มี.ค.2559 เป็นจำนวน ถึง 106 สัญญา และมีผู้รับจ้างบางรายได้รับงานในคราวเดียวกัน ถึง 20 สัญญา คิดเป็นวงเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าสัญญาดังกล่าวหากดำเนินการในสัญญาเดียวจะต้องใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
"การแบ่งงานปรับปรุงแหล่งน้ำภายในจังหวัดออกเป็นหลายงานลักษณะนี้ จึงออกเป็นการดำเนินการโดยหลักเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม รวมทั้งอาจเข้าข่ายการแบ่งซื้อแบ่งจ้างเพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดน โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ล่าสุด ทราบว่า สตง. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบการดำเนินงานโครงการนี้ทั้งประเทศแล้ว" แหล่งข่าวระบุ