คดีอุ้มหายต้องใช้มาตรการพิเศษจัดการ อดีตกสม.ชี้รัฐไทยไม่เคยแก้ปัญหาที่ราก
อดีตกสม. ชี้ เพราะรัฐละเลย ในการจัดการปัญหา การอุ้มหายจึงยังเกิด ด้านไพโรจน์ เผยคดีอุ้มหายต้องใช้กฎหมายพิเศษจัดการ ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนกฎหมายไม่บรรลุผล
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ใน เวทีวิชาการเนื่องในวาระครบรอบ 2 การหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ หัวข้อ 2 ปีบิลลี่: อุ้มหายคน อุ้มหายความยุติธรรม อุ้มหายสิทธิเสรีภาพ ที่ ห้องประชุมจั๊คส์ อัมโยต์ ชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางสุนีย์ ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีทั้งบิลลี่และพ่อเด่น ทั้งสองกรณี เป็นความขัดเเย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมายาวนาน และควรเป็นกระบวนการที่รัฐได้เข้าไปแก้ปัญหา หากรัฐเข้าไปแก้ปัญหาเร็ว เราจะไม่พบว่า เกิดคาวมรุนแรง ความสูญเสีย กรณีของบิลลี่ชัดเจนว่า เป็นการสู้เพื่อสิทธิของชุมชน ของชาวกะเหรี่ยงในเขตอุทยาน เขามีความชอบธรรมในฐานะที่อยู่มานาน เมื่อลุกขึ้นมาเพื่อที่จะทวงสิทธิว่าไม่สามารถจัดการกับพวกเขาได้ตามใจชอบ เราจะต้องหาทางให้เขากลับไปสู่วิถีชีวิตเดิม
ส่วนการต่อสู้ของบิลลี่ก็โดดเด่น ชัดเจน สังคมรู้หมด แล้วรัฐไทยก็รู้ว่า นี่คือกรณีที่ต้องการการแก้ไขปัญหา แต่ก็นานหลายปี กว่าจะถึงวันที่สูญหาย เมื่อเปรียบเทียบมายังกรณีของคุณเด่น คือเป็นเรื่องที่อุทยานตรงนั้นให้ชาวบ้านอพยพ แต่ไม่ได้หาที่ทำกินให้ ชาวบ้านก็ตัดสินใจกลับเข้าไป หากินในพื้นที่เดิม เพื่อเอาตัวรอดให้ได้
กรณีของคุณเด่น เข้าสู่การแก้ไขปัญหายาวนาน คือการเรียกร้องโฉนดชุมชน เป็นประเด็นที่รัฐทราบมาตลอดว่า นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมายาวนานและควรแก้ไข
อดีต กสม. กล่าวว่า ปัญหาการอุ้มหายป้องกันได้ หากรัฐสามารถที่จะเข้ามาเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น เวลาพูดถึงความยุติธรรมมักจะพูดกันไปถึงเรื่อง ตำรวจ อัยการ ศาล แต่แท้จริงด่านแรกที่ต้องทำคือหน่วยงานราชการ กับกฎหมายที่ดำเนินการบังคับใช้ ส่วนเรื่องของศาลเป็นเรื่องของอีกขั้นตอนหนึ่ง ยกตัวอย่างกรณีของทั้งสอง ก็มาจากการนโยบายของรัฐที่ไม่เดินต่อเรื่องโฉนด ชุมชน แต่กลับนำนโยบายทวงคืนผืนป่ามาซ้ำ ซึ่งแน่นอนทำให้การต่อสู้ของชุมชนนั้น ยิ่งมีต้องลุกขึ้นมาพิทักษ์สิทธิของตนเอง
"เมื่อปัญหาเก่ายังไม่แก้ กลับเสริมนโยบายขัดแย้งเข้าไป คดีอุ้มหายโดยทั่วไปมักจะเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับต่างๆ ไม่ใช่คดีอิทธิพลธรรมดา หรือถ้าเป็นคดีอิทธิพลเราอาจจะต้องบอกว่าบางเรื่องเป็นเรื่องของคนที่มีนโยบายเกี่ยวข้องกับรัฐ หรือมีโครงการอะไร เมื่อรัฐลอยตัวไม่เร่งแก้ปัญหา มันก็เสริมอำนาจให้กับกลุ่มอิทธิพลที่ขัดแย้งอยู่กับนักต่อสู้ ชาวบ้าน ทำให้เขาต้องเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว คงน่าตกใจมากว่า บิลลี่อยู่ในสถานการณ์ถูกคุกคามมาโดยตลอด คุณเด่นก็เช่นกัน"นางสุนีย์ กล่าว และว่า าดูเหมือนยังมีความหวัง แต่บทบาทของรัฐจะพบว่าล่าช้ามาก ถ้าหากว่ากระบวนการแก้ไขปัญหา ยังดำรงแบบนี้ ก็จะมีกระบวนการแบบนี้เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย
ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวถึงการอุ้มหายมีมานานแล้วตั้งแต่อดีต และดำรงอยู่มาตลอด กฎหมายที่เรามีในปัจจุบันไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ที่จะเอาผิดการอุ้มหายได้ เมื่อการอุ้มหายเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจ หรือเจ้าหน้าที่สนับสนุนให้เขาทำ ดังนั้นหากเราใช้มาตรการปกติ ไม่มีทางเอาผิดได้ เพราะคนที่ทำผิดคือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีอำนาจมีเครื่องมือ ขณะที่คนที่ถูกกระทำเป็นบุคคลธรรมดา อำนาจความเท่าเทียมเลยไม่เกิด จึงเป็นเหตุจำเป็นที่ต้องมีมาตรการพิเศษ
นายไพโรจน์ กล่าวว่า หลังจากเราไปเซ็นอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับการสูญหาย เราต้องมาแก้กฎหมายภายในประเทศให้ได้ เพราะว่ากฎหมายของไทยไม่มีข้อหาความผิดเกี่ยวกับการอุ้มหาย เมื่อไม่มีข้อหานี้ การตั้งข้อหาจึงต้องไปตั้งข้อหาอื่น เช่นหน่วงเหนี่ยวกักขังให้สูญเสียอิสรภาพ อย่างคดีทนายสมชาย ซึ่งโทษต่ำมาก ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องมาแก้กฎหมายภายในของเรา ซึ่งอนุสัญญาก็พูดไว้ชัดเจน ในปัจจุบันมีความพยายามเคลื่อนไหวในการขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ แต่ไม่เคยบรรลุผล
“ ทำไมถึงต้องมีกฎหมายเหล่านี้ เพราะว่าถ้ายังเอาผิดคนที่ทำผิดไม่ได้ คนก็จะทำผิดเรื่อยไป แถมได้รางวัล ประเทศไทยร้ายมาก คือว่า คุณฆ่าคน คุณได้รางวัลได้อย่างไร กรณีอย่างที่ตากใบ ซ้อมทรมานแต่กลับได้รางวัล นี่คือสังคมไทย ดังนั้นผมคิดว่า แนวทางสำคัญเราต้องมีกฎหมายพิเศษ อย่างน้อยจะได้ไม่เกิดปัญหา ซำ้แล้วซ้ำอีก เกี่ยวกับการอุ้มหายของคนที่ลุกขึ้นมาคัดค้าน หรือมีความเห็นต่างกับรัฐ” นายไพโรจน์ กล่าว.