"เราไม่ได้เตรียมรับผลที่จะออกมาแบบนี้" เปิดใจผู้บริหารเหมืองทองชาตรี
บมจ.อัครา ออกแถลงการณ์ หลังถูกให้หยุดดำเนินกิจการเหมืองภายในสิ้นปี 2559 ยันสร้างความประหลาดใจเป็นอย่างมาก และที่ผ่านมาก็ไม่ได้รับเอกสารแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรใดๆ จากทางภาครัฐ เล็งหาช่องทางกฎหมายฟ้องต่อไป
ในขณะที่นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นั่งแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงผลการคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองทองคำชาตรี เตรียมการเลิกประกอบกิจการ โดยจะต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้
พร้อมทั้งให้บมจ.อัครา เร่งดำเนินการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต
อีกฟาก คนที่นั่งลุ้นอย่างใจจดใจจ่อ "เชิดศักดิ์ อรรถอารุณ" ผู้จัดการฝ่ายประสานงานกิจการภายนอก บมจ.อัครา นัดสื่อมวลชน พร้อมเปิดใจให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินธุรกิจเหมืองที่ผ่านมา ตอบทุกคำถามอนาคตหากได้ต่อ หรือไม่ได้ต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรม จะทำอย่างไรกับพนักงานเกือบ 1 พันคน และบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่อีกกว่า 300 บริษัท
"บริษัทแม่ก็กำลังสวดมนต์" เขาตอบคำถามสื่ออย่างติดตลกก่อนหน้า เพียงไม่กี่ชั่วโมงขณะรอฟังผลการประชุมครม. ออกมา แต่ทันทีที่มติ 4 กระทรวงออกมาว่า เหมืองทองคำชาตรี จะเหลือเวลาทำเหมืองทองอีกแค่ 7 เดือน
หรือสิ้นปีนี้รัฐบาลชุดนี้จะไม่มีการอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดพิจิตรอีกแล้ว
ผู้บริหารอัครา นิ่งไปครู่ใหญ่ ก่อนรับโทรศัพท์ให้สัมภาษณ์สื่ออีกหลายสาย เขารู้สึกตกใจกับผลที่ออกมา ทั้งๆที่การทำเหมืองทองคำแห่งนี้ได้ลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท อีกทั้งวาดแผนลงทุนเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาทในอนาคต
"เราไม่ได้เตรียมรับผลที่จะออกมาแบบนี้ แย่กว่าที่เราคาดหมายเอาไว้ ยอมรับบริษัทคงลำบากกับการที่รัฐบาลให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 ที่เหลือจะทำอย่างไร จากระยะเวลา 7 ปี เหลือเพียงแค่ 7 เดือน และเท่ากับเราต้องปิดโรงงานภายใน 7 เดือน"
"เชิดศักดิ์" กล่าวว่า ผลของครม.ที่ออกมา เสียดายโอกาส พร้อมกับตั้งคำถามว่า หมายความว่า ต่อไปนี้ประเทศไทยจะไม่มีเหมืองทองคำอีกเลยใช่หรือไม่ ภาครัฐไม่สนับสนุนการสำรวจอีกเลยใช่หรือไม่ และเราจะมีธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมอะไรบ้างที่รัฐให้ความคุ้มครองและให้การสนับสนุน
"เมื่อภาครัฐไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมเหมืองทอง แล้วแร่ประเภทอื่นๆ ทางภาครัฐจะมีแนวนโยบายอย่างไร"คำถามที่ผู้บริหารบมจ.อัครา ถามออกไป แม้วันนี้ยังไม่มีคำตอบก็ตาม
วันเดียวกัน บมจ.อัครา ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าวว่า การให้หยุดดำเนินกิจการเหมืองภายในสิ้นปี 2559 สร้างความประหลาดใจให้กับบริษัทฯ เป็นอย่างมากเนื่องจากบริษัทฯ ยังคงมีประทานบัตรที่ได้รับอนุญาตอยู่จนถึงปี 2571 ซึ่งบริษัทฯ ได้วางแผนการทำเหมืองไว้แล้วจนถึงเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่บริษัทฯ เริ่มดำเนินกิจการ บริษัทฯ ได้พิสูจน์ให้เห็นมาตลอดว่ากิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรีแต่อย่างใด นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีส่วนช่วยสร้างให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยทั้งในระดับท้องถิ่นและต่อประเทศไทยโดยรวม
ขณะนี้ บริษัทฯ ยังไม่ได้รับเอกสารแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรใดๆ จากทางภาครัฐ ซึ่งอย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จะได้ทำการหารือกับที่ปรึกษาด้านกฏหมายเพื่อพิจารณาช่องทางการดำเนินการต่างๆ ตามกฏหมายที่เราสามารถทำได้ต่อไป