ผลศึกษาปี 58 พบเด็กเล่นพนันตั้งแต่ 7 ขวบ 'สลากกินเเบ่งฯ' ได้รับความนิยมสุด
เปิดผลศึกษาพนัน ปี 58 พบกลุ่มตัวอย่างเล่นพนันอายุน้อยสุดแค่ 7 ปี อันดับ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาล ภาคอีสานครองแชมป์ ‘รศ.ดร.นวลน้อย’ ชม รบ.คุมราคาคู่ละ 80 บ. สำเร็จ หวังอนาคตสร้างระบบจัดการยั่งยืน จดทะเบียนผู้ค้า หาเจ้าภาพที่เป็นอิสระแก้ปัญหาผลกระทบ ห่วงร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ มีช่องโหว่
วันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการ เรื่อง การพนันในยุคเปลี่ยนผ่าน ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการศึกษาสถานการณ์พฤติกรรมและผลกระทบการพนันในประเทศไทย ปี 2558 โดยสำรวจประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป สุ่มตัวอย่าง 26 จังหวัด จำนวน 7,018 ตัวอย่าง
พบว่า กลุ่มตัวอย่างอายุน้อยที่สุดเริ่มเล่นการพนันเพียง 7 ปี ขณะที่กว่าร้อยละ 60 เริ่มเล่นการพนันอายุไม่เกิน 20 ปี และประเภทการพนันที่เล่นเป็นครั้งแรกและมากที่สุด คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล ตามมาด้วย หวยใต้ดิน ไพ่ พนันฟุตบอล
ทั้งนี้ ภาพรวมการเล่นพนันในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา จำแนกตามภาค ปรากฎว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มากที่สุด รองลงมา คือ ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคใต้
โดยประเภทการพนันที่เล่นการพนัน อันดับ 1 คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา หวยใต้ดิน และพนันทายผลฟุตบอล ซึ่งกลุ่มผู้เล่นการพนันให้เหตุผลว่า เป็นการเสี่ยงโชค ร้อยละ 89.7 เพื่อความตื่นเต้นเพลิดเพลิน ร้อยละ 30.5 และชอบเป็นการส่วนตัว ร้อยละ 12.5
ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การเล่นพนันในรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล พบเกินกว่าครึ่ง คือ ร้อยละ 51.4 ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลนานเกิน 10 ปี เฉลี่ยที่ 15 ปี
ส่วนการพนันทายผลฟุตบอล เกินกว่าครึ่ง คือ ร้อยละ 53.8 เล่นการพนันฟุตบอลไม่เกิน 5 ปี และร้อยละ 30.1 เล่นมานาน 6-10 ปี เฉลี่ยที่ 7 ปี
โดยประสบการณ์ลักษณะต่าง ๆ จากการเล่นการพนัน ระบุเคยรู้สึกผิด ละอายใจ และเมื่อชนะการพนัน เคยมีความต้องการอย่างมากที่จะเล่นอีก เพื่อให้ได้เงินเพิ่ม และหลังจากการเสียการพนัน รู้สึกจะต้องรีบกลับมาแก้มือ เพื่อเอาเงินที่เสียไปคืนมา
ขณะที่ทัศนคติต่อการพนันในด้านต่าง ๆ พบการพนันออนไลน์เป็นช่องทางที่ทำให้สามารถเข้าถึงพนันได้ง่ายร้อยละ 61.8 และคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ 65.4 หากไทยจะเปิดบ่อนคาสิโนอย่างถูกกฎหมาย
ร้อยละ 68 ไม่เห็นด้วยที่ไทยจะเปิดพนันทายผลฟุตบอลอย่างถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยุคเปลี่ยนผ่านควรควบคุมสถานการณ์การเล่นพนันในทุกรูปแบบ ที่สำคัญต้องตระหนักถึงหลักการที่ควรมีในกฎหมาย การบริหารกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม ควรเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ตรวจสอบได้ และสนับสนุนกลไกเยียวยาให้เป็นรูปธรรมชัดเจน
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวเพิ่มเติมถึงนโยบายเกี่ยวกับสลากกินแบ่งรัฐบาลว่า ปัจจุบันรัฐบาลพยายามเอาจริงเอาจัง เพราะเป็นการพนันถูกกฎหมาย เพราะฉะนั้นช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลบริหารจัดการสำเร็จ คือ ทำให้ราคาจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลลดลงเหลือคู่ละ 80 บาท ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงร้อยละ 96 แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้น กลับมีความรู้สึกว่า รัฐบาลต้องคิดต่อไป จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน
“รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังกับผู้ค้าปลีกรายย่อย และจำเป็นต้องมีผู้ค้าส่งหรือไม่ ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดการฮั้วในตลาดสลากกินแบ่งรัฐบาล สิ่งเหล่านี้เป็นการบ้านของรัฐบาล” ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าว และว่า มีกระแสข่าวรัฐบาลจะดำเนินการจดทะเบียนผู้ค้า ซึ่งควรดำเนินการมานานแล้ว เพราะทุกประเทศที่มีการพนันถูกกฎหมาย จะมีการจดทะเบียนผู้ค้าทั้งหมด ไม่ว่าจะแค่ 1 หรือ 2 ราย
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวอีกว่า การปฏิรูปประเทศครั้งนี้ รัฐบาลเห็นด้วยว่า แม้สลากกินแบ่งรัฐบาลจะมีผลกระทบมากหรือน้อย แต่เมื่อเป็นการเล่นพนันก็ย่อมมีผลกระทบ ฉะนั้นรัฐบาลตัดเงินรายได้นำส่งรัฐบาล ร้อยละ 3 จัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อลดผลกระทบ เพื่อศึกษาวิจัย ติดตาม สถานการณ์ความรุนแรง รณรงค์สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างความเข้าใจให้ประชาชนลดการเล่นพนันด้วยตนเอง และบำบัดรักษา อย่างไรก็ตาม จะเป็นรูปธรรมได้ จะต้องมีเจ้าภาพ
หากปล่อยให้การจัดการเรื่องเงินเป็นของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จะไม่มีเจ้าภาพต่อไป เพราะสำนักงานสลากฯ เป็นผู้ประกอบการการพนัน ดังนั้นควรให้มีเจ้าภาพอื่นเข้ามาดำเนินการเรื่องจัดการผลกระทบ จึงควรจัดตั้งคณะกรรมการอิสระ โดยมีสัดส่วนกรรมการมาจากสำนักงานสลากฯ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และภาคประชาชน เข้าร่วมด้วย
ส่วนอนาคตจะมีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ... ฉบับใหม่ ผอ.ศูนย์ศึกษาการพนัน ระบุถึงข้อกังวลว่า มีการให้อำนาจสำนักงานสลากฯ ในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แม้ไม่ได้เป็นอำนาจเด็ดขาด แต่เป็นอำนาจที่ออกได้ และเสนอเรื่องไปยังรัฐบาล ซึ่งเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน เพราะคณะรัฐมนตรีก็จะไม่ทราบรายละเอียด ฉะนั้นทำอย่างไรให้มีคณะกรรมการกลางดูแลเรื่องดังกล่าวเหมือนในต่างประเทศที่มีอยู่ เรียกว่า คณะกรรมการกำกับดูแล ก่อนจะเสนอไปยัง ครม. ให้เกิดการกลั่นกรองเพิ่มมากขึ้น .