กยท.ถังแตก! ขอกู้กองทุนยาง-กฤษฎีกายันให้เฉพาะเกษตรกร-ยืมไม่ได้
การยางแห่งประเทศไทยถังแตก! ขอกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนายางฯ แต่กฤษฎีกาตีความยันยืมไม่ได้ เหตุข้อบังคับระบุชัด ให้จัดสรรเฉพาะเกษตรกร-ผู้ประกอบการ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า สำนักงานกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมาย กรณีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีหนังสือหารือ ขอกู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา ภายหลังได้รับโอนเงินมาจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางพารา จำนวน 26,613 ล้านบาท มีหนี้ภาระผูกพันการสงเคราะห์ 2.3 หมื่นล้านบาท เหลือส่วนปลอดภาระผูกพัน 3,613 ล้านบาท แต่เงินปลอดภาะผูกพันบางส่วนนำมาจัดสรรเพิ่มเติมเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนที่ขาดไปตาม พ.ร.บ.การยางฯ ดังนั้น กยท. จึงขอกู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนายางพาราฯ
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) พิจารณาแล้วเห็นทำนองว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกองทุนดังกล่าวตาม พ.ร.บ.การยางพาราแห่งประเทศไทย สามารถให้กู้ยืมเงินได้เฉพาะเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางเท่านั้น
สำหรับข้อหารือดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปความไว้ ดังนี้
ภายหลังมีข้อบังคับคณะกรรมการการยางพาราแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการบริหารและจัดสรรเงินกองทุนพัฒนายางพารา พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. 2559 ทำให้ กยท. จะต้องนำเงินซึ่งได้รับโอนมาจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มียอดคงเหลือ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2558 จำนวน 26,613 ล้านบาท โดยจำนวนนี้มีหนี้ภาระผูกพันการสงเคราะห์เจ้าของสวนยางอยู่จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท เหลือส่วนที่ปลอดภาระผูกพันจำนวน 3,613 ล้านบาท
ทั้งนี้ กยท. จะต้องนำหนี้ภาระผูกพันการสงเคราะห์เจ้าของสวนยางดังกล่าวมาจัดสรรเป็นเงินกองทุนพัฒนายางพาราตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การยางฯ หรือจัดเป็นการรายการหนี้สินตาม พ.ร.บ.การยางฯ เต็มจำนวน โดย กยท. ได้นำเงินปลอดภาระผูกพันจำนวน 3,613 ล้านบาท บางส่วนไปใช้จ่ายในการให้การสงเคราะห์เกษตรกรและค่าใช้จ่ายในการบริหารสงเคราะห์ตาม พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ.2503 ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.การยางฯ ในกรณีนี้ กยท. จะสามารถคงเงินปลอดภาระผูกพันส่วนที่เหลือไว้ โดยจะนำมาจัดสรรเพิ่มเติมเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนที่ขาดตาม พ.ร.บ.การยางฯ เมื่อมีความจำเป็น หรือ กยท. จะต้องนำมาจัดสรรตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.การยางฯ ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารการเงิน กรณีเงินทุน กยท. ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การยางฯไม่เพียงพอ จะสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนายางพาราได้หรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีผู้แทนการยางแห่งประเทศไทย เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็น 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า มาตรา 44 (1) ประกอบมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.การยางฯ กำหนดให้โอนบรรดากิจการ เงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ภาระผูกพัน และงบประมาณของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางฯ ไปเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนพัฒนายางพารา ดังนั้น จึงเป็นผลให้กองทุนพัฒนายางพารารับโอนเงินจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางฯ มาเป็นกองทุนพัฒนายางพาราได้ ยกเว้นส่วนที่จัดสรรเป็นทุนประเดิมของ กยท.
ดังนั้น หากกรณีที่คณะกรรมการการยางฯ พิจารณาแล้วสมควรจัดสรรเงินกองทุนยางพาราในส่วนที่รับโอนมาจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จำนวน 26,613 ล้านบาท โดยคงเงินจำนวน 2.3 หมื่นล้านบาทไว้เพื่อการจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับภาระผูกพันการสงเคราะห์เจ้าของสวนยางซึ่งรับโอนมาจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง โดยจัดสรรตามจำนวนที่เกิดขึ้นในแต่ละปีงบประมาณไปจนกว่าจะครบจำนวนภาระผูกพันการสงเคราะห์เจ้าของสวนยางดังกล่าว และคงเงินปลอดภาระผูกพันส่วนที่เหลือจำนวน 3,613 ล้านบาทไว้ โดยจะนำมาจัดสรรเพิ่มเติมเป็นค่าใช้จ่ายย่อมสามารถกระทำได้ตามที่คณะกรรมการการยางฯเห็นว่า มีความจำเป็นและสมควร
ประเด็นที่สอง กรณีที่รายได้ของ กยท. มีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายและภาระต่าง ๆ และ กยท. ไม่สามารถหาเงินจากทางอื่นได้ โดยบัญญัติให้รัฐต้องจ่ายเงินให้แก่ กทย. เท่าจำนวนที่ขาด จึงเป็นกรณีที่กฎหมายได้บัญญัติถึงวิธีการในการดำเนินการกรณีดังกล่าวไว้แล้ว และเมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนพัฒนายางพาราตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.การยางฯ ซึ่งเป็นไปเพื่อค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนายางพารา ปรกอบกับการบริหารและจัดสรรเงินกองทุนพัฒนายางพารา
โดยกองทุนพัฒนายางพาราสามารถให้กู้ยืมเงินได้เฉพาะเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางเท่านั้น ตามข้อ 10 (1) และข้อ 14 (3) แห่งข้อบังคับคณะกรรมการยางพาราแห่งประเทศไทยว่าด้วยการบริหารและจัดสรรเงินกองทุนพัฒนายางพาราฯ ดังนั้น กยท. จึงไม่สามารถกู้ยืมเงินจากองทุนพัฒนายางพาราได้