เครือข่ายประชาชนถกแก้คุกคามสิทธิชุมชน ชี้กฏหมายอ่อน แพ้เงินนายทุน
ภาคประชาชนรวมพลังแก้ปัญหาคุกคามสิทธิชุมชน ต้านนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจเหมือง เผยละเมิดสิทธิ-สุขภาวะ ชี้เกิดช่องว่างทางกฏหมาย จี้รัฐบังคับใช้จริงจัง
วันที่ 20 ธ.ค. 54 มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับเครือข่าย จัดเวทีปลุกพลังพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด โดยมีแกนนำภาคประชาชนและนักสิทธิชุมชนจาก 32 ชุมชนทั่วประเทศ พร้อมนักวิชาการเข้าร่วมกว่า 200 คน ณ ห้องจูปิเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดและร่วมหาทางขับเคลื่อนจากสภาพปัญหาที่ดำรงอยู่ ว่าพลเมืองจะร่วมกันอย่างไรในการแก้ปัญหาชุมชนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการคุกคามสิทธิชุมชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม ธุรกิจเหมือง และแผนพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วม
ด้านนายประสาท มีแต้ม อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การพัฒนาประเทศโดยขาดการมีส่วนร่วมภาคประชาชนนั้น ก่อให้เกิดภัยรอบด้าน เห็นได้ชัดกรณีมหาอุทกภัย 54 อันเกิดจากการตั้งนิคมอุตสาหกรรมทับพื้นที่น้ำ หรือการปล่อยสารพิษสู่ชั้นบรรยากาศจนเกิดภาวะโลกร้อน โดยขาดการดูแลจากภาคประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ขณะที่ต่างประเทศสามารถพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้าได้ เนื่องจากชุมชนมีความเข้าใจในท้องถิ่นของตนเองอย่างลึกซึ้ง ที่สำคัญได้มีการสร้างเครือข่ายกำหนดอนาคตร่วมกัน จึงฝากยังเครือข่าย 32 ชุมชนได้สานต่อแนวทางให้เป็นจริง เพื่อเรียกร้องสิทธิกลับยังชุมชนของตนเอง
ขณะที่นายสุทธิ อัชฌาศัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า ชุมชนควรลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิพึงได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ อย่างกรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุต ชุมชนมิได้เรียกร้องเพื่อคนในชุมชนเท่านั้น หากแต่เรียกร้องให้คนไทยทั้งประเทศได้ตระหนักถึงพิษภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยการพึ่งพาจากสื่อมวลชน นักวิชาการ และกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ซึ่งคาดหวังให้มีการจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรมอย่างสมดุลควบคู่กับทรัพยากรธรรมชาติ
นางภารณี สวัสดิรักษ์ เครือข่ายนักผังเมืองเพื่อสังคม กล่าวว่า ชุมชนควรเรียนรู้เรื่องแผนที่มากขึ้น เพื่อสามารถจัดทำผังเมืองชุมชนได้ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนในชนบทไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องแผนที่และผังเมืองเลย จึงส่งผลให้ถูกโน้มน้าวใจจากกลุ่มนายทุนได้ง่าย
ขณะที่วงเสวนาแผนพัฒนาที่ละเมิดสิทธิและสุขภาวะ จักรพงษ์ มงคลคีรี เครือข่ายพัฒนาดอยมูเซอ จ.ตาก กล่าวว่า ประมาณปี53 กฎหมายป่าประกาศทับที่ทำกินที่อยู่อาศัย ชาวเขาอยู่กันมาหลายร้อยปีกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้รับสิทธิการครอบครอง เมื่อไม่นานมานี้ตลาดชาวเขาที่ปู่ย่าตายายร่วมสร้างมาแห่งเดียวในประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวแต่ละปีมากมาย ราชการก็พยายามจะเอาคนเมืองขึ้นไป ชาวบ้านไม่มีที่ทำมาหากินจึงรวมตัวกันคัดค้าน แต่ก็ได้รับการปฏิบัติจากภาครัฐอย่างไม่เป็นธรรม
"พื้นที่ตลาดกว้าง 9 เมตร ยาว 57 เมตร ชาวเขา 5 หมู่บ้านใช้เป็นพื้นที่ทำมาหากิน โดยมีกลุ่มหนึ่งปลูกผัก กลุ่มหนึ่งเป็นคนขาย จำหน่ายสินค้าให้นักท่องเที่ยวแต่ละคนมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 5 พันบาทต่อเดือน คนปลูกผักต้องรักษาป่า เพื่อให้ป่าผลิตน้ำสำหรับทำการเกษตร ราชการพยายามไล่ชาวเขาลงจากเขา ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกคนเมืองขึ้นไปบุกรุกและพยายามจะทำลายอาคารที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างไว้ด้วย"
วินัย กาวิชัย รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเกาะช้าง จ.ตราด ในฐานะตัวแทนเครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตราด กล่าวว่า ประมาณปี 2549 รัฐบาลมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และมีมติใช้ 5 พื้นที่เป็นที่สร้างโรงไฟฟ้าฯ หนึ่งในนั้นคือจังหวัดตราดรัฐไม่เคยถามความคิดความเห็นชาวบ้าน ชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามจะต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ มาตรา66 และ 67 ที่บอกว่าชุมชนมีสิทธิจัดการทรัพยากรของตนเอง แต่ก็เป็นเพียงการเขียนไว้สวยหรูไม่ได้มีการปฏิบัติจริง ซึ่งชาวบ้านมีเป้าหมายในการต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิดด้วยการต่อต้านการตอกเสาเข็มโรงไฟฟ้าในเวลาอีกไม่นานที่จะถึงนี้"
ธีรวัจน์ นามดวง สมัชชาประชาชน รักษ์คนรักษ์โลก กล่าวว่า การปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิดจากนักธุรกิจการเมืองที่นำโครงการต่างๆเข้าไปรุกรานชุมชนเป็นเรื่องของคนในชุมชนต้องช่วยกัน หลายโครงการที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลไม่ได้ทำคือการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนการพัฒนาประเทศ ชาวบ้านต้องผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม พบว่า ในรอบ 10 ปี มีแกนนำภาคประชาชนถูกทำร้ายจนเสียชีวิต 20 ราย เฉลี่ยปีละ 2 คน และอีกจำนวนมากถูกรังแกจากนายทุนและรัฐจนกลายเป็นคดีความขึ้น ล่าสุด ต.ค. ที่ผ่านมา นางจินตนา แก้วขาว แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ถูกศาลสั่งจำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ส่งผลให้เครือข่ายภาคประชาชนลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ