มกอช.ชี้ไทยเเพนสุ่มเก็บตัวอย่างพืชผิดหลักวิชาการ ยันกระบวนการรับรอง GAP เป็นสากล
มกอช.เตือนผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนก กรณีไทยแพนตรวจพบสารตกค้างปนเปื้อนพืชผลไม้ “Q” และสินค้าออร์แกนิก ชี้การสุ่มเก็บตัวอย่างแต่ละชนิดพืชจำนวนน้อยผิดหลักวิชาการ ยันกระบวนการรับรอง GAP-เกษตรอินทรีย์ของ กษ. เป็นไปตามสากล การันตีคุณภาพปลอดภัยกว่าสินค้าทั่วไป
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า จากที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างพืชผักและผลไม้ที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและตลาดทั่วไปมาตรวจวิเคราะห์หาสารตกค้างและเผยแพร่ผลตรวจวิเคราะห์สู่สาธารณะ เป็นข้อมูลการศึกษาที่นำมาใช้ประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องได้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคทั่วประเทศไม่ควรตื่นตระหนกกับการนำเสนอข่าวดังกล่าวของไทยแพน เนื่องจากการสุ่มเก็บตัวอย่างของไทยแพนมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งใช้เป็นตัวแทนของตัวอย่างทั้งประเทศไม่ได้
ทั้งนี้ ตามหลักสถิติและหลักวิชาการแล้วถ้าจะให้เป็นตัวแทนทั้งประเทศได้ จำนวนตัวอย่างแต่ละชนิดพืชจากแต่ละห้าง หรือตัวอย่างสินค้าคิว (Q) และสินค้าทั่วไป (Non Q) ที่สุ่มเก็บมาตรวจสอบควรจะเก็บอย่างน้อย 60 ตัวอย่างต่อชนิดพืช ไม่ใช่เก็บแค่ชนิดพืชละ 1 ตัวอย่างต่อห้างอย่างที่ทำ รวมทุกห้างมีเพียง 3-4 ตัวอย่าง แล้วนำมาสรุปเป็นภาพรวมของประเทศ
การเก็บตัวอย่างสินค้าจำนวนน้อยมาก แล้วตรวจพบปัญหาในสินค้า Q จำนวน 7 ตัวอย่าง และสินค้าออร์แกนิก 8 ตัวอย่าง แล้วสรุปว่าสินค้าพืชที่ภาครัฐรับรองไม่ผ่านมาตรฐาน 57.1 % และ 25 % เป็นการจงใจให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนัก ซึ่งจริงๆไม่ควรคิดเป็นเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือแสดงเป็นรูปกราฟแต่กลับไม่มีการใส่จำนวนที่ชัดเจนในรูปกราฟ ทำให้เกิดความตระหนก เช่น สุ่มตรวจแค่ 2 ตัวอย่างและในจำนวนดังกล่าวตรวจเจอปัญหาแค่ 1 ตัวอย่างกลับสรุปว่าตรวจพบ 50% ถือเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้บริโภคและประชาชนเกิดความตื่นตระหนกและเข้าใจผิดเป็นวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ผลิตสินค้าได้มาตรฐานจีเอพี (GAP) กว่า 200,000 ราย โดยเป็นผู้ผลิตผักและผลไม้กว่า 70,000 ราย
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยืนยันว่า กระบวนการรับรองมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิกที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นไปตามหลักสากล โดยกระทรวงเกษตรฯมีการตรวจสอบและประเมินอย่างละเอียดตามข้อกำหนดในแปลงเกษตรกรอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ตั้งแต่ปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเฉพาะการตรวจสอบการใช้สารเคมีของเกษตรกรและการบันทึกข้อมูลต่างๆ ก่อนที่จะออกใบรับรองมาตรฐาน GAP ให้ และอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q ติดบนตัวสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์สินค้าวางจำหน่ายได้ สำหรับพืชผักและพืชล้มลุกจะมีอายุใบรับรอง 2 ปี ส่วนไม้ผลและไม้ยืนต้น มีอายุใบรับรอง 3 ปี ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดตามตรวจประเมินแปลง GAP ทุกปี และเกษตรกรต้องยื่นขอรับการตรวจต่ออายุใบรับรองใหม่เมื่อใบรับรองเดิมใกล้หมดอายุ” เลขาธิการ มกอช.กล่าว
ทั้งนี้ จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าพืชมาตรวจวิเคราะห์สารตกค้าง ทั้งสินค้า Q และ Non Q โดยปี 2559 ได้ตรวจวิเคราะห์ไปแล้วกว่า 3,500 ตัวอย่าง เป็นสินค้า Q ประมาณ 1,500 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้พบว่ามีเพียง 7 ตัวอย่าง คิดเป็นน้อยกว่า 1 % ที่มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน จึงเชื่อมั่นในกระบวนการรับรองของกระทรวงเกษตรฯได้ และยังมั่นใจได้ว่า สินค้า Q มีคุณภาพและมีความปลอดภัยสูงกว่าสินค้าปกติทั่วไปแน่นอน
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ มีระบบควบคุมกำกับดูแล เมื่อได้ข้อมูลสินค้าที่แจ้งว่าพบสารตกค้างปนเปื้อน กระทรวงเกษตรฯ ก็ไม่ได้ละเลย ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบผลการศึกษาของไทยแพน โดยเฉพาะรายงานที่ว่า มีสินค้า Q จำนวน 8 ตัวอย่าง และสินค้าออร์แกนิก 3 ตัวอย่าง พบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน โดยกรมวิชาการเกษตรได้เร่งติดตามผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเบื้องต้นจะมีการตรวจสอบสินค้าที่มีปัญหาว่า ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q อย่างถูกต้อง หรือใช้เครื่องหมาย Q ปลอมหรือไม่ หากพบว่า ผู้ประกอบการลักลอบใช้เครื่องหมาย Q ปลอม มกอช.จะร่วมกับกรมวิชาการเกษตรดำเนินการตามกฎหมายทันที
ถ้าตรวจยืนยันแล้วพบว่า เกษตรกรได้รับการรับรองถูกต้องและใช้เครื่องหมาย Q ถูกต้อง แต่พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน โดยที่เกษตรกรใช้สารผิดอย่างตั้งใจ จะพิจารณาดำเนินการลงโทษ เช่น การตักเตือนหรือสั่งพักใช้เครื่องหมาย Q หรือเพิกถอนเครื่องหมาย Q นอกจากนั้น หากตรวจสอบพบการปนเปื้อนโดยที่เกษตรกรไม่ได้ตั้งใจ เช่น การปนเปื้อนสารเคมีจากแปลงข้างเคียง รวมทั้งน้ำและดิน จะแนะนำให้เกษตรกรเร่งปรับปรุงแก้ไข อาทิ ปลูกพืชบังลมเพื่อป้องกันไม่สารเคมีจากแปลงข้างเคียงปลิวข้ามมาปนเปื้อนพืชในแปลง GAP หรือปรับปรุงระบบการให้น้ำ เป็นต้น คาดว่า จะได้ผลตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริงภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรและมกอช.จะร่วมดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาและจะแจ้งให้ทราบโดยเร็วต่อไป .
อ่านประกอบ:สธ.แนะล้างผักผลไม้ผ่านน้ำไหล 2 นาที ช่วยลดสารเคมีเกาะติดมากสุด 92%
สารเคมีตกค้างในพริกสูงสุด ไทยแพนจี้ก.เกษตรฯ ปฏิรูปตรา Q ของมกอช.
นักวิชาการ จี้ก.เกษตรฯ ออกมาจัดการปัญหาพริกมีสารเคมีตกค้างด่วน