ป.ป.ช.ไม่ให้ข้อมูล‘อิศรา’ปมตีตกคดี‘สุเทพ’ปล่อย ทบ.จัดซื้อเรือเหาะแพง
ป.ป.ช. ตอบกลับ ‘อิศรา’ ไม่ให้รายละเอียดปมตีตกคำร้องกล่าวหา ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อย ทบ. สั่งซื้อเรือเหาะแพงเกินจริง
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ยื่นหนังสือตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้เปิดเผยข้อมูลรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีคำร้องขอให้ถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กรณีถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้กองทัพบกสั่งซื้อเรือเหาะในราคาสูงกว่าความเป็นจริง และบันทึกการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทุกครั้งเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวนั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า สำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือตอบกลับ ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อมูลที่ขอให้เปิดเผยนั้น เป็นข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง รวมถึงบันทึกการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถือว่าเป็นเอกสารหรือข้อความเป็นที่เป็นความลับในราชการ หากเปิดเผยอาจก่อให้เกิดผลกระทบ หรือความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่เกี่ยวข้องได้ ตามมาตรา 15 (1) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ
อนึ่ง สำนักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงข่าวผลการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่อนี้ให้สาธารณชนรับทราบ และได้เผยแพร่ข่าวดังกล่าวไว้ในเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยได้ให้เหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าตรวจดูเหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ ตามข้อ 3 ของระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการจัดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าตรวจดูเหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีที่มีมติวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป พ.ศ.2558 จึงไม่อาจเปิดเผยข้อมูลตามที่ร้องขอได้ (ดูเอกสารประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏว่า กระบวนการจัดหายุทโธปกรณ์ดังกล่าว มีการดำเนินการขออนุมัติแผนจัดหายุทโธปกรณ์สำหรับภารกิจหาข่าว เฝ้าตรวจพื้นที่และเส้นทางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนที่นายสุเทพ เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ได้มีการจัดซื้อทั้งตัวเรือเหาะและอุปกรณ์ตรวจการทั้งหมด ได้แก่ 1. เรือเหาะ Aeros 4oD จำนวน 1 ลำ 2. กล้องตรวจการณ์เวลากลางวัน / กลางคืน Axsys V14 MS II จำนวน 2 กล้อง 3. รถหุ้มเกราะกันกระสุน Grizzy เพื่อใช้เป็นรถ Command Control 4. ชิ้นส่วนซ่อมควบคู่ การบำรุงรักษา การฝึกอบรม การรับประกันชิ้นส่วนที่สำคัญระบบการติดต่อสื่อสารตามมาตรฐานของผู้ผลิต และระบบรับ - ส่ง และถ่ายทอดสัญญาณ(Uplink/Downlink)
จึงทำให้มีมูลค่าสูงกว่าการจัดซื้อเพียงเรือเหาะอย่างเดียว เพราะเรือเหาะที่ทำการจัดซื้อนั้นเป็นกรณีจำเป็นและเร่งด่วน จึงได้ดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และเป็นเรือเหาะที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบออกใบอนุญาตรับรองและกำกับดูแลความปลอดภัยของอากาศยานทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลังจากทำการจัดซื้อแล้วได้มีการใช้งานมาระยะหนึ่ง แต่เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและอากาศมีฝนตกชุก จึงได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนอุปกรณ์เปลือกนอกของเรือเหาะ เพื่อเพิ่มคุณภาพจากมาตรฐานเดิมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
จากการไต่สวนไม่ปรากฏพฤติการณ์หรือพยานหลักฐานว่า นายสุเทพ ซึ่งกำกับการบริหารราชการ ในสังกัดกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยการปล่อยให้กองทัพบกสั่งซื้อเรือเหาะในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป
อ่านประกอบ : ‘สุเทพ-ปู’รอด! ป.ป.ช.ตีตกคดีซื้อเรือเหาะ-ใช้งบกลางประกันตัวนักโทษการเมือง