ข้อเรียกร้องที่ยอมรับไม่ได้ ทำพูดคุยดับไฟใต้ไม่ได้ไปต่อ?
น้องสนิทของผมคนหนึ่ง เคยทำงานร่วมกันที่ศูนย์ข่าวอิศราตั้งแต่ยุคเปิดศูนย์ใหม่ๆ ราวปี 48 ตั้งคำถามกับผมเมื่อเร็วๆ นี้ ทำนองว่าทำไมศูนย์ข่าวอิศราภายใต้การดูแลของผม จึงไม่ค่อยสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผมทราบว่าคำถามนี้คงเป็นคำถามขององค์กรภาคประชาสังคมหลายๆ องค์กรในพื้นที่ที่เฝ้ามองการรายงานข่าวกระบวนการพูดคุยฯของศูนย์ข่าวอิศรามาตลอดด้วย
จะว่าไป แม้แต่คนในคณะพูดคุยฯเองที่เป็นทหาร ก็เคยตำหนิศูนย์ข่าวอิศราบนเวทีสัมนา ทำนองว่าเสนอข่าวไม่สร้างสรรค์
เหตุผลของคนเหล่านี้ก็คือ ศูนย์ข่าวอิศรามักตีข่าวเชิงลบหรือตั้งคำถามกับกระบวนการพูดคุยฯ เช่น ยิ่งพูดคุยอาจจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงหรือไม่, ฝ่ายมารา ปาตานี ใช่ตัวจริงหรือเปล่า, คณะพูดคุยฯของทั้งสองฝ่ายมีเอกภาพจริงหรือ ฯลฯ
ผมตอบน้องคนที่ตั้งคำถามกับผม โดยย้อนถามเขาว่า คุณคิดว่ากระบวนการพูดคุยที่กำลังดำเนินการกันอยู่นี้ มาจากพื้นฐานของความจริงใจที่จะให้พื้นที่สงบและสันติสุขจริงๆ หรือ เพราะตลอดมาผมเห็นแต่การชิงความได้เปรียบกัน โดยเอาความสงบและสันติสุขของคนในพื้นที่เป็นตัวประกัน
ถ้าตั้งต้นกันแบบนี้ ทั้งสองฝ่ายก็จะมีแต่เงื่อนไขและการตั้งแง่เข้าใส่กัน ไม่ได้ยอมถอยคนละก้าวเพื่อมุ่งไปให้ถึงสันติสุขที่อยู่ปลายทาง
เรียกว่าเอา "สันติสุข" เป็นเครื่องมือ หรือ mean ไม่ใช่เป้าหมาย หรือ end หนำซ้ำยังใช้ "สันติสุข" เป็นเครื่องมือให้บรรลุผลทางการเมืองของฝ่ายตน (ซึ่งนั่นคือเป้าหมายที่แท้จริงของแต่ละฝ่าย) อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นกระแสบางส่วนในพื้นที่ที่สนับสนุนการพูดคุยฯ ยังพยายามสร้างวาทกรรมให้โต๊ะพูดคุย หรือกระบวนการพูดคุยเป็น end หรือเป้าหมาย เสมือนหนึ่งว่าต้องพูดคุยกันเท่านั้นจึงจะทำให้พื้นที่สงบได้ ทั้งที่จริงๆ การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่สามารถใช้เครื่องมือเดียวได้ แต่ต้องใช้หลายๆ เครื่องมือ และโต๊ะพูดคุยก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือเหล่านั้น
ต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ความขัดแย้งหลายๆ แห่งในโลก ก็ไม่ได้จบด้วยการพูดคุย แต่จบด้วยการใช้กำลังทางทหาร ส่วนการพูดคุยเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายที่พ่ายแพ้ยอมจำนน (ที่พูดแบบนี้เป็นการยกตัวอย่างถึงปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้น ไม่ได้แปลว่าผมสนับสนุนให้รบกันต่อ)
เมื่อทั้งสองฝ่าย คือ รัฐบาลไทย กับกลุ่มมารา ปาตานี เอาสันติสุขมาเป็นเครื่องมือต่อรองกัน มันจึงเกิดเงื่อนไขที่แต่ละฝ่ายไม่มีทางยอมรับได้ขึ้นมา เช่น ข้อเรียกร้องเบื้องต้นที่อยู่ในร่างทีโออาร์ หรือร่างข้อตกลงที่เป็นกรอบการพูดคุย ซึ่งมารา ปาตานี เสนอ 3 ข้อ ให้ไทยยอมรับชื่อมารา ปาตานี เป็นตัวแทนของคนมลายูปาตานีในการดำเนินกระบวนการพูดคุย, ให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ และให้ความคุ้มครองทางกฎหมายกับคณะพูดคุยฯฝ่ายมารา ปาตานี
3 ข้อนี้ โดยเฉพาะข้อ 1 กับ 2 เป็นข้อที่รัฐบาลไทยยอมรับไม่ได้เลย โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ปกครองโดยรัฐบาลทหารเช่นนี้ เพราะทหารไม่มีทางยอมรับ มารา ปาตานี เป็นคู่เจรจา หรือไม่มีทางยอมรับเสมือนหนึ่งว่า มารา ปาตานี มีตัวตน ย้อนอ่านคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้เลย ทุกครั้งท่านจะพูดเชิงไม่ให้การยอมรับมารา ปาตานี
ขณะที่การประชุมสุดยอดขององค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี เมื่อเร็วๆ นี้ ไทยก็เพิ่งล็อบบี้ไม่ให้มีการใส่ชื่อ "มารา ปาตานี" ว่าเป็นกลุ่มที่กำลังพูดคุยกับรัฐบาลไทยอยู่ ส่วน มารา ปาตานี ก็พยายามล็อบบี้เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมโอไอซีให้ได้ เพื่อสร้างการมีตัวตนว่าเป็น "คู่เจรจา" ของรัฐบาลไทย
การพูดคุยที่เริ่มด้วยฝ่ายหนึ่งแสดงท่าทีว่ามีสถานะเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง จะประสบความสำเร็จค่อนข้างยาก โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เชื่อมโยงกับข้อเรียกร้องทางการเมืองและการดำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์เช่นนี้
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไทยก็ยื่นข้อเรียกร้องที่ มารา ปาตานี รับยากเช่นกัน คือการให้ทดลองหยุดยิงให้ดูก่อน ผ่านวาทกรรมสวยๆ คือ "กำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน" ประเด็นนี้อ่อนไหวอย่างยิ่ง เพราะศูนย์ข่าวอิศราเคยเสนอว่ามีการพูดคุยกันในคณะพูดคุยชุดเล็ก ที่เรียกว่าคณะทำงานเทคนิคร่วมฯ เรียบร้อยแล้วว่าทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกำหนดพื้นที่ปลอดภัยในระดับหมู่บ้านขึ้นก่อน ปรากฏว่าฝ่ายมารา ปาตานี รีบส่งหนังสือปฏิเสธกลับมาแทบจะทันที
เหตุผลที่ มารา ปาตานี นำมาเป็นข้ออ้างของการไม่ยอมตกลงเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย" ก็คือฝ่ายรัฐบาลไทยต้องยอมรับข้อเรียกร้องเบื้องต้น 3 ข้อที่พวกตนเสนอก่อน ซึ่งก็คือ 3 ข้อที่ถูกระบุว่าอยู่ในร่างทีโออาร์ที่หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยไม่ยอมลงนามนั่นเอง เมื่อยังไม่ยอมรับ ก็ยังไม่ถึงเวลาคุยเรื่องนี้
น่าแปลกหรือไม่ที่ มารา ปาตานี ปฏิเสธข้อเรียกร้องเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย" แต่อ้างว่าเป็นตัวแทนคนมลายูปาตานี เพราะคนในพื้นที่ โดยเฉพาะภาคประชาสังคมที่สนับสนุนการพูดคุยแทบทุกองค์กร เรียกร้องให้เร่งกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" โดยเร็วที่สุด
ช่วงการพบปะพุดคุยอย่างไม่เป็นทางการเที่ยวล่าสุดเมื่อ 27 เม.ย. ทางคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ยังจัดกิจกรรมรณรงค์ให้พื้นที่ "ตลาด-วัด-โรงเรียน-มัสยิด" เป็นพื้นที่ปลอดภัยกันอยู่เลย โดยกิจกรรมมีขึ้นที่ตลาดเทศวิวัฒน์ ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี
ฉะนั้นสาเหตุที่แท้จริงที่ มารา ปาตานี ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย" จึงพอจะประเมินได้ 2-3 ข้อ คือ
1.ทางกลุ่มไม่มีศักยภาพจริงในการควบคุมนักรบฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ ตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าเป็น "ตัวปลอม"
2.ทางกลุ่มมีศักยภาพจริงบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด การเร่งรีบกำหนดพื้นที่ปลอดภัย อาจโดนฝ่ายต่อต้านการพูดคุยขัดขวาง หรือพยายามก่อเหตุรุนแรงเพื่อดิสเครดิตได้
3.ความรุนแรงเป็นแต้มต่อเดียวที่ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐมี และใช้ต่อรองกับรัฐบาลไทย ฉะนั้นหากยอมรับเงื่อนไขหยุดยิง ก็เท่ากับหมดอำนาจต่อรอง
ผมคงบอกไม่ได้่ว่าเหตุผลข้อไหนที่เป็นเหตุผลเบื้องหลังที่แท้จริง ขึ้นกับวิจารณญาณของแต่ละคนแต่ละฝ่ายที่จะเลือกเชื่อ
แต่หากว่ากันตามทฤษฎี ข้อสันนิษฐานข้อ 2 นับว่ามีน้ำหนัก และทำให้การพูดคุยเจรจาส่วนมากทำกันในทางลับ ข้อมูลจากฝ่ายทหารที่ยังมีอำนาจอยู่ในปัจจุบันก็ชี้ชัดว่า การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน 2 ฝ่าย เคยมีมาแล้วในช่วงปลายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่เป็นการดำเนินการในทางลับกับหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ มีการตั้งคณะทำงานร่วมตรวจสอบเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใดแน่
แต่เมื่อการพูดคุยถูกทำให้เปิดเผย เป็นสาธารณะ ตั้งแต่ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย แม้จะมีข้อดีเรื่องความโปร่งใสและให้สังคมช่วยตรวจสอบ รวมทั้งสร้างกระบวนการเรียนรู้ของสังคม แต่ก็มีข้อด้อยเรื่องการทำให้กระบวนการพูดคุยเป็นเรื่อง "การเมือง" ซึ่งแต่ละฝ่ายต้องรักษาฐานมวลชนของตน
มารา ปาตานี คงยอมรับข้อตกลงเรื่องหยุดยิงง่ายๆ ไม่ได้ นอกจากมีข้อแลกเปลี่ยนที่ดีพอจากรัฐบาลไทย ไม่อย่างนั้นก็จะถูกตราหน้าว่า "หงอ" หรือ "พ่ายแพ้" บนโต๊ะเจรจา (อย่าลืมว่าเขาต่อสู้กับรัฐบาลไทยอยู่)
ขณะที่รัฐบาลไทย ก็ไม่อาจยอมรับข้อเรียกร้องหนักๆ ของฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องของ มารา ปาตานี หรือบีอาร์เอ็นในอดีตก็ตาม (ข้อเรียกร้องเมื่อปี 2556 ที่ยื่นต่อคณะพูดคุยฯในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย)
ยิ่งไปกว่านั้น การที่คณะพูดคุยฯมีทหารเป็นหัวหน้า และรัฐบาลที่คุมนโยบายก็ยังเป็นรัฐบาลทหาร ยิ่งทำให้การพูดคุยไม่มีความยืดหยุ่น อ่อนตัว (ยืดหยุ่น กับยอมเสียเปรียบเป็นคนละเรื่องกัน) ยิ่งเป็นการพูดคุยแบบเปิดเผยด้วยแล้ว ยิ่งมีแต่ความแข็งกร้าวของข้อเรียกร้อง ฉะนั้นจึงสรุปได้ล่วงหน้าเลยว่า "ปิดประตูสู่ความสำเร็จ"
เพราะหลักนิยมของทหารที่ท่องกันมาตั้งแต่เป็นนักเรียนทหาร คือ "ไม่ยอมสูญเสียแผ่นดินไทยแม้ตารางนิ้วเดียว" ไม่ว่าจะสูญเสียไปจริงๆ หรือสูญเสียเชิงสัญลักษณ์ เช่น ตั้งเขตปกครองพิเศษในบางพื้นที่ของประเทศของก็ตาม
ทหารเชื่อว่าพวกเขาสามารถจบปัญหาชายแดนใต้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเจรจาเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเฉพาะเขตเฉพาะพื้นที่ หรือหากมีการพูดคุยเจรจา ก็ต้องไม่มีการเปลี่ยนสาระใหญ่ๆ อย่างเรื่องรูปแบบการปกครอง ซึ่งจากจุดนี้ก็จะเกิดคำถามย้อนกลับจากฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐเหมือนกันว่า แล้วพวกเขาจะต่อสู้ บาดเจ็บล้มตายกันมาเพื่ออะไร
ที่หนักที่สุดคือ ท่าทีของสังคมไทยที่มีความเป็นชาตินิยมสูง ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องเขตปกครองพิเศษ หรือแม้แต่เขตปกครองทางวัฒนธรรม จะเห็นได้ว่าเมื่อใดที่พูดถึงเขตปกครองพิเศษ จะโดนกระแสต้านตลอด ฉะนั้นการนำประเด็นพูดคุยเจรจาเข้าพิจารณาในสภา จึงยากที่จะผ่านออกมา พิจารณาจากกรณีฟิลิปปินส์ แม้จะมีประสบการณ์การเจรจาสันติภาพมาหลายยุคหลายสมัย รวมทั้งในยุคประธานาธิบดีอากิโน่ที่เพิ่งหมดวาระไป ซึ่งเอาจริงเอาจังอย่างยิ่ง แต่สุดท้ายเมื่อนำข้อตกลงเข้าสภา ก็ยังถูกตีตก
นี่คือสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯที่กำลังดำเนินการกันอยู่นี้ มีโอกาสเดินหน้าได้ยากมาก ซึ่งเป็นการประเมินจากปัจจัยแวดล้อมตามความเป็นจริง ไม่ใช่สร้างฝัน หรือมองอย่างอคติตามที่บางคนบางฝ่ายเข้าใจ
จะว่าไป การจัดกระบวนการพูดคุยโดยไม่คำนึงถึงหลักการทฤษฎีที่ถูกต้อง เพราะมีผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง ก็เคยปรากฏมาแล้วในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่ยอมรับตรงกันทุกฝ่ายว่า เป็นการพูดคุยที่ขับเคลื่อนโดยอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่ตกลงกับผู้นำมาเลเซียแบบลัดขั้นตอน คิดว่าปัญหาไม่ได้มีความซับซ้อน และจบลงง่ายๆ หากมาเลเซียและแกนนำผู้เห็นต่างในต่างประเทศยอมจบ
ผลออกมาเป็นอย่างไร ผู้ที่สนใจกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้ย่อมทราบดี...
ฉะนั้นการหยุดชะงักชั่วคราวของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯในขณะนี้ จึงเป็นจังหวะเวลาอันดีของการหยิบยกจุดอ่อนต่างๆ มาทบทวนเพื่อก้าวเดินต่อไปแบบไม่ฝืนความจริง และไม่ฝืนธรรมชาติของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : คณะพูดคุยของทั้งสองฝ่าย