อบรมครูใช้แท็ปเล็ต เม.ย. เตรียมพร้อมแจก ป.1 เปิดเทอม พ.ค.55
กำหนดสเปคแท็ปเล็ต 10 กิกะไบต์ เชื่อม wifi คาดจัดซื้อจัดจ้าง ก.พ. อบรมครู เม.ย. ใช้จริงเปิดเทอม พ.ค.55 โรงเรียนไหนได้แท็ปเล็ตงดหนังสือเรียนฟรี ผลสำรวจความเห็นยังค้านแจกแท็ปเล็ต ป.1
นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้นำตัวอย่างแท็บเล็ตของบริษัทเอกชนที่นำมาเสนอ มาทดสอบประสิทธิภาพโดยใส่เนื้อหา 8 กลุ่มสาระระดับชั้น ป.1 พร้อมแบบฝึกหัด พบว่ามีจุดเด่นจุดอ่อนแตกต่างกัน บางบริษัทมีการนำแอนนิเมชั่นส์ มาใส่ไว้ช่วยให้เด็กไม่เบื่อหน่ายต่อการเรียนรู้
ทั้งนี้ สช.ได้กำหนดสเปกเบื้องต้นต้องมีหน่วยความจำไม่ต่ำกว่า 10 กิกะไบต์ สามารถเชื่อมโยงระบบ CYber Home เชื่อมต่อด้วยระบบ wi-fi มีระบบสัมผัส มีระบบซูมอินซูมเอ้าท์ในจอ มีความเร็วของเครื่องในระดับที่ดี และมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ส่วนโรงเรียนต้องมีความพร้อม เช่น ครูได้รับการอบรมพัฒนา ควรจะมีจอแอลซีดีขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อแท็บเล็ตของครูผู้สอนในห้องเรียน โดยรายละเอียดทั้งหมดจะนำเสนอ น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัด ศธ.ต่อไป
"การจัดซื้อจัดจ้างที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการระหว่าง ม.ค.-ก.พ.55 นั้นจะต้องรอนโยบาย ศธ.ว่าจะให้จัดซื้อทั้งหมด 1.2 แสนกว่าเครื่อง หรือแยกเป็นรายโรงเรียน ส่วนการอบรมเตรียมความพร้อมของครูจะจัดช่วง เม.ย.55 เพื่อให้ทัน แท็บเล็ต ป.1.ช่วงเปิดเทอม 17 พ.ค.55"
เลขาธิการ กช. กล่าวและว่า ส่วนโรงเรียนที่ได้รับจัดสรรแท็บเล็ต ป.1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555จะไม่ได้รับการจัดสรรหนังสือเรียนนั้น คงต้องรอนโยบาย รมว.ศธ.ว่าจะนำงบประมาณที่เหลือไปใช้ในส่วนใด โดย สช.มีงบฯ จัดซื้อหนังสือเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยม และงบฯ อุปกรณ์ การเรียนการสอน ประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท สำหรับการจัดสรรแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.2-ม.6 นอกจากถามความพร้อมของโรงเรียนแล้ว ต้องสอบถามความต้องการของผู้ปกครองร่วมด้วย
ด้าน นายอำนวย สุนทรโชติ ประธานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่าง 407 คน ประกอบด้วย ผู้ปกครอง ครู นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียน รร.เตรียมอุดมศึกษา รร.เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และ รร.เบญจมราชรังสฤษฎิ์ พบว่าร้อยละ 94.10 ไม่เห็นด้วยกับการแจกแท็บเล็ต ป.1 เพราะยังเด็กเกินไป จะสร้างปัญหามากกว่าประโยชน์ อีกทั้งการแจกไม่ครบทุกคนก็เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ทั้งนี้ยังพบพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์โดยร้อยละ 74.88 หมดไปกับการเล่นเกมและเฟซบุ๊ค มีเพียงร้อยละ 25.12 เท่านั้นขณะที่ใช้เพื่อการศึกษาค้นคว้า
อย่างไรก็ดี เมื่อเราจำเป็นจะต้องเดินไปตามกระแสโลก ก็จำเป็นต้องสร้างความพร้อมให้เด็ก และต้องมีมาตรการ เช่น บล็อกเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม และผู้ปกครองต้องเอาใจใส่การใช้งานของเด็กอย่างเข้มงวด เป็นต้น" นายอำนวย กล่าว .
ที่มาภาพ : ที่มาภาพ : http://blog.eduzones.com/drkrieng/11241