นักวิชาการ ชี้ร่าง รธน. มองไม่เห็นอนาคตการศึกษา หนุนพัฒนาเด็กปฐมวัย ค้านเรียนฟรีเเค่ ม.3
ภาคีเครือข่ายปกป้องสิทธิฯ จัดเวทีวิเคราะห์อนาคตการศึกษาไทยในร่าง รธน. ฉบับมีชัย ด้านนักวิชาการ มช.ชี้ขาดเอกภาพ จับตาอีก 5 เดือน เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน ศธ. หนุนส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย เเต่ไม่เห็นด้วยลดเรียนฟรีถึง ม.3 'ดร.เดชรัต' หวั่นกระทบค่าเล่าเรียนปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะ ร.ร.ชื่อดัง
วันที่ 8 พฤษภาคม 2559 ภาคีเครือข่ายปกป้องสิทธิและความเท่าเทียมทางการศึกษา ร่วมกับห้องสมุดสันติประชาธรรม และวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ จัดเสวนา เรื่อง อนาคตการศึกษาไทยในร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ณ ห้อง 803 วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รศ.ดร.ชูเกียรติ ลีสุวรรณ อดีตรองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวถึงการศึกษาไทยในยุคปัจจุบันว่า ไทยเป็นสังคมไม่มีอนาคตทางการศึกษา เพราะผู้ตัดสินใจไม่เข้าใจสาระสำคัญทางการศึกษาเลย ยังคงใช้วิธีปฏิบัติแบบสั่งการ ซึ่งใช้ไม่ได้ หากครูไม่เล่นด้วยก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ฉะนั้นการศึกษาจึงไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขทางสังคม การเมือง หรือ รธน. เท่านั้น แต่ยังคงมีปัจจัยอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีก
ทั้งนี้ ทุกคนทราบดีว่า การศึกษาไทยขาดเอกภาพมาก ดังเช่นคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในภูมิภาค ได้กล่าวถึงความเป็นเอกภาพทางการศึกษา แต่ยิ่งพูดเรื่องนี้ก็ยิ่งทำสิ่งตรงข้าม เพราะไทยมีผู้ตัดสินใจเรื่องการศึกษามากเกินไป บนพื้นฐานของเหตุผลแตกต่างกัน ประกอบกับหลายครั้งมีการเลือกตัดสินใจเฉพาะหน้ามากกว่าอาศัยหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง
“จับตาให้ดี อีก 4-5 เดือนข้างหน้า ข้าราชการใน ศธ.ระดับสูงหลายคนจะเกษียณอายุ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริหารขึ้น” อดีตรองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มช. กล่าว และว่า แม้ไม่ได้เป็นโหราจารย์ แต่กล้าบอกว่า หลังลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน ศธ.
รศ.ดร.ชูเกียรติ ยังกล่าวถึงเนื้อหาในร่าง รธน.ที่รับประกันสวัสดิการเรียนฟรีถึงเพียงการศึกษาภาคบังคับ (มัธยมศึกษาปีที่ 3) โดยนำงบประมาณในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย/อาชีวศึกษา ไปส่งเสริมการศึกษาภาคปฐมวัยแทน ว่า การให้ความสำคัญทางการศึกษากับเด็กปฐมวัยเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่รัฐกลับยังไม่มีนโยบายที่ตอบสนองต่อการพัฒนาเด็กกลุ่มดังกล่าว วงการศึกษาละเลยหลักสูตรด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ และจิตวิทยาพัฒนาการ ซึ่งจะไม่ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อเด็ก ทั้งที่ต้องการการลงทุนสูงมากกว่าช่วงอายุอื่น
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่วันมานี้ สพฐ.ให้ข้อมูลจำนวนผู้เข้าศึกษาทุกระดับของปี 2559 มีจำนวนลดลง เพราะคนไทยมีอัตราการเกิดน้อย ฉะนั้น จะทำให้เรามีงบประมาณเพียงพอต่อการจัดการศึกษาแบบให้เปล่าจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย/อาชีวศึกษา โดยไม่เป็นภาระทางการคลัง เพราะมีจำนวนคนน้อย งบประมาณก็เหลือ จากเดิมที่รัฐมักอ้างว่า มีไม่เพียงพอ
รศ.ดร.ชูเกียรติ กล่าวด้วยว่า รู้สึกเสียดายข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อการปฏิรูปการศึกษา พบว่า หลายเรื่องหายไปกับสายลม ในร่าง รธน.ไม่มีพูดถึงการกระจายอำนาจและลดขนาดบทบาทของส่วนกลาง รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกเว้น การจัดตั้งกองทุนสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ ที่ยังมีอยู่ อย่างไรก็ตาม การทิ้งข้อเสนอไปอย่างไม่ไยดี และกรณีปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ การยึดอำนาจครั้งนี้จะเสียของอย่างยิ่ง
“ผมมองไม่เห็นอนาคตการศึกษาไทยในร่าง รธน.” รศ.ดร.ชูเกียรติ กล่าว พร้อมแสดงความแปลกใจภายใต้อำนาจทางการเมืองชุดเดียวกัน ร่าง รธน. 2 ฉบับที่ถูกร่างขึ้น กลับแตกต่างกันมาก
ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เปิดเผยรายงานความแตกต่างของอัตราการเข้าเรียนสุทธิระหว่างกลุ่มที่รวยที่สุดและจนที่สุดของไทย ปี 2555 พบว่า 10% ที่จนที่สุด เข้าถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 34% ปริญญาตรี/ปวส. 4% ขณะที่ 10% ที่รวยที่สุด เข้าถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 70% ปริญญาตรี/ปวส. 66% ส่วนครัวเรือนโดยเฉลี่ย เข้าถึงชั้นมัธยมศึกษา 55% ปริญญาตรี/ปวส. 29% ซึ่งข้อมูลดังกล่าวแสดงถึงความเหลื่อมล้ำที่ยังดำรงอยู่ในระบบการศึกษาไทย ทำให้หากอนาคตยกเลิกสิทธิการศึกษาฟรีแล้ว จะกลายเป็นการปลดล๊อกค่าเล่าเรียนที่ถูกควบคุมโดยรัฐ ส่งผลให้ค่าเล่าเรียนในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาอาจสูงขึ้นตามหลักอุปสงค์อุปทาน โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีชื่อเสียง
ฉะนั้นสิ่งที่กังวลในทางเศรษฐศาสตร์ ดร.เดชรัต กล่าวว่า คือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นกลไกที่ทรงพลังมากที่สุดในการส่งผ่านความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น พูดง่าย ๆ คือ พ่อรวย ลูกรวย พ่อจน ลูกจน เพราะมีระบบการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน ไม่เฉพาะการได้เรียน แต่ยังรวมถึงคุณภาพการเรียนการสอนด้วย .