เกษตรกร 32% เสี่ยงไม่ปลอดภัยสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืช- หนองบัวลำภู ผู้ป่วยมากสุด
กระทรวงสาธารณสุข พบเกษตรกรไทยร้อยละ 32 มีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมีผู้ป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชเพิ่ม 4 เท่าตัว ทั้งพิษเฉียบพลันและระยะยาว เช่น แสบตา คลื่นไส้ หายใจขัด เป็นมะเร็ง อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นหมันหรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่มีถึง 11.9 ล้านคน มีปัญหาที่น่าเป็นห่วงคืออันตรายจากการใช้สารเคมีการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตหรือกำจัดศัตรูพืช โดยผลการตรวจคัดกรองความเสี่ยงกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศในปี 2558 จำนวน 341,039 คน พบว่า มีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชถึงร้อยละ 32
และข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในรอบ 5 ปี มีผู้ป่วยจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มสูงขึ้น 4 เท่าตัว จากปี 2553 ที่พบผู้ป่วย 1,851 ราย เพิ่มเป็น 7,954 รายในปี 2557 ผู้ป่วยมากสุดที่จังหวัดหนองบัวลำภู
ด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ได้เฝ้าระวังความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มเกษตรกร หากพบว่ามีความเสี่ยงจะให้คำแนะนำการใช้สารเคมีที่ปลอดภัยอย่างทันท่วงที ไม่รอให้มีอาการป่วยก่อน ซึ่งผลกระทบจากใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีทั้งระยะเฉียบพลัน คือ แสบตา แสบมือ ตาพร่ามัว ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ ท้องเสีย แน่นหน้าอก หายใจขัด ส่วนผลระยะยาว ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคผิวหนังเรื้อรัง อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นหมันหรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้
ในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัยนั้น อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มีหลัก 4 ข้อง่ายๆ คือ อ่าน-ใส่-ถอด-ทิ้ง คือ 1.อ่านฉลากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชก่อนใช้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 2.ใส่อุปกรณ์ ป้องกันอันตรายจากสารเคมีขณะทำงาน เช่น เสื้อผ้ามิดชิดรัดกุม หน้ากาก ถุงมือ 3.ถอดชุดและอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้ขณะฉีดพ่นหรือทำงาน แยกซักจากเสื้อผ้าอื่นๆ แล้วรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที และ 4.ทิ้งผลิตภัณฑ์บรรจุสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ถูกต้อง คัดแยกออกจากขยะทั่วไป ให้อยู่ในกลุ่มขยะอันตราย ทิ้งให้ห่างไกลจากแหล่งน้ำป้องกันการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม