"ภาคสังคม" จับมือ "ยูนิเซฟ" เปิดตัวคู่มือป้องกันภัยเด็กชายแดนใต้
เหตุรุนแรงทั้งยิงและระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเกิดมาเกือบ 2 หมื่นครั้งตลอด 12 ปีไฟใต้ มีหลายเหตุการณ์ที่มีเด็กตกเป็นเหยื่อ ทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต แม้แต่เหตุระเบิดล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พ.ค.59 กลางตลาดนัดใน อ.กาบัง จ.ยะลา ก็มีเด็กชายวัย 11 ขวบได้รับบาดเจ็บ
จากสถิติที่เก็บรวบรวมได้โดยองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ พบว่านับตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงสิ้นปี 2558 รวม 12 ปี มีเด็กที่เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ 84 คน และได้รับบาดเจ็บมากถึง 458 คน
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ "กลุ่มด้วยใจ" ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเด็กและสตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ร่วมกันจัดทำ "คู่มือการป้องกันภัยสำหรับเด็กเมื่อเผชิญเหตุความรุนแรง" ภายใต้โครงการเสียงเด็กเพื่อสันติภาพ
คู่มือดังกล่าวเพิ่งเปิดตัวไปไม่นานนี้ มีเนื้อหาประมาณ 60 หน้า สาระสำคัญเป็นการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันและสร้างความปลอดภัยให้กับเด็ก ทั้งระยะก่อนเกิดเหตุความรุนแรง ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ที่ต้องมีการเยียวยาสภาพจิตใจ
แนะ "ระยะปลอดภัย" เมื่อเจอวัตถุต้องสงสัย
สำหรับการป้องกันก่อนเกิดเหตุ เน้นให้ความรู้เด็กผ่านระบบการเรียนการสอน และผู้ปกครอง ส่วนขณะเกิดเหตุ ควรมีองค์ความรู้ในการช่วยเหลืออพยพเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์ความไม่สงบ ต้องมีการซ้อมแผนจำลองสถานการณ์เป็นระยะ และมีแผนเผชิญเหตุของชุมชน ขณะที่หลังเกิดเหตุ ต้องมีวิธีการดูแลเด็กที่ได้รับบาดเจ็บ ทั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การส่งเด็กที่ได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล รวมถึงการเยียวยาจิตใจ
คู่มือยังระบุให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนเด็กในพื้นที่เสี่ยงผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดเหตุบ่อยที่สุด คือ ช่วงเวลา 18.00-19.30 น. อาจมีการเดินแจกใบปลิวของเจ้าหน้าที่ หรือแจ้งเตือนผ่านโซเชียลมีเดียไปยังตัวเด็กและผู้ปกครอง
นอกจากนั้นยังต้องให้ความรู้แก่เด็กเกี่ยวกับระยะที่ปลอดภัยจากวัตถุระเบิด เช่น ควรอยู่ห่างเกิน 100 เมตรเมื่อพบวัตถุต้องสงสัยเป็นกล่องขนาดเล็ก แต่หากเป็นถังดับเพลิง ถังแก๊ส หรือรถจักรยานยนต์ ควรอยู่ห่าง 200 เมตร ถ้าเป็นรถยนต์ หรือคาร์บอมบ์ ควรอยู่ห่าง 400 เมตร เป็นต้น
จำกัดการรับสื่อความรุนแรงทั้งภาพ-เสียง
คู่มือฯยังให้ความรู้และข้อเสนอแนะต่อผู้ปกครองของเด็ก ในการดูแล ควบคุมการรับข่าวสารความรุนแรงของเด็ก เช่น จำกัดการรับชมภาพและเสียงจากสื่อ เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น พ่อแม่ควรปิดทีวีเมื่อรายงานเหตุการณ์สะเทือนใจ ซึ่งส่วนใหญ่มักฉายภาพซ้ำๆ และควรจำกัดภาพที่เด็กรับชม เพราะเด็กๆ มักได้รับอิทธิผลจากภาพได้อย่างง่ายดายมากกว่าเสียงพูด ทั้งยังควรลดเสียงทีวีลงเมื่อมีเสียงดัง เช่นข่าวยิงกัน หรือการระเบิด เพราะเด็กอาจตื่นตระหนกตกใจ
หากเด็กรู้สึกเครียด กังวลกับข่าว รู้สึกกลัวเวลาไปนอน หรือการไปโรงเรียน ผู้ปกครองควรสละเวลาเพื่อช่วยลูกๆ ปรับตัวสัก 2-3 วัน เพื่อให้หายจากความหวาดกลัวนั้น รวมทั้งเล่นกับลูก เพราะเด็กจะเล่นเพื่อให้หายจากความกลัว
ถ้าจำกัดการรับรู้ข่าวสารของเด็กไม่ได้ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรเน้นเรื่องเชิงบวกหลังจากสื่อรายงานเหตุการณ์ความรุนแรง เน้นเล่าถึงคนหรือองค์กรที่จะมาช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบหรือบาดเจ็บ
ข้อเสนอสำหรับทุกฝ่าย
ในตอนท้ายของคู่มือฯ ได้สรุปข้อเสนอแนะของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันภัยแก่เด็กในสถานการณ์ความรุนแรง
เริ่มจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ควรเตรียมความพร้อมในการป้องกันเหตุความรุนแรงอย่างสม่ำเสมอ, ควรสื่อสารข่าวสารที่จะสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง, ควรอบรม สร้างทักษะในการเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤตให้กับประชาชน
สำหรับผู้ปกครอง ควรเตรียมความพร้อมทั้งทักษะ ความรู้ให้กับตนเองและเด็กในกรณีการป้องกันเหตุ ระหว่างเกิดเผชิญเหตุรุนแรง และการดูแลเด็กหลังเกิดเหตุ, ควรใส่ใจบุตรหลาน และแนะนำเด็กให้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ, ควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและเชื่อฟังคำเตือนจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ตัวเด็กเอง ควรเชื่อฟังผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่, ควรฝึกฝนเตรียมความพร้อมในการสังเกตวัตถุสิ่งของ การไม่ไปในที่ที่มีความเสี่ยง และการเอาตัวรอดเมื่อเผชิญเหตุ
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า เนื้อหาทั้งหมดในคู่มือฯ เป็นการเรียบเรียงองค์ความรู้ในลักษณะที่เป็นวิชาการ และส่วนใหญ่เป็นองค์ความรู้จากต่างประเทศ หรือที่เป็นสากล ไม่ได้แปรมาสู่ภาคปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีสภาพพื้นที่ สังคม ชุมชน และอัตลักษณ์เฉพาะตัว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เด็กๆ ชายแดนใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรง (แฟ้มภาพอิศรา)