เสรี สุวรรณภานนท์ :ประชามติอะไรทำได้-ไม่ได้
เขาผลิตเสื้อขึ้นมาขาย No ไม่รับ แค่ผลิตเสื้ออย่างเดียวไม่ผิด เพราะไม่ได้วุ่นวาย คนที่จะทำเสื้อ ขายเสื้อ ใส่เสื้อ ความผิดไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่ความผิดถ้าเกิดไปแสดงออกเพื่อก่อความวุ่นวาย ความผิดมันอยู่ตรงนั้น แต่ถ้าเราไปห้ามผลิตเสื้อ ประชาชนเสียโอกาส
มองอีกมุม "ประชามติ" อะไรทำได้-ไม่ได้ กับ "เสรี สุวรรณภานนท์" ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง (สปท.) กล่าวในเวทีราชดำเนินเสวนา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
ข้อกำหนด 6 ข้อทำได้ 8ข้อห้ามทำ
"ผมว่าหลักลงประชามตินั้น หลักสำคัญอยู่ในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ประชามติ ให้ความสำคัญ ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย เพราะฉะนั้นความสุจริตที่ว่าคือ ไม่มีผลประโยชน์อะไรแอบแฝง แสดงเจตนาเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม ไม่มุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดความเสียหายกับใคร
ส่วนที่ว่าไม่ขัดต่อกฎหมาย ก็ต้องไปดูอีกว่า มีอะไรบ้าง เพราะการไม่ขัดต่อกฎหมายไม่ใช่เฉพาะ กฎหมายประชามติเท่านั้น ต้องไปดูอย่างเช่น กฎหมายคอมพิวเตอร์ห้ามอะไรไว้บ้าง ไปดูว่าประกาศคสช.ห้ามอะไรไว้บ้าง
เพราะฉะนั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต ถ้าหากว่าเราให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ มันก็จะไม่ใช่แค่อะไรทำได้ 6 ข้อ หรืออะไรทำได้ 10 ข้อ เพราะพื้นฐานคือ ต้องทำได้ทุกเรือง ยกเว้นแต่ว่าเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหาย เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ก็ต้องไปดูทีละเรื่องไป ว่าแต่ละเรื่องกฎหมาย ห้ามอะไรไว้
และเพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยเเละสุจริต กกต.จึงมีหน้าที่รับผิดชอบออกกฎเกณฑ์เหล่านี้ การเสนอแนะของ กกต.เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นที่ต้องทำ อันนี้เห็นใจ การที่กกต.จะทำหน้าที่ตรงนี้ช่วงแรกๆ ประชาชนอาจเข้าใจไม่เข้าใจ อาจจะรู้ไม่รู้ และมีการกระทำหรือแสดงความเห็นต่างๆ เกิดขึ้น บางคนรู้แต่อยากลองของ บางคนรู้แต่อยากให้วุ่นวายก็มีการกระทำ แสดงอะไรออกมา กกต.ก็อยู่ในฐานะลำบาก เพราะว่าอยู่ในช่วงที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย
ถ้าอ่อนไปคนก็ไม่กลัว ถ้าแข็งก็จะถูกวิพากษ์ วิจารณ์ เช่น ทำไมต้องไปรีบดำเนินคดีกับประชาชนตั้งแต่แรก ทำไมไม่เตือนก่อนไม่อธิบายก่อนให้ตกผลึก เพราะฉะนั้น กกต.จึงอยู่ในฐานะลำบาก ไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้
ดังนั้น ภารกิจของ กกต. ที่จะให้คนออกมาลงคะแนนประชามติหรือมีการแสดงความเห็นอะไรต่างๆ กกต.ก็เลยเสนอข้อแนะนำ 6 ทำได้ 8 ข้อทำไม่ได้ ซึ่งกกต.สมชัยก็อาจจะกังวลอีก กลัวไม่ครบ ก็เลยไปเสนอความเห็น โพสในเฟซบุ๊คส่วนตัว ที่พยายามขยายเป็นสิบข้อ ผิดสิบข้อไม่ผิดสิบข้อ ตรงนี้ผมก็เป็นห่วงว่าแนวทางกกต. ควรคุยกันภายในให้ตกผลึก ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จะมา 6 ข้อบ้าง 10 ข้อบ้าง ประชาชนก็อาจจะทำผิดทำถูกได้ เข้าใจว่าสิบข้อจะเอามาอธิบายให้ละเอียด แต่ควรทำในแนวทางเดียวกันทั้งหมด จริงๆ เรื่องเดียวกัน แต่พออธิบายก็เริ่มงงว่า อันไหนถูกหรือผิดกันแน่ คนชาวบ้านที่ปฏิบัติสับสนได้"
พ.ร.บ.ประชามติ กฎหมายให้ความสำคัญในมาตรา 61
การที่นายสมชัย บอกว่า หลักการที่จะเขียนกฎหมายหรือการที่จะแนะนำหลักเกณฑ์อะไรต่างๆ ยิ่งอธิบายยิ่งเขียนให้มันละเอียดถี่ถ้วน ก็จะยิ่งแคบไปเรื่อยๆ ก็จะถูกจำกัดด้วยคำอธิบาย กฎหมายทั่วไปถ้าสังเกต ก็จะเห็นว่า ไม่ได้เขียนรายละเอียดมาก แต่จะวางหลักการสำคัญเอาไว้ แล้วค่อยไปตีความ ในมหาวิทยาลัยจึงต้องมีวิชา ตีความทางกฎหมาย แต่ในการตีความทางกฎหมาย เบื้องต้นก็ต้องดูว่า ข้อความทางกฎหมายเขียนไว้ว่าอย่างไร บางครั้งเขียนไว้ชัดเจน เราก็ไม่ต้องตีความอะไรมาก
ถ้ากฎหมายเขียนว่า ห้ามกระทำการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย หรือหยาบคาย ซึ่งสองคำนี้พอเขียนแล้วเป็นข้อกฎหมายทันที หยาบคายมันกว้างยิ่งกว่าดูหมิ่น หมิ่นประมาทเพราะคำว่าหยาบคาย ศาลฏีกาเคยตัดสินว่าเป็นคำไม่สุภาพ พอมากฎหมายประชามติหยาบคายเป็นเรื่องที่ผิดทันที
หยาบคายกว้าง บางทีหยาบคายไม่ได้มีแค่คำ เป็นรูปภาพก็หยาบคายได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เราควรอธิบาย แต่การอธิบายแล้วยิ่งไปเขียน ก็จะยิ่งไม่ครอบคลุม และก็จะยิ่งเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นดีที่สุด ให้ปัญหาน้อย
ถ้าสังเกตคำอธิบายกฎหมายจะยึดตัวบทเป็นหลัก ตัวบทกฎหมายทั้งมาตราและอนุมาตรา เพราะฉะนั้นการอธิบายในมาตรา 61 หรืออนุมาตราบางข้อ ถ้าตัวไหนชัดอยู่เเล้ว ก็ไม่ต้องอธิบายให้มาก แต่ถ้าคำไหนยังคลุมเครืออยู่ ไม่ชัดเจนก็มาอธิบายให้ชัดเจนว่า ม.61 นั้น มีเจตนาห้ามเรื่องนั่นนี่ ถ้าทำแล้วผิด ยกตัวอย่าง หรือถ้าทำอะไรได้ก็ใส่ไป ถ้าพูดเรื่องการเผยเเพร่ข่าวสารทางสื่อมวลชน หลักคือหนึ่งสื่อมวลชนทำได้ สองนักวิชาการเสนอความเห็นก็ทำได้ นี่คือที่ท่านอยากอธิบาย แต่ผมอยากให้ไปอยู่ในแต่อนุมาตรา คนก็จะไม่งงไม่สับสน เพราะแต่ละเรื่องมีหลักการของมันอยู่เเล้ว และส่วนไหนที่เป็นความผิดอย่างประชาชน ส่งไลน์ ส่งข้อความ เพราะตอนนี้จะกระทบมาก เพราะประชาชน ใช้อุปกรณ์เหล่านี้สื่อสารกัน บางคนยังไม่เข้าใจ ใครส่งมาก็ส่งต่อ แบบนี้เสี่ยงความผิดหากเรื่องนั้นเป็นเท็จ และถามว่าเขารู้ไหม กฎหมายไทยบอกว่า ไม่รู้กฎหมายแก้ตัวไม่ได้ แต่ชาวบ้านส่งมา ก็มองว่าเป็นข้อมูล เป็นข่าวสาร
นายเสรี เห็นว่า หลายครั้งที่เราส่งไลน์ไปแล้ว ก็จะมีคนมาท้วงว่าข้อมูลนี่จริงไหม ข้อมูลนี่ไม่ใช่ เราก็จะขอโทษไป แต่ในกฎหมายประชามติ ขอโทษแล้วมันไม่หาย มันกลายเป็นความผิดไปแล้ว และกลายเป็นหลักฐาน ดำเนินคดีความต่อไป อยากจะเรียนว่าความชัดเจนไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจ แต่มีความจำเป็นเพราะเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องอธิบาย"
ห้ามซื้อขายเสื้อรณรงค์
การใส่เสื้อแค่ YES กับ NO ก็มีปัญหา เพราะว่าYES กับ NO ไม่ได้มีข้อความอะไร อาจจะไม่ได้เกียวข้องกับเรื่องรัฐธรรมนูญก็ได้ ชาวบ้านใส่เสื่อ YES หรือ NO มากัน 20 คน จะเป็นการวินิจฉัยการรณรงค์เรืองรัฐธรรมนูญไหม ถ้าไม่ได้เขียนว่าเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือไม่เรื่องรัฐธรรมนูญ ถ้ากกต.วางหลักว่า YES ก็ผิด NO ก็ผิดแบบนี้ก็ยุ่งเหมือนกัน
เขาผลิตเสื้อขึ้นมาขาย No ไม่รับ แค่ผลิตเสื้ออย่างเดียวไม่ผิด เพราะไม่ได้วุ่นวาย คนที่จะทำเสื้อ ขายเสื้อ ใส่เสื้อ ความผิดไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่ความผิดถ้าเกิดไปแสดงออกเพื่อก่อความวุ่นวาย ความผิดอยู่ตรงนั้น
แต่ถ้าเราไปห้ามผลิตเสื้อ ประชาชนเสียโอกาส ประชาชนบอกเศรษฐกิจไม่ได้ ไม่ให้เขาผลิต รณรงค์ ร้านค้าขายไม่ได้ ใครอยากรับไม่รับมันอยู่ในใจอยู่เเล้ว ถ้าเกิดเขาอยากจะเอาความคิดความอ่านออกมาเเสดง ก็ไม่น่าจะเป็นความผิด แต่ถ้าใส่ไปแล้วไปปิดถนน ไปปลุกระดม ไปก่อความวุ่นวาย นั่นแหละคือความผิด
ถ้าหากดูประกอบเรื่องอื่น เช่นมีการไปปราศัย รณรงค์ และบอกให้รับไม่รับรัฐธรรมนูญ มีการกระทำประกอบเพื่อให้เห็นว่า การแสดงแบบนี้ มันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีหลักฐานในชัดเจน ที่บอกว่าห้ามรณรงค์ อยู่ตรงไหน เพราะว่าหลักกฎหมายคนที่จะกระทำความผิดในหลักอาญา รัฐธรรมนุญทุกฉบับรับรองว่า จะต้องเป็นการกระทำที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ หากไม่มีก็กฎหมายบัญญัติ จะไปลงโทษเขาไม่ได้
นี่คือหลักพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน แต่เราไปอธิบายหรือกำหนดว่า ห้ามรณรงค์ ผมเองอ่านแล้วก็ไม่เจอ หรือเป็นคำอธิบาย ก็ไม่แน่ใจว่าศาลจะว่าอย่างไร รณรงค์ ไม่ได้อยู่ในกฎหมายประชามติ แต่เราก็ไปพยายามตีความว่าห้ามรณรงค์ แบบนี้จะยุ่ง
ในกฎหมายบอกห้ามปลุกระดม เราก็ต้องไปบอกว่า ห้ามปลุกระดมคืออะไร ไม่ใช่ไปเขียนกันว่าห้ามรณรงค์ ความหมายไม่เหมือนกัน
เสนอแนะกกต.
พร้อมกันนี้ นายเสรี ได้เสนอแนะกกต. ควรที่จะต้องไม่สร้างความตึงเครียด ไม่ผิดธรรมชาติ หลักอยู่ในม. 7 ท่านให้เสรีภาพในการเสนอความเห็นทั้งหลาย สามารถทำได้ทุกเรื่อง พอกกต.ไปกำหนดว่าอะไรทำได้ 6 ข้อ 10 ข้อ เลยถูกตีวความว่าถ้านอกจากข้อเสนอนั้น เป็นความผิด ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมีมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นหลักการที่ทำได้เป็นธรรมชาติทั่วไป ทุกคนมีเสรีภาพอยากทำอะไรก็ทำไป อยากจะเสนอแนะ จะรณรงค์อะไรก็ทำไป แต่สิ่งที่ทำไม่ได้จะถูกจำกัดไว้ด้วยมาตรา 61 มี 7 อนุมาตรา อนุมาตราที่ 2 และ 7 เป็นหลักทั่วๆ ไป ที่ใช้ในกฎหมายเลือกตั้งที่ผ่านมาอยู่เเล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเสนอเงินทอง ทุจริต สินบน บังคับขู่เข็ญ ขัดขวางการส่งหีบอะไรต่างๆ เป็นหลักทั่วไป
สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในอนุมาตรา 7 หลักมาตรา 61 คือ ถ้าไปก่อความวุ่นวายไปเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นความเรียบร้อย หลักคือให้ทุกอย่างสงบ ก่อความวุ่นวายถูกขยายในวรรคที่สอง อธิบายว่า ถ้าผู้ใดเผยแพร่ภาพเสียงตามหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัสน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง ถ้าสื่อมวลชนนำเสนอข้อเท็จจริง จะถูกผิดไม่รู้ แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏแบบนั้นก็ไม่ผิด ฉะนั้นต้องอธิบายให้ชัดๆ ว่าสื่อมวลชนก็ทำหน้าของท่านไป ท่านรับข้อมูลอะไรมา ท่านไปต่อเติมเปลี่ยนแปลง ไปเพิ่มอะไรที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ถึงแม้ว่าจะไม่จริงก็ตาม แต่ไปรับข้อมูลมาเผยแพร่ สื่อก็ไม่ผิด "อย่างนี้ ผมไม่รู้ว่า กกต.คิดเหมือนผมหรือไม่ ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องชัดเจนว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ ที่ทำไม่ได้ ต้องตีความอย่างแคบ "
ช่วงนี้ประชาชนอาจจะอึดอัดหน่อย เขาชี้ว่า แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ที่ผ่านมาเราเคยแสดงอะไรออกไปทั้งความรุนแรง คำหยาบคาย มีทั้งปลุกระดม มากมายก่อให้เกิดความวุ่นวายชัดเจน การกำหนดแบบนี้ ในแง่ดี เราอาจจะสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีได้ ก็คือต่อไปเราจะพูดถึงเหตุและผล โดยไม่ต้องใช้อารมณ์ ไม่ต้องใช้คำหยาบ ด่าทอกันจนเกิดความเกลียดชัง ถ้าเรามองมุมที่ดี โอกาสที่การเมืองจะพัฒนาก็อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่มันอาจจะอึดอัดหน่อย
"ยิ่งปิดกั้นก็กลายเป็นความตึงเครียด ทำให้คนเกลียดรัฐธรรมนูญแต่ต้นไปแล้ว ไม่ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน และสามารถเป็นไปโดยธรรมชาติ ในเมื่อเราจะให้ประชาชนมาลงมารับหรือไม่รับ พอไปปิดกั้นตอนนี้เสียหมด กลายเป็นทั้งๆ ที่เราอยากไปรัฐธรรมนูญสักฉบับหนึ่ง แต่เราไปสร้างความเกลียดชังรัฐธรรมนุญตั้งแต่แรกเสียเเล้ว หลักการสำคัญเราทำความกระจ่าง รัฐธรรมนูญจะลงมติแล้ว ไม่ใช่มุ่งไปสู่การเข้าคุกเข้าตาราง ให้มุ่งไปสู่หลักการสำคัญของประเทศ ไม่ใช่ออกไปด้วยความหวาดกลัว "