ความตกลง TPP กับผลกระทบต่อภาคเกษตรไทย
หมายเหตุ:สรุปข้อมูล ข้อคิดเห็นผลกระทบที่จะมีต่อเกษตรกร ภาคเกษตรกรรม และที่เกี่ยวข้อง หากไทยเข้าเป็นสมาชิกความตกลง TPP จากเวทีเสวนา เรื่อง "ความตกลง TPP กับอนาคตเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมไทย" ณ ห้องประชุม 704 อาคารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เข้ายื่นเอกสารข้อสรุปจากเวทีเสวนา เรื่อง ความตกลง TPP กับอนาคตเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมไทย ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) และนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รมว.พณ.)
โดยข้อสรุปทั้งหมดรวบรวมจากผู้แทนภาครัฐ เอกชน เกษตรกร นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ จากสถาบันการศึกษา และองค์กรสาธารณะประโยชน์ ว่าหากไทยเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership:TPP) จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร ภาคเกษตรกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร ผู้บริโภค และอธิปไตยของประเทศ จนทำให้ประเทศสูญเสียมหาศาล ดังรายละเอียด ดังต่อไปนี้
1. ผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์
เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและไก่ จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากเกษตรกรไทยมีต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ สูงกว่าเกษตรกรในสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก เช่น กรณีของการเลี้ยงไก่ เกษตรกรไทยมีต้นทุนการเลี้ยงไก่ โดยเฉลี่ยมากกว่า 35 บาท ต่อกิโลกรัม เปรียบเทียบกับเกษตรกรของสหรัฐอเมริกามีต้นทุนการเลี้ยงไก่เพียงประมาณ 23 บาท ต่อกิโลกรัม การเข้าเป็นสมาชิกความตกลง TPP จะทำให้เนื้อสัตว์จากสหรัฐอเมริกา ทั้งเนื้อสุกรและไก่ รวมถึงชิ้นส่วนที่เป็นเครื่องใน และเศษเหลืออื่นๆ เช่น ส่วนหัวและขา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของผลผลิตสุกรและไก่ ไม่เป็นที่นิยมบริโภคในสหรัฐอเมริกา แต่ก่อนเคยถูกนำไปทำลายทิ้ง จะถูกส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยในราคาถูก
จนในท้ายที่สุดเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและไก่ของไทย โดยเฉพาะที่เป็นเกษตรกรรายย่อยจะอยู่ไม่ได้ ต้องล้มเลิกอาชีพในที่สุด และเมื่อถึงเวลานั้น นอกจากจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อทั้งเกษตรผู้เลี้ยงสัตว์ เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ ชาวประมง และธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเลี้ยงปศุสัตว์ ผู้บริโภคซึ่งในช่วงแรกได้รับประโยชน์จากการได้บริโภคเนื้อสัตว์นำเข้าราคาถูก ก็จะต้องซื้อหาเนื้อสัตว์ในระดับราคาที่สูงขึ้น และเริ่มมีความเสี่ยง จากความไม่แน่นอนทั้งด้านปริมาณและราคาที่นำเข้า จากการต้องพึ่งพาการนำเข้าเนื้อสัตว์เพียงอย่างเดียว ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอาหารของคนในชาติ ซึ่งเริ่มปรากฏให้เห็นผลกระทบดังกล่าว ในกรณีของเวียดนามและฟิลิปปินส์
โดยการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง TPP จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรประมาณ 190,000 ครอบครัว ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 95 เป็นเกษตรกรรายย่อย เลี้ยงสุกรรายละไม่เกิน 50 ตัว และจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ประมาณ 32,000 ครอบครัว โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไม่เกินรายละ 10,000 ตัว คิดเป็นประมาณร้อยละ 90.4 ของผู้เลี้ยงไก่ทั้งหมด
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีบทเรียนในภาคปศุสัตว์ เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้ว จากการเปิดเสรีการค้า (FTA) กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งปัจจุบันได้มีการลดอัตราภาษีนำเข้าเนื้อสัตว์จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เหลือเพียงร้อยละ 10 และจะลดเป็นศูนย์ในอนาคตอันใกล้ โดยได้มีการนำเข้าเนื้อวัวจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าเกษตรกรไทย เข้ามาจำหน่ายในราคาถูก แข่งขันกับเนื้อวัวภายในประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการเลี้ยงวัวเนื้อในประเทศไทย ซึ่งเคยมีปริมาณสูงถึงประมาณ 9 ล้านตัว ปัจจุบันลดลงเหลือเพียงประมาณ 5 ล้านตัว เท่านั้น และกรณีของเกษตรกร ผู้เลี้ยงวัวนม ก็ได้รับผลกระทบในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน
2. ผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด และมันสำปะหลัง
จากข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในสหรัฐอเมริกา เช่น กรณี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดรายใหญ่ของโลก มีราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ตลาดชิคาโก ในวันที่ 27 เมษายน 2559 เพียง 5.8 บาท ต่อกิโลกรัม เปรียบเทียบกับราคารับซื้อข้าวโพดในประเทศไทยที่มีราคาสูงถึง 8.15-8.35 บาท ต่อกิโลกรัม จึงเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าหากเข้าเป็นสมาชิกความตกลง TPP เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่า 410,000 ครอบครัว จะได้รับผลกระทบต้องเลิกปลูกข้าวโพด โดยอาจมีอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และผู้เลี้ยงไก่เนื้อรายใหญ่เพียงไม่กี่บริษัทที่จะได้รับประโยชน์จากวัตถุดิบอาหารสัตว์นำเข้าราคาถูก
นอกจากผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ข้างต้น เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมากกว่า 470,000 ครอบครัว ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน หากมีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ลดลง
3.ผลกระทบต่อทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับพันธุ์พืช ทรัพยากรชีวภาพ และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
ตามความตกลง TPP ข้อบทที่ 18 ว่าด้วย “ทรัพย์สินทางปัญญา” ข้อ 18.7 ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิก TPP ต้องให้การรับรอง หรือเข้าเป็นสมาชิกของสนธิสัญญา อนุสัญญา พิธีสารระหว่างประเทศ อีก 9 ฉบับ โดยมี “อนุสัญญายูพอฟ 1991” และ “สนธิสัญญาบูดาเปสต์” เป็นสนธิสัญญา/อนุสัญญา 2 ใน 9 ฉบับ ที่ต้องให้การรับรอง หรือเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งจะมีผลให้ประเทศไทยต้องยอมรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา จะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อเกษตรกร ภาคเกษตรกรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนี้
(1) จะต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญายูพอฟ 1991 อาทิ จะต้องขยายระยะเวลาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (จากเดิม 12-27 ปี เป็นตั้งแต่ 20-25 ปี ขึ้นไป) ขยายสิทธิในการคุ้มครองจากส่วนขยายพันธุ์ ไปยังผลผลิต และผลิตภัณฑ์ คุ้มครองอนุพันธ์ของพันธุ์พืชใหม่ (EDV) เพิ่มเงื่อนไขห้ามเกษตรกรเก็บรักษาพันธุ์พืชเพื่อนำไปปลูกต่อ และตัดกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพให้กับชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของฐานพันธุกรรม เป็นต้น
(2) “จะจำกัดสิทธิของเกษตรกร” ที่ได้รับการยอมรับโดยอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) และสนธิสัญญาพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร(International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agriculture: ITPGRFA) บั่นทอนความสามารถในการพึ่งตนเองของเกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง อยู่ในฐานะต้องพึ่งพาพันธุ์ของนักปรับปรุงพันธุ์ และธุรกิจการเกษตรที่เป็นเจ้าของพันธุ์ อาทิ การลดทอนสิทธิของเกษตรกรที่จะปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ของตนเอง และเก็บพันธุ์ไว้ใช้ปลูกในรอบการผลิตถัดไป หรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน ชุมชนเกษตรกรรมอื่น ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรและชุมชนที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืช ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ
(3) มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ด้วยวิธีการตัดต่อพันธุกรรมเป็นพืช “จีเอ็มโอ” เนื่องจากไม่ได้มีการบัญญัติวิธีการปรับปรุงพันธุ์พืชไว้ในอนุสัญญายูพอฟ 1991 ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ชัดเจนในผลดี ผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากพืชจีเอ็มโอ ซึ่งหากเกิดสถานการณ์ของการผูกขาดด้านพันธุ์พืช และพันธุ์พืชที่ปรับปรุงพัฒนาเป็นพันธุ์พืชจีเอ็มโอ จะนำไปสู่สถานการณ์ที่เป็นวิกฤต หากเกิดขึ้นแล้วยากที่จะฟื้นฟูกลับคืนสู่สภาพการณ์เดิม พันธุ์พืชพื้นเมืองจะหายไป ถูกแทนที่ด้วยพันธุ์พืชจีเอ็มโอที่เกษตรกรต้องพึ่งพาและซื้อหาราคาแพงในทุกรอบการผลิต กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และอาจรวมถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสัตว์
(4) จากบทบัญญัติในอนุสัญญายูพอฟ 1991 และสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งให้ถือปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสนธิสัญญา/อนุสัญญาดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่ได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการเคารพต่อสิทธิของชุมชนท้องถิ่นผู้เป็นเจ้าของฐานทรัพยากร จะมีผลให้ผู้ที่นำพันธุ์พืช หรือจุลินทรีย์จากพื้นที่ชุมชนต่างๆ ไปจดทะเบียนรับการคุ้มครองสิทธิ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต หรือจ่ายค่าตอบแทนแทนให้กับชุมชนท้องถิ่น ผู้เป็นเจ้าของฐานทรัพยากรดังกล่าวแต่อย่างใด อันเป็นลักษณะของ “โจรสลัดทางชีวภาพ” และเป็นการยกเว้นข้อกำหนดของสนธิสัญญา อนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้วางหลักการและวิธีปฏิบัติที่จะสร้างความเป็นธรรมในการผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน
โดยมีผลยกเว้นข้อกำหนดตาม มาตรา 9 ข้อ 9.2 ของสนธิสัญญาพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agriculture) ที่ได้ให้การคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรในภูมิปัญญาดั้งเดิม ในการร่วมแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม และการร่วมตัดสินใจในการอนุรักษ์ ใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตรอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีผลยกเว้นข้อกำหนดตาม มาตรา 8 (c) ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) ที่ได้กำหนดให้แต่ละประเทศสมาชิก ต้องจัดให้มีมาตรการที่จะเป็นหลักประกันการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช
(5) จากนิยาม “จุลินทรีย์” ที่เปิดกว้างในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ จะก่อให้เกิดการขยายการจดสิทธิบัตรในจุลินทรีย์ (Microorganisms) อย่างกว้างขวาง จนกระทั่งอาจนำไปสู่การจดสิทธิบัตรยีนส์มนุษย์ เกิดสิทธิเหนือร่างกายและชีวิตของบุคคลอื่น หากมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน จะก่อให้เกิดปัญหาเชิงจริยธรรม ขัดต่อ มาตรา 4 ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ทั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากต่างชาติ ซึ่งมีศักยภาพความพร้อมสูง สามารถจดสิทธิบัตรยีนส์จากพันธุ์พืชและสมุนไพรต่างๆ ของประเทศไทยได้โดยง่าย เกิดการเข้ายึดครองและผูกขาดทรัพยากรพันธุ์พืชและจุลินทรีย์ของประเทศไทย ลดทอนโอกาสของเกษตรกร นักวิจัยไทย ในการพัฒนาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
(6) การยอมรับให้มีการคุ้มครองพันธุ์พืช โดยใช้เครื่องหมายการค้าเพื่อคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จะส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองผลิตภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ดังกรณีที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งบริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในผลิตภัณฑ์ข้าวที่อ้างว่าเป็นข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย
ทั้งนี้ ตามรายงานการศึกษาวิจัยที่สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการต้องยอมรับระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว ดังนี้
(1) เกษตรกร ซึ่งโดยส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกรรายย่อยผู้ยากจน จะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาที่แพงขึ้น มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินควร จากการขาดทางเลือกและอำนาจการต่อรองในระบบการผูกขาดดังกล่าว โดยจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิม 28,542 ล้านบาท ต่อปี สูงขึ้นเป็น 80,721-142,932 ล้านบาท ต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 52,179-114,390 ล้านบาท ต่อปี
(2) ชุมชน ประเทศชาติ จะสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ที่ถูกนำไปจดทะเบียนคุ้มครองสิทธิ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10,740–48,928 ล้านบาท ต่อปี
(3) ประเทศจะสูญเสียผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ จากการถูกกีดกันการพัฒนายาสมัยใหม่ที่ผลิตจากสมุนไพร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 59,798 ล้านบาท ต่อปี
รวมมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 122,717-223,116 ล้านบาท ต่อปี โดยยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และการสูญเสียอธิปไตยเหนือทรัพยากรของประเทศ ซึ่งไม่อาจประเมินมูลค่าได้
4. ผลกระทบจากการเปิดเสรีสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพ (จีเอ็มโอ)
ตามความตกลง TPP ข้อบทที่ 2 ว่าด้วยการปฏิบัติของชาติและการเปิดตลาดสำหรับการค้าสินค้า ข้อ 2.29 ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องขจัดอุปสรรคทางการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องการเปิดเสรีการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ โดยได้กำหนดขั้นตอนเพื่อดำเนินการในกรณีเกิดการปนเปื้อนของจีเอ็มโอในผลิตภัณฑ์ เรียกว่า “low level presence (LLP)” ไว้ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศ ตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety)ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศต่างๆ ในโลกล้วนเป็นภาคีสมาชิก ยกเว้น สหรัฐอเมริกา
จากบทบัญญัติดังกล่าว ประเทศที่เข้าร่วมความตกลง TPP จะถูกกดดันให้ต้องยอมรับสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพ มิฉะนั้น อาจจะถูกฟ้องร้องได้ ตาม “TPPA’s dispute settlement procedures” โดยแม้ประเทศที่มิได้เป็นประเทศเจ้าของเทคโนโลยี หรือมิได้ทำการผลิตสินค้าจีเอ็มโอ เช่น ประเทศไทย ก็ยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความตกลงนี้ จะถูกกดดันให้ต้องยอมรับผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนทางพันธุกรรม สินค้าดัดแปลงพันธุกรรม และอาจรวมถึงต้องยอมรับการปลูกพืชจีเอ็มโอในอนาคต
5. ผลกระทบต่อการที่อาจจะต้องถูกฟ้องร้องจากนักลงทุน
การยอมรับกลไกการคุ้มครองนักลงทุน (SDS) ตามความตกลง TPP จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ ในกรณีที่มีการดำเนินนโยบายที่ถูกตีความว่าเป็นการขัดขวางการลงทุน หรือส่งผลกระทบต่อรายได้ผลตอบแทน และการดำเนินงานของบริษัท เช่น หากรัฐบาลผลิตเมล็ดพันธุ์แจกจ่าย หรือจำหน่ายเกษตรกรในราคาถูก จนส่งผลกระทบต่อยอดขายเมล็ดพันธุ์ของบริษัทที่เข้ามาลงทุน หรือรัฐบาลออกกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพที่ถูกตีความว่าสร้างผลกระทบต่อการนำเข้าพืชจีเอ็มโอ เพื่อมาปลูกในประเทศ เป็นต้น
โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องรัฐบาลผ่านกลไก “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” ซึ่งจากการศึกษาพบว่าอนุญาโตตุลาการที่พิจารณาและตัดสินข้อพิพาทมักจะเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรืออยู่ในคณะกรรมการบริหารของบริษัทเอกชน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อนุญาโตตุลาการดังกล่าว จะโน้มเอียงปฏิบัติหน้าที่เอื้อประโยชน์ หรือปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนมากกว่าที่จะพิจารณาข้อพิพาทด้วยความเป็นอิสระ เป็นกลาง โดยเที่ยงธรรม
ข้อเสนอต่อการจะเข้าเป็นสมาชิกความตกลง TPP
สภาเกษตรกรแห่งชาติ และหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร ผู้บริโภค และนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้เข้าร่วมการสัมมนา ได้พิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริง ต่อการที่รัฐบาลมีท่าทีจะเข้าเป็นสมาชิกความตกลง TPP แล้ว มีความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และโดยส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกรรายย่อยผู้ยากจน ขาดศักยภาพความพร้อม และอำนาจการต่อรอง รวมทั้งจะมีผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมโดยรวม ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงอาหาร ผู้บริโภค และอธิปไตยของประเทศ ดังเหตุผลประการต่างๆ ข้างต้น ซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตของเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมไทย ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้ว จะเป็นเรื่องยากมากที่จะฟื้นฟูเยียวยาให้กลับคืนสู่สภาพการณ์เดิม
จึงมีความเห็นพ้องต้องกัน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้พิจารณาการจะเข้าเป็นสมาชิกความตกลง TPP ด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกร ภาคเกษตรกรรม และที่เกี่ยวเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่ อันเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศไทย นับแต่สร้างชาติจวบจนถึงปัจจุบัน
โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น เพื่อพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ขอให้เปิดเผยผลการศึกษาที่รัฐบาลได้ดำเนินการว่าจ้างศึกษาวิจัยเพื่อประเมินความเหมาะสมในการจะเข้าเป็นสมาชิกความตกลง TPP โดยละเอียด เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่างๆ ได้มีโอกาสร่วมพิจารณากลั่นกรองอย่างรอบคอบ และมีการพิจารณาเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้มากที่สุด ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วม หรือไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง TPP
2. ขอให้มีการพิจารณาศึกษาความเหมาะสมเป็นไปได้ในการเลือกยุทธศาสตร์การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับเขตเศรษฐกิจในกรอบทางภูมิรัฐศาสตร์ของการรวมกลุ่มเขตเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10ประเทศ กับคู่ภาคีอีก 6 ประเทศ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ซึ่งรู้จักกันในนามของ “กรอบความร่วมมือ RCEP” แทนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงTPP แต่จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบในการเข้าร่วมในเขตเศรษฐกิจดังกล่าว ด้วยแม้จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมไทยในหลายสาขา แต่ก็อาจจะมีผลกระทบเชิงลบเช่นกัน เช่น ผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนทำการผลิตทางการเกษตร และการค้าสินค้าการเกษตรแข่งขันกับเกษตรกร ผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่จากต่างชาติ เป็นต้น
3. ขอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ใช้โอกาสนี้ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยอย่างเข้มแข็งจริงจังต่อเนื่อง เพื่อมีความพร้อมสามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในอนาคตได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะมีการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุน หรือการเข้าร่วมเขตเศรษฐกิจอื่นใดในอนาคตอีก อาทิ การเร่งพัฒนาหาวิธีการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลิตภาพการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการการผลิตและกระจายผลผลิต สร้างทางเลือกการพัฒนาเกษตรกรรมไปสู่การผลิตพืชที่เน้นคุณภาพ เป็นอาหารคุณภาพและอาหารที่เป็นยา ผลักดันเกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆ
ยกระดับการพัฒนาเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมของไทย จากเกษตรกรที่ทำการผลิตทางการเกษตรแล้วขายผลผลิตในรูปวัตถุดิบราคาต่ำ เป็นผู้ประกอบการทางการเกษตรที่ทำการผลิตทางการเกษตรแล้วสามารถแปรรูปเพิ่มมูลค่า และจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาและรายได้ผลตอบแทนสูงขึ้น เป็นระบบเกษตรอุตสาหกรรมที่มีการบริหารจัดการครบวงจร ตั้งแต่การผลิต จนถึงการแปรรูป และการตลาด ตลอดจนรีบเร่งดำเนินการพัฒนากฎหมาย และนโยบายที่มีจุดยืนในการปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศ .