'ทพ.กฤษดา' แจงทุกปม โผล่ชื่อถูก ป.ป.ช.สอบคดีเช็คหาย ช่วงนั่งเก้าอี้ ผจก.สสส.
'ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัช' แจงทุกปม หลังโผล่ชื่อ เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ถูกป.ป.ช.สอบ คดีเช็ค หาย ช่วงดำรงตำแหน่ง ผจก.สสส. ยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แถมตามเงินคืนมาได้ครบ - ไม่มีผลกระทบเงื่อนไขนั่งเก้าอี้ ผอ.ไทยพีบีเอส-กฤษฎีกาชี้ ลงโทษจนท.ที่พ้นตำแหน่งไปแล้วไม่ได้ แต่ตามเอาผิดอาญา-แพ่งได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทำความผิดวินัยร้ายแรง กรณีเช็ค สสส.สูญหาย และมีการนำไปขึ้นเงินเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2554 ทำให้เงินของ สสส.ขาดบัญชี ตามรายงานผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาหรือสงสัยว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงได้พ้นสภาพความเป็นเจ้าหน้าที่ด้วยเหตุได้รับอนุญาตให้ลาออกเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2554 ไปแล้ว สสส.จึงต้องการรับทราบว่า คณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัยร้ายแรงจะสามารถดำเนินการสอบสวนทางวินัยกับบุคคลดังกล่าวต่อไป ตามข้อ 41 ของระเบียบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ว่าด้วยการสอบสวนทางวินัย พ.ศ.2557 ได้หรือไม่ เพียงใด
เบื้องต้น คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 10 ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง และมีความเห็นว่า ในการพิจารณาโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาและอนุญาตให้ลาออกไปแล้ว จะสามารถกระทำได้เพียงใดและอย่างไรย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หรือ ข้อบังคับว่าด้วยการบริหารบุคคลของ สสส. แต่เมื่อไม่มีกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของ สสส. ที่ให้อำนาจในการดำเนินการทางวินัยและลงโทษเจ้าหน้าที่พ้นจากความเป็นเจ้าหน้าที่ไปแล้ว สสส.จึงไม่อาจดำเนินการทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ที่พ้นจากความเป็นเจ้าหน้าที่ได้
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าการนำเช็คของ สสส.ที่สูญหายไปขึ้นเงิน เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สสส. ย่อมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ในความผิดส่วนที่เกี่ยวข้องหากคดียังไม่ขาดอายุความ
คณะกรรมการกฤษฎีกา ยังมีข้อสังเกตว่า ปัญหาตามข้อหารือนี้ เกิดจากกรณีที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่กลับมิได้ดำเนินการใดๆ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่กระทำความผิดลาออก ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้ที่ดังกล่าวได้ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ สสส. ขณะที่ สสส.มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น มาตรฐานในการดำเนินการทางวินัยของ สสส. จึงไม่ควรต่ำกว่ามาตรฐานการดำเนินการทางวินัยของราชการ ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับในส่วนที่เกี่ยวข้องใหม่ ให้สามารถดำเนินการทางวินัยและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ไปแล้วในทำนองเดียวกับกฎหมายของข้าราชการ ที่มีบทบัญญัติให้ดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการที่พ้นจากราชการไปแล้วได้เช่นเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบยังพบว่า ในเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่สถานะคดีกล่าวหา ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการ สสส. กับ นางสาวอรปรียา วสุมหันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน นางสาวสุดาสวรรค์ เอ็นดู เลขานุการผู้บริหาร สสส. และนางสาวลักษณ์ ปรีชา แม่บ้าน สสส. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในเรื่องที่ สตง.ได้ตรวจสอบกรณีเช็คของ สสส. เล่มที่ 20 เช็คเลขที่ 0291301 - 0291320 สูญหาย และมีการนำเช็คเลขที่ 0291313 และ 0291319 ไปขึ้นเงิน เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 54 รวมเป็นเงิน 1,342,940 บาท
โดยระบุว่านายแพทย์กฤษดา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ละเว้นไม่ดำเนินการตามกฎหมาย กับนางสาวสุดาสวรรค์ เอ็นดู เลขานุการผู้บริหาร สสส. และนางสาวลักษณ์ ปรีชา แม่บ้าน สสส. ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3, 4 กรณีร่วมกันนำเช็คเลขที่สูญหาย ไปเบิกเงินจากบัญชี จำนวน 1,342,940 บาท โดยไม่มีอำนาจ
ขณะที่นางสาวอรปรียา วสุมหันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไม่ตรวจสอบความถูกต้อง ในการจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นเงิน 594,300 บาท และมีผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นผู้อนุมัติ ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ
โดย ป.ป.ช. รับเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเป็นทางการ ช่วงต้นปี 2558 สถานะคดีล่าสุด อยู่ระหว่างแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนการให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบ และใช้สิทธิคัดค้านรายชื่อคณะอนุกรรมการไต่สวน
ขณะที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการ สสส. ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผอ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ไทยพีบีเอส ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า กรณีเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงหลังจากที่ตนรับตำแหน่ง ผจก.สสส. ได้ประมาณปีเศษ ซึ่งก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน พบว่าเป็นกรณีที่มีการนำเช็คเปล่า ไปปลอมลายมือชื่อของผู้มีอำนาจ เพื่อไปเบิกเงินกับธนาคาร เมื่อพบว่ามีเงินหายไป ก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน จนพบว่าแม่บ้านเป็นคนนำเช็คไปขึ้นเงิน ซึ่งแม่บ้านก็มีการซัดทอดไปยังบุคคลคนหนึ่ง แต่บุคคลดังกล่าวไม่ยอมรับ และไม่มีหลักฐานดำเนินการเอาผิด คณะกรรมการสอบสวน จึงประกาศว่าหากมีการนำเงินมาคืนจะยุติเรื่อง ซึ่งก็มีการโอนเงินจากข้างนอกมาเข้าบัญชีสสส.จนครบ จากนั้นคณะกรรมการก็เสนอเรื่องให้ยุติ
ทพ.กฤษดา ยังระบุต่อไปว่า ต่อมา เมื่อสตง.เข้ามาตรวจสอบการเงิน พร้อมเสนอให้บอร์ด สสส.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน ขณะเดียวกันก็เสนอไปยังปปช.ด้วย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการที่ สสส.ตั้งขึ้นมาสอบสวน ได้ยืนยันผลการตรวจสอบว่า ตนไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในเรื่องนี้ แต่ก็ให้มีการดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ 3 คน ซึ่งก็มีบางคนได้ลาออกไป จึงเกิดปัญหาว่า จะดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่ลาออกไปได้อย่างไร จึงมีการไปหารือข้อกฎหมายกับกฤษฎีกาตามที่ปรากฎเป็นข่าว
ทพ.กฤษดา ระบุต่อว่า ขณะเดียวกัน ทาง ป.ป.ช. ก็ได้แจ้งให้ตนทราบว่าได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาตรวจสอบ และตนก็เพิ่งไปรับทราบข้อกล่าวหาในช่วงต้นปี 2559 ที่ผ่านมา และได้ยืนยันกับคณะอนุกรรมการป.ป.ช.ไปว่า ข้อมูลที่สตง.แจ้งมาไม่ถูกต้อง ขณะที่เกิดเหตุการณ์ตนเองไม่ทราบเรื่องด้วย และเป็นผู้ที่ดำเนินการติดตามเงินกลับคืนมาให้ สสส.จนครบถ้วน และพร้อมที่จะนำเอกสารหลักฐาน รวมถึงผลสอบของ สสส.เข้าชี้แจงกับ ป.ป.ช. ต่อไป
ส่วนปัญหาทางคดีที่อาจเกิดขึ้นกับกระบวนการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส นั้น ทพ.กฤษดา ชี้แจงว่า ในช่วงที่เข้าสมัครเป็นผอ.ไทยพีบีเอส เพิ่งได้รับหนังสือเรื่องการแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา ขณะที่เอกสารใบสมัครระบุแต่เพียงแค่ว่า ผู้สมัครจะต้องไม่มีปัญหาคดีที่ฟ้องร้องศาล หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล แต่คดีนี้ยังไม่ได้รับทราบข้อกล่าวหาจาก ป.ป.ช.ด้วย กระบวนการสรรหาผอ.ไทยพีบีเอส ของตนจึงไม่มีผลกระทบอะไรต่อคดีนี้