ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ:ทุกข์ชาวบ้าน ไม่ถูกนำเสนอใน พท.สาธารณะ?
สื่อต้องตั้งคำถาม ถึงทิศทางการพัฒนาเหล่านี้ นอกจากจะเปิดวงล้อมพื้นที่สื่อสารให้ชาวบ้าน ปัญหาของคนชายขอบ เราต้องตั้งคำถามให้มากขึ้น
วันที่ 3 พฤษภาคม 2559 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเวทีเสวนา “เสรีภาพสื่อ ประชาชนได้อะไร” เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) ณ ห้องประชุมอิศราอมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวถึงการทำรัฐประหาร คนที่เดือดร้อนที่สุดคือคนในชนบท ส่วนคนที่อยู่ส่วนกลาง คนกรุงเทฯ อาจจะดีใจที่สถานการณ์สงบไม่มีประท้วง ไม่มีภาพความขัดเเย้ง แต่ถ้าไปดูที่ชนบทเกือบทุกทั่วหัวระแหง ชาวบ้านลำบากมาก ชาวบ้านอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว ไม่ใช่แค่ที่เชียงของ จ.เชียงราย หรือบำเน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ แต่เป็นทุกที่ ทั้งที่แม่สอด มุกดาหาร นครพนม หนองคาย สกลนคร อีสานเกือบทั้งหมด ที่จะมีการขุดเจาะก๊าซ ทำเหมืองแร่โปรแตส หรือกรณีเหมืองแร่เมืองเลย
สิ่งที่ชาวบ้านเผชิญคือการที่เขาถูกปิดล้อม และการปิดล้อมที่สำคัญคือ การปิดล้อมข้อมูลข่าวสาร แปลว่า ข่าวสารความทุกข์ของชาวบ้าน ถูกปิดกั้นไม่ให้ถูกนำเเสนอ ในพื้นที่สาธารณะ ประเด็นของชาวบ้านก็ไม่ได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะ แต่เป็นประเด็นเฉพาะพื้นที่เล็กๆ ไป
เรื่องการขุดเจาะก๊าซในอีสานเช่น นามูล ไม่ใช่ปัญหาของชาวนามูล เท่านั้น แต่คือปัญหาของภาคอีสานทั้งหมด ซึ่งมีลักษณะเหมือนเป็นอาณานิคม รัฐจะไปทำอะไรก็ได้ ขุดเจาะก๊าซ คนป่วย ปากเบี้ยว ก็ไม่ต้องสนใจ เดินขบวน ชุมนุมประท้วงก็ไม่ได้
"ผมลงพื้นที่หนองคาย พบว่า ชาวบ้านกลัวมากที่จะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เป็นระยะ5+1 เดิมไม่ได้อยู่ในระยะแรก ก็เร่งให้เป็นระยะแรกขึ้นมา ป่าชุมชน 600กว่าไร่ ถูกยึดไปเลย คนที่ทำมาหากินอยู่แทบนั้น คนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทุกข์ยากมาก"
เสรีภาพในการแสดงออกที่หายไป
ดร.ไชยณรงค์ เล่าถึงความอึดอัดเกิดขึ้นจากการที่รัฐห้ามชาวบ้านแสดงสิทธิของเขา แสดงความต้องการ แสดงเจตนารมณ์ว่าไม่อยากให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย แต่รัฐกลับปล่อยให้ทุน ทำอะไรก็ได้
ล่าสุดเช่นที่สกลนคร อำเภอวานรนิวาส ชาวบ้านขึ้นป้ายไม่เอาเหมืองโปรแตส ก็ถูกเจ้าหน้าที่ปลดป้าย แต่เหมืองก็เดินหน้าต่อไป จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ต่อไป ซึ่งไม่ยุติธรรม เรื่องเหล่านี้นั้น ถ้าเราไปค้นตามเว็บไซต์ข่าว พบว่า แทบจะไม่มีพื้นที่ข่าว ที่เสนอในเรื่องราวเหล่านี้
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และมาจนถึงปัจจุบันนี้ สิ่งที่คิดว่า สังคม รวมถึงสื่อมวลชน จะต้องตั้งคำถามให้มากที่สุดก็คือว่า การพัฒนาประเทศในปัจจุบัน เรากำลังไปในทางใด
"ผมคิดว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคเสรีนิยมใหม่ ยุคเสรีนิยมใหม่ (บางคนอาจใช้คำว่า โลกาภิวัฒน์ แต่อย่างไรก็ดีคำนี้ไม่ครอบคลุมเรื่องการแย่งชิงทรัพยากร)"
ไทยกำลังเข้าสู่ยุค เสรีนิยมใหม่
ดร.ไชยณรงค์ อธิบายว่า ในยุคเสรีนิยมใหม่นั้น การจัดสรรความมั่นคงด้านทรัพยากร รัฐ จะเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนมากกว่าคนจน แล้วมันเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในกรอบความร่วมมือต่าง เรามีโครงการมากมายผุดขึ้นโรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองโปรแตส รถไฟความเร็วสูง เรื่องแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า นี่คือปรากฏการณ์เสรีนิยมใหม่ ส่งผลให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรไปให้กับคนรวยมากกว่าคนจน มีการแย่งชิงทรัพยากรจากมวลชน ลักษณะการเอื้อประโยชน์อย่างนี้ก็เพื่อให้ทุนสะสมทุนได้มากขึ้น
"ผมคิดว่า สังคมไทยรวมทั้งสื่อมวลชน ไม่ได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ชายแดน มันแปลว่าอะไร คือการพัฒนาประเทศจริงหรือไม่ หรือแปลว่า รัฐไปแย่งทรัพยากรจากคนท้องถิ่นที่มีอยู่เเล้ว เพื่อเอื้อให้กับนายทุน ไม่ว่าจะเป็นทุนชาติ หรือข้ามชาติก็ตาม รถไฟฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมทั่วภูมิภาค แปลว่าอะไร เป็นสาธารณูปโภค หรือเป็นการเอื้อให้ทุนสะสมทุนได้เร็วขึ้น"
ผมคิดว่า ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ สื่อเองต้องทะลวงตั้งแต่การตั้งคำถาม ถึงทิศทางการพัฒนาเหล่านี้ นอกจากจะเปิดวงล้อมพื้นที่สื่อสารให้ชาวบ้าน ปัญหาของคนชายขอบ เราต้องตั้งคำถามให้มากขึ้น"
ประเด็นต่อมา เขาเห็นว่า การที่เราเข้าสู่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ก็คือการคุกคามสิทธิเสรีภาพ มีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น
รูปแบบแรก คือ SLAPP (strategic lawsuit against public participation) หรือแปลเป็นไทยว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อข่มขู่คุกคามและปิดปาก
กรณีของ SLAPP ที่ชัดเจนมากคือเหมืองแร่เลย มีการฟ้องชาวบ้านทั้งหมด 19คดี ทั้งเพ่งและอาญา เฉพาะเพ่งเรียกค่าเสียหาย300ล้าน
หนึ่งในคดีนั้นคือ การฟ้องน้องพลอย นักเรียนม.4 ที่ทำข่าวพลเมืองออกอากาศทาง ไทยพีบีเอส และการฟ้องไม่ได้ฟ้องในพื้นที่ แต่มาฟ้องที่มีนบุรี แปลว่า น้องพลอยและครอบครัวต้องมารายงานตัวและขึ้นศาลที่มีนบุรี อีกคดีหนึ่งฟ้องที่ภูเก็ต คดีหนึ่งฟ้องที่แม่สอด
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
"ผมว่ากรณีของSLAPP จะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ พอเข้าสู่กระบวการศาล ความยุ่งยากมันเกิดขึ้นมาก คือชาวบ้านแทบไม่ได้ทำมาหากินกันเลย เรียกว่า ตายแล้วสิบชาติยังจ่ายไม่หมดเลย เพราะฉะนั้นวิธีการคุกคามสิทธิเสรีภาพ จะมีการนำกฎหมายมาใช้มากขึ้น และกฎหมายที่จะนำมาใช้คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คือฟ้องกันง่าย"
ภายใต้กระบวนการสะสมทุน ทุนมักจะอ้างว่า รัฐบาลตั้งเป็นกฎหมายแล้ว กฎหมายสำคัญ แต่ทุนละเมิดกฎหมายมากที่สุด ซึ่งตรงนี้ไม่มีค่อยมีคนพูดกัน เวทีรับฟังความเห็น ค.1 ค.2 ค.3 ซึ่งกระบวนการรับฟังความเห็นอย่างกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา ที่กระบี่ เอามาตำรวจเอาทหารมากันไม่ให้ชาวบ้านเข้าไป บางพื้นที่มีกองกำลังราวกับว่าจะทำสงคราม นี่คือเวทีรับฟังความเห็น เป็นเวทีการยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
"เราดูบรรยากาศว่าเอื้อต่อการรับฟังหรือเปล่า และยังไม่รวมถึงการที่ชาวบ้านต้องลงทะเบียนออนไลน์ก่อนล่วงหน้า ถามว่า ชาวเขาที่กำลังได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ จะไปลงออนไลน์ที่ไหนได้"
นี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นเเละจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต.