World Press Freedom Day นักวิชาการชี้สื่อแค่รายงานข่าวไม่พอ ต้องตั้งคำถามด้วย
นักวิชาการสังคมศาสตร์สะท้อน สื่อต้องไม่แค่รายงาน แต่ควรตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น ด้านตัวแทนชาวบ้าน ย้ำ สื่อและเสรีภาพเป็นของคู่กัน หากไม่มีเสรีก็ไม่ควรเรียกว่าสื่อ
วันที่ 3 พฤษภาคม 2559 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเวทีเสวนา “เสรีภาพสื่อ ประชาชนได้อะไร” เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) ณ ห้องประชุมอิศราอมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงการขาดเสรีภาพของสื่อ การทำรัฐประหาร คนที่เดือดร้อนที่สุดคือคนในชนบท สิ่งที่ชาวบ้านเผชิญคือการที่เขาถูกปิดล้อม และการปิดล้อมที่สำคัญคือ การปิดล้อมข้อมูลข่าวสาร แปลว่า ข่าวสารความทุกข์ของชาวบ้านถูกปิดกั้นไม่ให้ถูกนำเเสนอในพื้นที่สาธารณะ
"ประเด็นของชาวบ้านก็ไม่ได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะ แต่เป็นประเด็นเฉพาะพื้นที่เล็กๆ ไป"
ดร.ไชยณรงค์ กล่าวว่า สื่อมวลชนไม่ควรแค่รายงานข่าว (just Report) ในสถาณการณ์ที่ไม่ปกติอย่างนี้ การที่แค่รายงานข่าวเป็นเรื่องอันตราย เพราะบางเรื่องกลายเป็นเครื่องมือของรัฐ ยกตัวอย่าง บ้านจัดระเบียบ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ชาวบ้านถูกจับกุม34 ราย ชาวบ้านเหล่านี้เป็นคนจนทั้งหมด การจับกุมของเจ้าหน้าที่มีความชอบธรรมเพราะเจ้าหน้าที่พาสื่อมวลชนไปเป็นกองทัพ และรายงานว่า ชาวบ้านที่นี่เป็นนายทุน
"ฉะนั้น การแค่รายงานข่าวไม่พอ เราต้องตั้งคำถามให้มากกว่านั้น” ดร.ไชยณรงค์ กล่าวและว่า ในกรณีที่เป็นความขัดแย้ง รวมถึงกรณีของเหมืองทองพิจิตร เช่นข่าวล่าสุดว่า รมว.อุตสาหกรรม แถลงว่า ไม่มีไซยาไนด์เกินมาตรฐาน จ้างบริษัทที่ปรึกษาจากออสเตรเลียมาแล้ว เราไม่ตั้งคำถามเลยว่า ที่นั้นมีชาวบ้านป่วย มีแมงกานีสเกินกว่า400 ราย แบบนี้ไม่ปกติ แต่ทำไมเราเอาข่าวนี้มากลบทีเดียวแล้วจบ
“ ผมคิดว่าประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ สื่อเองต้องทะลวงตั้งแต่การตั้งคำถาม ถึงทิศทางการพัฒนาของรัฐ นอกจากจะเปิดพื้นที่สื่อสารให้ชาวบ้าน ปัญหาของคนชายขอบ เราต้องตั้งคำถามให้มากขึ้น” ดร.ไชยณรงค์ กล่าว
ด้าน นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า สื่อเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของชีวิตมนุษย์เรา เกิดมาก็ต้องสื่อสาร พูดคุยกันเเล้ว และสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือเรื่องของเสรีภาพ ฉะนั้นสื่อและเสรีภาพจึงเป็นของคู่กัน ถ้าสื่อไม่มีเสรีภาพก้ไม่น่าจะเรียกว่าสื่อได้ อาจจะเรียกว่าเป็นคนรับใช้ให้นายเท่านั้น
นายนิวัฒน์ กล่าวถึงความสำคัญของสื่อกับชาวบ้านรากหญ้า โดยยกตัวอย่าง บ้านอยู่เชียงของ จ.เขียงราย จากอดีตถึงปัจจุบันมีโครงการขนาดใหญ่มากมายเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งรับทราบกันดี ถ้าไม่มีสื่อที่จะบอกกล่าวความเดือดร้อนของพวกเรา สาธารณะจะรับรู้ได้อย่างไร โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะนี่เป็นเรื่องใหม่ของไทย โครงการนี้มีทั้งได้ทั้งเสีย มีทั้งคนได้และคนเสีย แต่ในขณะนี้ คนที่เสียคือท้องถิ่น คือทรัพยากร วิถีวัฒนธรรมของคนข้างล่าง ถ้าไม่มีสื่อที่บอกกล่าวไปว่า นี่คือปัญหา หรือว่าสื่อถูกบังคับโดยอำนาจ ส่วนไหนส่วนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ให้บิดเบือน สื่อเสนออย่างนี้ ชาวบ้านจะทำอย่างไร
"กฎเกณฑ์บ้านเมือง ม.44 อันนี้ร้ายมาก ไม่ต้องพูดว่าสื่อไม่มีเสรีภาพ ชาวบ้านยังไม่มีเสรีภาพ ม.44 เพราะฉะนั้นเสรีภาพของสื่อยุคนี้อาจจะมีอะไรบางอย่างซ้อนทับขึ้นมา ทำให้เกิดความหวาดกลัว ทั้งชาวบ้าน ทั้งท้องถิ่นชัดเจนว่า ถ้าเราอยู่กันอย่างนี้ อีก 5 ปี จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคุณไม่ให้เสรีภาพกับประชาชนก็เหมือนปิดปากประชาชนเช่นเดียวกัน ซึ่งน่ากลัวกว่ายุคก่อนมาก สื่อเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าสื่อจะทำให้เกิดความคิด ทั้งดีและไม่ได้ และสุดท้ายก็จะเปลี่ยนแปลงสังคม” นายนิวัฒน์ กล่าว.