“เลิกปัดเศษค่าโทร” ฝันที่ กทค. ทิ้งขว้าง
แนวทางเรื่องการคิดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามจริงเป็นวินาที หรือการ “เลิกปัดเศษค่าโทร” เป็นสิ่งที่สังคมเรียกหาและตั้งตารอมาพักหนึ่งแล้ว ขณะที่สำนักงาน กสทช. ให้ข่าวหลายครั้งว่า ในยุค 4G ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะได้สมหวังในเรื่องดังกล่าวแน่นอน แต่ในระดับนโยบายที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่าง กทค. ดูเหมือนจะไม่ร่วมสานฝันแนวทางเดียวกัน โดยมติในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนล่าสุดยังเลือกที่จะปล่อยผู้ให้บริการคิดตามอำเภอใจ และ กทค. ละเลยที่จะเข้าไปกำกับดูแลเรื่องนี้
จุดเริ่มต้นของการผลักดันให้ค่ายมือถือคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที โดยไม่ปัดเศษเป็นนาทีเกิดจากมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริง โดยคิดเป็นวินาที เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 หลังจากนั้นเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ก็ขานรับมติ สปช. ทันทีด้วยการเรียกประชุมค่ายมือถือเพื่อขอความร่วมมือ สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าทุกค่ายจะมีแพ็กเกจพิเศษคิดตามจริงเป็นวินาทีเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป และให้แพ็กเกจใหม่หลังวันที่ 1 มีนาคม 2558 ทั้งหมดต้องคิดค่าโทรเป็นวินาที แต่ว่าหลังจากนั้นยังคงไม่มีการกำกับให้ค่ายมือถือปฏิบัติตามข้อสรุปดังกล่าวแต่อย่างใด ระบบการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยหลักยังคงคิดแบบปัดเศษบนฐานหน่วยนาที มีเพียงรายการส่งเสริมการขายไม่กี่รายการที่คิดตามการใช้จริงเป็นหน่วยวินาที แต่อัตราต่อวินาทีคิดแล้วแพงกว่าแบบปัดเศษมาก
ต่อมาเมื่อมีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz กสทช. ได้มีการกำหนดเงื่อนไขเป็นการล่วงหน้าว่า ในการกำหนดอัตราค่าบริการจะต้องคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นที่รับรู้ทั่วไป เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ได้ทุ่มงบประมาณประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ตลอดจนให้ข่าวเป็นระยะ โดยมีการยืนยันว่าระบบการคิดค่าโทรมือถือในเมืองไทยจะเปลี่ยนเป็นการคิดตามระยะเวลาใช้งานจริงที่เป็นฐานวินาที มิใช่นาทีอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม จนบัดนี้ นโยบายที่ป่าวประกาศยังไม่ปรากฏให้เห็นในความเป็นจริง
ยิ่งกว่านั้น ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเมื่อช่วงเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. ยังได้พิจารณาวาระที่มีผู้บริโภคร้องว่าประสบปัญหาถูกเอาเปรียบจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เนื่องจากไม่ได้คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที ซึ่งรายการส่งเสริมการขายมีการระบุว่า “คิดตามจริงเป็นนาที เศษของนาทีคิดเป็นหนึ่งนาที” โดยมีข้อถกเถียงกันว่ากรณีเช่นนี้สามารถตีความการกำหนดเงื่อนไขให้มีการคิดค่าบริการแบบปัดเศษเป็นนาทีต่อครั้งได้หรือไม่ หรือต้องเป็นการรวมเวลาในการโทรออกทั้งหมดแล้วจึงจะปัดเศษของนาทีสุดท้ายเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการเสนอวาระนี้ให้ที่ประชุมพิจารณา คณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคมก็ได้ชี้มาแล้วว่า ข้อความในรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวไม่ชัดเจนและตีความได้หลายนัย แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการตีความทางกฎหมาย หากแต่เป็นประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้นจึงได้เสนอแนวทางว่า ในกรณีที่มีผู้บริโภครายใดร้องเรียน ก็ควรจะพิจารณาระงับข้อพิพาทและชดเชยเป็นรายกรณีไป ส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการทั่วไปนั้น ให้สำนักงาน กสทช. แจ้งผู้ประกอบการให้ระบุชัดเจนเกี่ยวกับการปัดเศษนาทีในรายการส่งเสริมการขาย และควรทำการศึกษาว่าจะสามารถออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีได้หรือไม่ แต่ว่าผลของการประชุม กทค. ดังกล่าว โดยมติที่ประชุมเสียงข้างมาก (3 ต่อ 1) กลับชี้ว่า ผู้ให้บริการมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการตามรายการส่งเสริมการขาย โดยที่ไม่มีการสานต่อข้อเสนอของคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายฯ ตามที่มีการเสนอแนะไว้แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคระดับรายบุคคลหรือแบบในเชิงระบบเป็นการทั่วไป
สำหรับกรณีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนนี้ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชนในฐานะหนึ่งในกรรมการ กทค. เปิดเผยว่า ตนเห็นต่างจากมติที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ โดยมองว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องข้อสัญญา ในเมื่อสัญญาเสนอสนองไม่ตรงกัน สัญญาก็ต้องตีความแบบใดแบบหนึ่ง กรณีนี้คณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายฯ ไม่ได้บอกว่าผู้ให้บริการทำผิดกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมาย แต่ให้ตีความเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งผมเห็นสอดคล้องกับการตีความของคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายฯ
“กรณีนี้ผมอ่านข้อเสนอของคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายแล้วเข้าใจว่า คณะอนุกรรมการฯ กำลังพยายามชี้ประเด็นว่าให้ตีความเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค การปัดเศษในการโทรทุกครั้งแบบผู้ให้บริการจึงถือว่าไม่เป็นไปตามข้อสัญญา เพราะในกรณีนี้ข้อเท็จจริงผู้บริโภคใช้งานโทรศัพท์อยู่จริงเพียงประมาณ 350 นาที แต่กลับต้องถูกคิดค่าบริการถึงกว่า 700 นาที ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องไม่แฟร์ โดยผมสงวนความเห็นประเด็นนี้ไว้ในที่ประชุมด้วย” นายประวิทย์กล่าว
นายประวิทย์ เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมามีกระแสผลักดันจากสังคมให้กรรมการและสำนักงานกสทช. เน้นเรื่องงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ได้รับแรงกดดันมาโดยตลอดคือการกำหนดให้ค่ายมือถือคิดอัตราค่าบริการตามจริงเป็นวินาที จนนำมาสู่การกำหนดไว้ในเงื่อนไขของใบอนุญาตในการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz นั่นคือมีกติกาแล้ว แต่เรื่องดังกล่าวจะเป็นจริงก็จะต้องมีการกำกับติดตามอย่างเคร่งครัด นั่นคือ สำนักงาน กสทช. จะต้องเร่งตรวจสอบว่าผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบนคลื่นความถี่ดังกล่าวได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของใบอนุญาตหรือไม่ เพื่อกำกับดูแลอัตราค่าบริการให้เป็นไปตามกฎหมาย และคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับผู้บริโภค...
ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://hitech.sanook.com/945977/