เเถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 'ถูกต้อง รอบด้าน หลักประกันเสรีภาพ'
"...ท่ามกลางบรรยากาศการปฏิรูปประเทศด้วยความคาดหวังให้เปลี่ยนผ่านการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยดีขึ้น แต่เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยกลับถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ จนตกอยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่า 'มืดมน'..."
3 พฤษภาคม 2559 เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยพร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เข้าพบนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อมอบเสื้อที่ระลึก “ถูกต้อง รอบด้าน หลักประกันเสรีภาพ”
นอกจากนี้ยังร่วมแถลงการณ์เรียกร้อง ขอให้รัฐบาล คสช.เร่งยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ทั้งคำสั่งคสช.ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 103/2557 และฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5 โดยเร็ว รายละเอียดในแถลงการณ์ระบุว่า
สถานการณ์สื่อมวลชนไทยนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 แม้รัฐบาลภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดในมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้ความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพประชาชนตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยฯ และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีอยู่ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีการออกคำสั่งคสช.หลายฉบับ ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพ ควบคุมสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร อาทิ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 97/2557 คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 103/2557 และฉบับคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5 รวมถึงล่าสุดคำสั่งคสช. ที่ 13/2559 ที่ขยายอำนาจให้ทหารเป็นพนักงานสอบสวน รวมทั้งความพยายามออกชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลโดยเฉพาะ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งล้วนสุ่มเสี่ยงต่อการลิดรอนเสรีภาพประชาชนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น รัฐบาล คสช.ยังใช้อำนาจที่กระทบต่อสิทธิของประชาชน เข้าควบคุมการทำหน้าที่สื่อมวลชนในหลายรูปแบบ อาทิ การเรียกสื่อมวลชนไปปรับทัศนคติเรียกประชุมตัวแทนสื่อมวลชนแขนงต่างๆ หลายครั้ง เพื่อให้ปฏิบัติตามคำสั่งคสช.อย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นต้น ส่งผลให้สถานการณ์เสรีภาพสื่อฯ ในปี 2558 ที่ผ่านมาถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการที่องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนลดอันดับเสรีภาพสื่อมวลชนไทยจากอันดับ 130 ในปี 2557 ไปสู่อันดับที่ 134 ในปี 2558
ขณะที่การปฏิรูปสื่อมวลชนที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ในเบื้องต้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้จัดทำแผนปฏิรูปสื่อมวลชน 3 ด้าน ได้แก่ “เสรีภาพสื่อมวลชนบนความรับผิดชอบ การกำกับดูแลสื่อมวลชนที่มีประสิทธิภาพและการป้องกันการแทรกแซงสื่อ” แต่เมื่อส่งมอบให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ดำเนินการต่อ กลับไร้การสานต่อ ไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม
ท่ามกลางบรรยากาศการปฏิรูปประเทศด้วยความคาดหวังให้เปลี่ยนผ่านการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยดีขึ้น แต่เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยกลับถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ จนตกอยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่า “มืดมน”
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าวอย่างมาก
ในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก จึงขอเสนอข้อเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดังต่อไปนี้
1. ขอให้รัฐบาล คสช.เร่งยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ทั้งคำสั่งคสช.ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 103/2557 และฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5 โดยเร็ว กลับไปใช้กฎหมายปกติกรณีที่พบสื่อละเมิดกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากคำสั่งทางความมั่นคง เปิดให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิเสรีภาพของประเทศ
พร้อมกันนี้ขอให้สร้างหลักประกันเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างถูกต้อง รอบด้าน ให้สื่อมวลชนได้เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ด้วยเชื่อว่าข่าวสารที่มีข้อมูลถูกต้อง รอบด้านจะเป็นทางออกของประเทศให้ก้าวข้ามพ้นวิกฤติความขัดแย้งไปได้ รัฐจึงไม่ควรผูกขาดการนำเสนอข่าวด้านเดียว หรือควบคุม แทรกแซงให้สื่อฯ เกิดความหวาดกลัวต่อการนำเสนอข่าวสาร
2. ขอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่จะพิจารณาเรื่องการปฏิรูปสื่อ ได้คำนึงถึงกรอบที่ สปช.ได้ทำไว้ โดยสมควรมีแนวทางสนับสนุนให้เกิดนโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมให้เกิดระบบกลไกในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนที่ดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนให้สื่อมวลชนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีเสรีภาพบนความรับผิดชอบ และต้องสนับสนุนนโยบายให้เกิดการจัดทำกฎหมายเพื่อป้องกันการแทรกแซงสื่อไม่ว่าจะโดยอำนาจรัฐหรืออำนาจทุน ไปพร้อมกับการให้ความสำคัญและสนับสนุนให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อมวลชนอย่างทั่วถึงด้วย
ส่วนการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ซึ่งอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หนึ่งในชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ที่กำลังแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดบนโลกออนไลน์นั้น พบว่า ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา กฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างมาก สนช.จึงควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพื่อไม่ให้กฎหมายดังกล่าวยิ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินสมควร
นอกจากนั้น ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ที่กำลังมีการเสนอแก้ไขกฎหมายอยู่ใน สนช.ก็ขอให้คำนึงถึงหลักการที่ให้ประชาชนมีหลักประกันว่าการจัดสรรคลื่นความถี่จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ กสทช. จะต้องเป็นองค์กรอิสระทางปกครอง มิใช่เป็นอิสระเฉพาะในการปฏิบัติหน้าที่
ส่วนกระบวนการสรรหาคณะกรรมการ กสทช. ต้องมาจากผู้มีความรู้ความเข้าใจในการประกอบกิจการและเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างโปร่งใส เป็นธรรม คุณสมบัติของกรรมการ กสทช.จะต้องมีตัวแทนกลุ่มผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ที่หลากหลาย รวมถึงองค์กรคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค องค์กรผู้ประกอบวิชาชีพสื่อฯ และนักวิชาการ มิใช่มีเพียงตัวแทนหน่วยงานรัฐเท่านั้น
3. ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชนทุกแขนงตระหนักถึงการให้ความสำคัญในการทำหน้าที่เสนอข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน ซึ่งจะเป็นหลักประกันต่อเสรีภาพ ทั้งขอให้เพิ่มพูนความรู้บุคคลากรสื่อเพื่อสนับสนุนความสามารถในการทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ เคารพต่อหลักจริยธรรม ไม่นำเสนอข่าวหรือภาพข่าวที่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งควรสนับสนุนให้เกิดระบบและกลไกกำกับดูแลกันเองที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการให้ความร่วมมือและยอมรับคำวินิจฉัยขององค์กรวิชาชีพสื่อ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างให้สังคมเชื่อมั่นและเชื่อถือตัวสื่อเอง
4. ขอให้ประชาชนคิดก่อนแชร์ ก่อนโพสต์ภาพข่าวหรือข่าวสารใดๆ โดยยึดหลักความจริง ถูกต้อง หากไม่ตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องก่อนแชร์ ก่อนโพสต์ อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายมีโทษรุนแรงและสร้างความเสียหายต่อผู้ตกเป็นข่าว ทั้งขอให้ติดตามข่าวสารและช่วยกันเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อมวลชน ไม่ละเลยเพิกเฉยและยินยอมตกเป็นผู้รับสารเพียงฝ่ายเดียว ควรร่วมปฏิสัมพันธ์และแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเมื่อพบสื่อมวลชนที่ไม่ทำตามหลักจริยธรรม เพื่อเป็นกระจกสะท้อนให้สื่อฯ ต้องทบทวนบทบาทหน้าที่และทำในสิ่งที่ถูกต้อง คือการยึดมั่นอยู่ในอุดมการณ์และจริยธรรมให้ได้ในที่สุด
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปีนี้ จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่สื่อมวลชนไทยจะได้รับการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ “ถูกต้อง รอบด้าน และได้รับหลักประกันเสรีภาพ” เพื่อร่วมกันผลักดันการปฏิรูปประเทศไทยไปในทิศทางที่ถูกต้อง.