ชายแดนใต้ยังคงปลอด "พื้นที่ปลอดภัย"
การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 4 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันพุธที่ 27 เม.ย.59 ซึ่งคณะพูดคุยฯจากรัฐบาลไทย และมารา ปาตานี ไม่บรรลุข้อตกลงเรื่องร่างกรอบการพูดคุย หรือ ทีโออาร์ ทำให้ประเด็น "พื้นที่ปลอดภัย" ที่จะกำหนดร่วมกันในบางอำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเลื่อนออกไป
ทั้งๆ ที่ประเด็น "พื้นที่ปลอดภัย" เป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไป ชาวบ้านร้านตลาด รวมทั้งภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นปลายด้ามขวาน เรียกร้องมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะระยะหลังๆ ที่ความรุนแรงจากการใช้อาวุธ ทั้งปืนและระเบิด คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่เด็กและผู้หญิง
พื้นที่สาธารณะหลายแห่งที่ควรปลอดความรุนแรง กลับเต็มไปด้วยเสียงปืนเสียงระเบิด ไม่ว่าจะเป็นตลาด โรงเรียน วัด หรือแม้แต่มัสยิด
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา หรือเพียง 1 วันหลังกระบวนการพูดคุยหยุดชะงักลงอีกครั้ง คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ หรือ Women’s Agenda for Peace (PAW) ได้จัดเวทีรณรงค์สาธารณะชื่อ "พื้นที่ 'กลาง' ตลาด พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและทุกคน" หรือ Safe Market Save Life โดยใช้สถานที่ตลาดเทศวิวัฒน์ 1 เทศบาลเมืองปัตตานี เป็นพื้นที่จัดเวที โดยมีสมาชิกเครือข่ายคณะทำงานวาระผู้หญิงฯเข้าร่วมงานประมาณ 300 คน และมีการเสวนาในหัวข้อ "พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและทุกคน" รวมทั้งการประกาศเจตนารมณ์และแถลงการณ์
ประเด็น "พื้นที่กลาง" หรือ "พื้นที่ปลอดภัย" เป็นประเด็นที่คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว โดยจัดเวทีรวม 5 ครั้ง คือ
1.เวทีนักจัดกิจกรรมคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ที่ อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 7-8 ต.ค.58
2.ลงพื้นที่ ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 15 พ.ย.58
3.ลงพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 16 มี.ค.59
4.ลงพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ช่วงปลายเดือน มี.ค.ต่อเนื่องเดือน เม.ย.59
และ 5.ลงพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 7 เม.ย.59
ข้อสรุปจากการลงพื้นที่พบว่า ผู้หญิงต้องการให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ปลอดภัย คือ 1.ตลาด ครอบคลุมถึงตลาดนัดและร้านค้าในชุมชน 2.ถนน ทั้งถนนสายรองและถนนสายหลัก 3.โรงเรียน ทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา 4.สถานที่ประกอบศาสนากิจ เช่น วัด มัสยิด 5.ให้ป้อมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)
ลม้าย มานะการ สมาชิกคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ กล่าวว่า จากการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้หญิงในพื้นที่ต่างๆ คณะทำงานวาระผู้หญิงฯจึงมีข้อเรียกร้องเพื่อปกป้องรักษาพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยมีข้อเสนอต่อผู้ที่ใช้อาวุธทุกฝ่าย ทั้งรัฐและฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ ดังนี้
ข้อเสนอต่อผู้ที่ใช้กำลังอาวุธคือ
1.ขอให้ยุติก่อเหตุความรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารของทุกฝ่ายในพื้นที่สาธารณะ พร้อมประกาศให้พื้นที่สาธารณะเป็นเขตปลอดอาวุธ
2.ขอให้แสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธีทางการเมือง และนำประเด็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้หญิง เป็นวาระสำคัญในการพูดคุยเพื่อสันติสุข
3.เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงภาคประชาสังคมได้ทำงานอย่างปลอดภัยและเป็นอิสระ เพราะที่ผ่านมามีผู้หญิงนักกิจกรรมถูกระแวง ไม่ไว้วางใจ ถูกติดตาม จับตาจากหน่วยงานความมั่นคงและผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ จนทำให้รู้สึกกลัวและไม่ปลอดภัย รวมทั้งถูกแทรกแซงจนขาดอิสระในการทำงาน
สำหรับข้อเสนอต่อชุมชน กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้ คือ
1.ให้ร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงในพื้นที่ของการทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม และการทำงานขับเคลื่อนสันติภาพ ตลอดจนช่วยผลักดันให้ข้อเสนอเชิงนโยบายพื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงชายแดนใต้เป็นวาระสำคัญที่คู่ขัดแย้งต้องรับพิจารณาบนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ
2.ขอให้ชุมชน กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและช่วยกันพัฒนามาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะในเขตของตน ตามบริบทพื้นที่
โซรยา จามจุรี สมาชิกคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ กล่าวว่า การสร้างสันติสุขและสันติภาพอาจต้องคิดนอกกรอบ จึงจะสามารถเห็นสิ่งเหล่านั้นเป็นจริง
ในการนี้ ได้มีการลงนามในแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์จาก 23 องค์กร โดยมีเครือข่ายทั้งพุทธและมุสลิมร่วมด้วย