ไพโรจน์ พลเพชร "ถ้าขืนเราวิจารณ์ พูด จัดเสวนาไม่ได้ ผมรู้สึก ไม่ใช่บรรยากาศการลงประชามติ"
"...ผมมองว่าการจัดทำประชามติครั้งนี้ ค่อนข้างมีปัญหาตั้งแต่ต้น ผมคาดหวังว่าจะมีบรรยากาศที่นำไปสู่หลักการให้มากกว่านี้ ทั้งสองฝ่ายสามารถรณรงค์รับไม่รับ ได้อย่างเต็มที่..."
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "ประชามติ" อะไรทำได้-ไม่ได้ ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายไพโรจน์ พลเพชร นายกสมาคมกฎหมายสิทธิมนุษยชน และอดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ตั้งคำถามกับประกาศ 6 ข้อทำได้ และ 8 ข้อห้ามทำ เข้าข่ายขัดมาตรา 61 วรรคสองตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เริ่มต้นทำความเข้าใจถึงสถานการณ์บ้านเมืองของเรา ซึ่งอยู่ในสภาวะไม่ปกติ ดังนั้นกฎหมายต่างๆ ก็ย่อมไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการการลงประชามติครั้งนี้ให้เป็นที่ยอมรับนับถือ น่าเชื่อถือ และนำไปสู่สถานการณ์ปกติได้ในอนาคต ก็ต้องพูดกันที่หลักการสำคัญๆ เพื่อให้สังคมเข้าใจว่า ถ้าเรามุ่งหมายจะไปสู่จุดนั้น เราต้องทำ
ประเด็นแรกก่อนจะพูดเรื่องกฎหมาย พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2552 ขอพูดหลักการลงประชามติเสียก่อน
แท้จริงหลักการลงประชามติ คือ การคืนการตัดสินใจโดยอิสระของประชาชนให้ตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เรื่องนี้คือการให้ประชาชนอนุมัติรัฐธรรมนูญในอนาคตว่า ประชาชนจะอนุมัติหรือไม่
นี่คือประชาธิปไตยพื้นฐานที่สุดและสำคัญ ซึ่งเราเคยใช้เพียงครั้งเดียวคือรัฐธรรมนูญปี 2550
"จริงๆ เราพูดเรื่องประชามติในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แต่เราใช้จริงได้เมื่อลงเสียงรับรองรัฐธรรมนูญปี 2550 ครั้งนี้ก็ทำนองเดียวกัน เพราะเมื่อกระบวนการได้มาซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญไม่มีประชาธิปไตยเพียงพอ เราเชื่อว่าบั้นปลายของมัน ประชาชนที่มาลงเสียงจะทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
แต่ถ้าเราเริ่มจากกระบวนการที่ไม่ไปสู่สิ่งเหล่านั้น กระบวนการจัดทำประชามติไม่สามารถสร้าง ให้เป็นที่ยอมรับตั้งแต่ต้น ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา"
เมื่อเป็นหลักการพื้นที่ฐานที่จะให้ประชาชนมีสิทธิ์ตัดสินใจว่าเราจะมีกติกาเหล่านี้ ในอนาคต เราต้องใช้หลักการอันใด
1.การลงประชามติจะต้องอิสระ ไม่อยู่ภายใต้บรรยากาศของความกลัว การข่มขู่ คุกคาม หรือแรงกดดันทุกรูปแบบ ถ้าอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น การลงประชามติไม่มีอิสระ ยิ่งใช้หน่วยงานของรัฐลงไปกระทำการชี้แนะให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จบด้วยความไม่มีอิสระเพียงพอ
2.มีระยะเวลาที่เพียงพอ ซึ่งเราจะลงประชามติกันวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งก็เพียงพอ แต่ถามว่า ทำไมต้องให้ระยะเวลาเพียงพอ ก็เพื่อให้ประชาชนได้ถกเถียง ได้เเลกเปลี่ยน กันในเรื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางที่สุด
3.หลักการต้องให้ข้อมูลทั่วถึงเพียงพอ ซึ่งจำเป็นต้องให้ข้อมูลทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งคือว่า กรรมการร่างฯ บอกว่า รัฐธรรมนูญดีเลิศ ประเสริฐศรี ฝ่ายหนึ่งก็ต้องบอกได้ว่า อาจจะไม่ใช่ ก็ต้องวิเคราะห์ให้คนเห็นได้ เพราะถ้าหากชี้นำไปด้านใดด้านหนึ่ง ข้อมูลก็ไม่เพียงพอ ก็อย่าหวังว่าการตัดสินใจจะรอบด้าน และสุดท้ายก็ไม่เป็นที่ยอมรับ
นี่คือหลักการพื้นฐาน
นายไพโรจน์ กล่าวถึงมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ประชามติ เขียนไว้ว่า เสรีภาพในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ภายใต้สุจริตและกฎหมาย นี่คือหลักการพื้นที่ฐาน ดังนั้นการเผยแพร่ ไม่ว่าจะผ่านสื่อไหน รูปแบบไหน ก็คือการแสดงออกทั้งสิ้น
"ข้อสังเกตในมาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้บอกว่า ถ้าเป็นการกระทำของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เลขานุการ หรือหน่วยงานรัฐทุกหน่วย ที่กรรมการร่างฯขอ ให้ถือว่า ไม่ใช่การจูงใจ ในการให้ประชาชนลงประชามติ ท่านคิดว่ากรรมการร่างฯจะวิเคราะห์ในด้านลบของรัฐธรรมนูญนี้ หรือไม่ หรือหน่วยงานรัฐที่กรรมการร่างฯ ขอให้มาช่วย จะวิเคราะห์ให้เชิงอีกด้านหนึ่งหรือไม่ กลับกันฝ่ายทีไม่เห็นด้วย จะมีข้อจำกัดควบคุมสองแบบ
1.ควมคุมเนื้อหา นอกจากนั้นยังควบคุมวิธีการด้วยว่า อย่าก้าวร้าว อย่าหยาบคาย ยกตัวอย่างเช่น กกต.กำหนดว่า การจัดเวที เสวนาอภิปราย จะต้องมีหน่วยงานรัฐ ต้องมีสถาบันการศึกษา ถ้าไม่มีก็จัดไม่ได้ โดยอ้างว่า อยู่ภายใต้คำสั่งที่คสช.ฉบับที่ 3/2558 เพื่อควบคุมไม่ให้วุ่นวาย แล้วถ้าไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความสวุ่นวาย หรือไปในทางนั้น การจะวิจารณ์รัฐธรรมนูญ ไปยืนเฉยๆ โดยปราศจากอาวุธ เพื่อบอกว่าไม่รับ ไม่ได้หรือ วุ่นวายไหม
ถ้าย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่พูดเรื่องการควบคุมเนื้อหาเลย มีแต่ควบคุมเรื่องพฤติการ เช่น อย่าก่อความวุ่นวาย อย่าจูงใจ อย่าให้สินบน เป็นต้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเลย แต่ครั้งนี้ไปคุมเรื่องเนื้อหา ห้ามไม่หยาบคาย ไม่ก้าวร้าว ไม่ปลุกระดม จริงๆ ต้องเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายพูด ไม่รับก็ต้องบอกว่าไม่รับ ด้วยเหตุผลอะไร"
อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ย้อนให้ไปเปิดดูกฎหมายประชามติในปี 2552 เขียนไว้ว่า เมื่อประกาศวันออกเสียงประชามติ ให้กรรมการการเลือกตั้งเผยแพร่กระบวนการขั้นตอน การเสียงและผู้มีสิทธิ์ให้ได้รับทราบอย่างทั่วถึง รวมทั้งจัดให้มีการแสดงความเห็นอย่างอิสระและเท่าเทียม ทั้งบุคคลที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบ อย่างกว้างขวางและทั่วถึง ทั้งยังบอกว่าให้สถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ของรัฐจัดสรรเวลาออกอากาศตามที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนด
ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็มาจากการรัฐประหาร แต่ทำไมครั้งนี้ถึงแตกต่าง ซึ่งดูเหมือนว่า เราไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายเห็นต่างได้แสดงความเห็น ได้แสดงออก อย่างยุติธรรมเพียงพอ เพราะตัวกฎหมายไปจำกัดแต่ต้นเเล้ว แต่ให้โอกาสฝ่ายร่างในการจูงใจได้อย่างอิสระ ปิดโอกาสฝ่ายเห็นต่างในการวิเคราะห์ข้อเท็จจริง
"เรากำลังพูดถึงอนาคตที่ต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรามีสถาบันการเมืองที่ถูกออกเเบบไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งหมด เราต้องสามารถพูดได้ทั้งหมดอะไรขาดอะไรเกิน อะไรไม่ถูกต้อง
แต่ถ้าขืนเราวิจารณ์ไม่ได้ เราพูดไม่ได้ จัดเสวนาไม่ได้ สมมติผมประกาศไม่รับร่าง และให้ติดริบบิ้นสีดำ แบบนี้ปลุกระดมไหม ถ้าปลุกระดมต้องเอาผมไปขึ้นศาล ผมต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย อันนี้แหละที่ผมรู้สึกว่า ไม่ใช่บรรยากาศในการลงประชามติเลย"
นายไพโรจน์ แสดงความเห็นว่า เราอาจจะอ้างความมั่นคงจนลืมไปแล้วชีวิตผู้คนเราจะอยู่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีผลต่อชีวิตผู้คนทั้งหมดในประเทศนี้ ที่นี่ถ้าเกิดลงประชามติผ่านแล้วคนส่วนหนึ่งปฏิเสธตั้งแต่ต้นว่า วิธีการทำประชามติไม่ถูก แล้วเราจะอยู่ร่วมอย่างไร ดังนั้นความขัดแย้งไม่มีทางคลี่คลาย ภายใต้บรรยากาศแบบนี้ เพราะเราไม่เห็นความเสมอภาคซึ่งกันและกัน เรื่องรัฐธรรมนูญ ฝ่ายหนึ่งพูดได้อีกฝ่ายถูกจำกัด นี่คือความเสมอภาคในการนำเสนอหรือไม่ โดยเฉพาะสื่อ "ผมเชื่อว่าสื่อเซ็นเซอร์ตัวเองกันหมด ก็ไม่แปลกใจ ถ้าสื่อเซ็นเซอร์ตัวเองแล้วประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไร"
"ที่พูดอย่างนี้เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่า เราอยู่ในบรรยากาศแบบใด และผมทราบว่า ถ้าเราจะอยู่ในกติกาประเทศ เราในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ควรจะเข้าถึงข้อมูล ควรจะมีอิสระในการเผยแพร่ข้อมูล สามารถพิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญได้อย่างถึงที่สุด ถ้าเราเปิดกว้างให้มีการถกเถียงอย่างเต็มที่มันก็จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ และจะนำพาไปสู่การอยู่ร่วมได้อย่างสันติ" อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวทิ้งท้าย