ข้อห้ามก่อนประชามติ 7 ส.ค. 'สมชัย' แจงกดไลค์ได้ อย่าแชร์ข้อความเท็จ- เนื้อหาปลุกระดม
สมชัย แจง โพสต์เพิ่มข้อห้ามเป็น 10 ข้อ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่ายๆ ย้ำกดไลค์ไม่ผิด ไม่ได้อ่อนไหวขนาดนั้น แต่ห้ามแชร์ข้อความเป็นเท็จหรือมีเนื้อหาปลุกระดม ทำประชามติ 7 สิงหาฯ
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "ประชามติ" อะไรทำได้-ไม่ได้ ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ช่วงหนึ่งของเวที นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึง"ประชามติ" อะไรทำได้-ไม่ได้ โดยชี้แจง 3 ประเด็นเรื่องการเพิ่มข้อห้ามจากเดิม 8 ข้อเป็น 10 ข้อนั้น รวมถึงการกดไลค์ผิดหรือไม่ ใส่เสื้อ YES NO ได้หรือไม่ว่า ประเด็นเรื่อง 10 ข้อที่เขียนเพิ่มเติมนั้น ตรงตาม 8 ข้อ ทุกอย่างที่ห้ามทำ เพียง แต่ได้แยกการโพสต์ และการแชร์เพิ่มออกมาอีก 2 ข้อ จากเดิมที่อยู่ด้วยกัน
"ถามว่าทำไมต้องเขียนให้ชัดเจนขนาดนั้น เพราะว่าในภาษากฎหมาย เขียนว่า ห้ามนำเข้าและส่งต่อข้อมูล ชาวบ้านจะเข้าใจไหมว่า ห้ามนำเข้าส่งต่อข้อมูลคืออะไร จึงต้องอธิบายเพิ่มเติม นำเข้าคือโพสต์ ส่งต่อคือแชร์ ผมก็นำมาเขียนขยายความให้ชัดเจน คงไม่ไปแตะในเรื่อง 6 ข้อที่ทำได้ เพราะวิธีการผมคือ สิ่งที่ทำได้ไม่ได้มีเพียงแค่ 6 ข้อ เช่น เราบอกว่า สิ่งที่กินไม่ได้มีกี่อย่าง แต่ของที่กินได้จำเป็นต้องบอกไหมว่าอะไรกินได้ เราแค่บอกว่า ข้อที่ห้ามกินจะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรก็พอ เพราะฉะนั้น 10 ข้อ คือการเอาเรื่องที่ทำไม่ได้มาขยายเป้น 10 ข้อ"
ส่วนการกดไลค์นั้นผิดกฎหมายหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า เราไม่ได้อ่อนไหวขนาดนั้น แต่สิ่งที่เราอ่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องการแชร์ข้อความซึ่งเป็นเท็จ ข้อความซึ่งหยาบคาย ข้อความนำไปสู่การปลุกระดม เรื่องการเเชร์คือการส่งต่อ ฉะนั้นเรื่องการกดไลค์อย่าเพิ่งใส่ใจ อย่าไปซีเรียส ไม่ได้เอาจริงเอาจังขนาดนั้น แต่ถ้าแชร์ก่อนแชร์ต้องคิดก่อนว่าสิ่งนั้นเท็จหรือไม่ สิ่งนั้นเป็นเรื่องการใช้ถ้อยคำที่หยาบคายแล้วเราแชร์ นอกจากการแชร์ดังกล่าวยังมีเรื่องของการเขียนข้อความ โดยเจ้าตัว เมื่อมีการแชร์แล้วเขียนเพิ่ม ถือว่าเป็นการโพสต์
นายสมชัย ได้ยกตัวอย่างกรณีที่จังหวัดขอนแก่น ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี เพราะเป็นการแชร์ข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่เป็นการอภิปรายทางวิชาการ ต้องบอกว่า แชร์ข้อความดังกล่าวไม่ผิดใดๆ ทั้งสิ้น แต่เผอิญท่านไปเขียนข้อความเพิ่มเติม และเป็นข้อความที่หยาบคายรุนแรงก้าวร้าว และเชื่อมโยงไปสู่การบอกว่า ให้รับหรือไม่รับร่าง รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ความผิดครั้งนี้จึงมีองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์ ถือว่าถ้าดำเนินการโดยตัวบุคคลคนเดียว
"ผมอาจจะเฉยๆ แต่เมื่อเป็นการจัดการเป็นกลุ่ม องค์กร ซึ่งจะต้องทำงานรับผิดชอบสังคม อันนี้คงจะต้องมีการดำเนินการ"
สำหรับการใส่เสื้อ YES หรือ NO ได้หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า สามารถใส่ได้ เมื่อใดก็ตามเป็นการใส่ในนามของบุคคล ที่แสดงออกว่าจะ YES หรือ NO เพราะถ้าเราไปห้าม ก็เป็นการไปบังคับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แต่เมื่อใดก็ตามที่นัดใส่พร้อมๆ กัน เพื่อมาเดิน แสดงตัวอะไรก็ตามที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้น ถึงไม่ผิดกฎหมายประชามติ ก็ผิดกฎหมายความมั่นคง พ.ร.บ.ชุมนุม เพราะฉะนั้นทุกอย่างขึ้นอยู่กับเจตนา แต่ถ้าบังเอิญใส่มา อย่างมาดูหนังแล้วคนอื่นก็ใส่มา ไม่ได้นัดหมาย ก็ไม่มีใครยุ่งกับท่าน
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า การออกหลักการต่างๆ ที่ผ่านมาของ กกต. ยึดถือในมาตราที่ 7 เรื่องการให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่ขัดกับกฎหมายของบ้านเมืองด้วย ท่านจะจัดอภิปรายก็สามารถจัดได้ เพียงแต่ต้องมีเจ้าภาพรับผิดชอบ และต้องไม่ขัดกับหลักการที่ว่า เรื่องเหล่านั้นต้องไม่เป็นเท็จ เอาเรื่องไม่จริงมาพูด บิดเบือน ไม่ก้าวร้าว รุนแรงหยาบคาย และจะต้องไม่นำไปสู่การปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง
"เราคงไม่สามารถเขียนกฎหมายให้ครอบคลุมทุกเรื่อง ทุกพฤติกรรมได้ เพราะบ้านเรา ศรีธนญชัยเยอะ ไม่ทำแบบนี้ก็ไปทำอีกแบบหนึ่ง ก็บิดไปเรื่อยๆ แต่เราต้องดูว่าเราต้องการอะไร ต้องการให้สังคมน่าอยู่ ให้สังคมพูดจากันด้วยสุภาพชน เพื่อให้สังคมเดินหน้าสู่การทำประชามติบนความรู้ความเข้าใจ” นายสมชัย กล่าว