กม.คุมขอทาน ประกาศราชกิจจาฯ แล้ว โทษคุกไม่เกิน 3 ปี นายหน้าผู้แสวงหาประโยชน์
พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว แยกผู้แสดงความสามารถออกจากผู้ทำการขอทาน กำหนดความผิดทางอาญาแก่ผู้แสวงหาประโยชน์ จากการขอทาน โทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือ ปรับไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ราชกิจจานุเบกษา ลงประกาศปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขอทาน โดยตราพระราชบัญญัติ ควบคุมการขอทาน พ.ศ. ๒๕๕๙ แทน และให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป พร้อมกับให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.๒๔๘๔
พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. ๒๕๕๙ มีมาตราสำคัญๆ เช่น
มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้
“การคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต” หมายความว่า การช่วยเหลือ การบําบัดรักษา การฟื้นฟู สภาพร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการฝึกอาชีพให้แก่ผู้ทําการขอทาน
“สถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต” หมายความว่า สถานที่ที่รัฐมนตรีประกาศจัดตั้งไว้ สําหรับให้การคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมการขอทาน
“เจ้าพนักงานท้องถิ่น” หมายความว่า
(๑) นายกองค์การบริหารส่วนตําบล สําหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตําบล
(๒) นายกเทศมนตรี สําหรับในเขตเทศบาล
(๓) นายกเมืองพัทยา สําหรับในเขตเมืองพัทยา
(๔) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สําหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
(๕) ผู้บริหารท้องถิ่นหรือหัวหน้าของคณะผู้บริหารท้องถิ่น สําหรับในเขตองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง แต่มิใช่องค์การบริหารส่วนจังหวัด
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้หมายความรวมถึงพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๓ ห้ามบุคคลใดทําการขอทาน การกระทําอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการขอทาน
(๑) การขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการขอด้วยวาจา ข้อความ หรือการแสดงกิริยาอาการใด
(๒) การกระทําด้วยวิธีการใดให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้ การแสดงความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรีหรือการแสดงอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินหรือ ทรัพย์สินจากผู้ชมหรือผู้ฟัง การขอเงินหรือทรัพย์สินกันฐานญาติมิตร หรือการเรี่ยไรตามกฎหมายว่าด้วย การควบคุมการเรี่ยไร ไม่ถือว่าเป็นการขอทานตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๔ ผู้ใดประสงค์จะเป็นผู้แสดงความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรีหรือ การแสดงอื่นใด ตามมาตรา ๑๓ วรรคสาม ให้ผู้นั้นแจ้งเพื่อเป็นผู้แสดงความสามารถตามระเบียบที่ คณะกรรมการกําหนด และเมื่อจะแสดงความสามารถในพื้นที่ใด ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ในเขตพื้นที่นั้น เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่ได้รับแจ้งแล้ว ให้ออกใบรับแจ้งไว้เป็นหลักฐาน
ทั้งนี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่ประกาศเป็นการทั่วไปเพื่อกําหนดเขตพื้นที่หรือสถานที่ใดอันเป็น ที่สาธารณะ วันเวลา การใช้อุปกรณ์ หรือสิ่งอื่นใด ให้ใช้ในการแสดงความสามารถ ผู้ใดกระทําการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่ มีอํานาจสั่งให้ผู้นั้นหยุดหรือเลิกกระทําการดังกล่าวได้
มาตรา ๑๕ เมื่อปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้ใดกระทําการฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งตัวผู้ซึ่งฝ่าฝืนนั้นไปยังสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อทําการคัดกรอง และหากการคัดกรองพบว่าผู้ทําการขอทานเป็นเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการหรือ ทุพพลภาพ ที่ต้องดําเนินการตามกฎหมายเฉพาะ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายเฉพาะเพื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไป
มาตรา ๑๖ เมื่อปรากฏจากการคัดกรองว่าผู้ทําการขอทานไม่ใช่บุคคลตามมาตรา ๑๕ แต่เป็นบุคคลซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ไม่มีญาติมิตรอุปการะเลี้ยงดูและไม่มีทางเลี้ยงชีพอย่างอื่น หรืออยู่ในสภาวะยากลําบาก ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้บุคคลดังกล่าวเข้ารับการคุ้มครองและพัฒนา คุณภาพชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ การเข้ารับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกําหนด
มาตรา ๑๗ ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นหรือเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์ของผู้ทําการขอทาน พนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่ส่งตัวผู้นั้นไปเพื่อดําเนินการตามกฎหมายเฉพาะ และให้ผู้ทําการขอทานผู้นั้นได้รับ การคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไปก็ได้
มาตรา ๑๘ ในกรณีผู้ทําการขอทานยอมปฏิบัติตามการดําเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายเฉพาะหรือยอมอยู่ในสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ผู้ทําการขอทานผู้นั้น พ้นจาก ความผิดตามมาตรา ๑๙
มาตรา ๑๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา ๒๐ กรณีผู้ทําการขอทานได้ยอมเข้ารับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต ในสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตแล้ว ต่อมาผู้ทําการขอทานผู้นั้นไม่ยอมรับการคุ้มครอง และพัฒนาคุณภาพชีวิตและได้ออกไปจากสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา ๒๑ ผู้ใดกระทําด้วยประการใด อันเป็นการช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้มีการฝ่าฝืน มาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทําโดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลัง ประทุษร้าย หรือโดยมีหรือใช้อาวุธ ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา ๒๒ ผู้ใดแสวงหาประโยชน์จากผู้ทําการขอทานโดยการใช้ จ้าง วาน สนับสนุน ยุยงส่งเสริม หรือกระทําด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้อื่นทําการขอทาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทําดังต่อไปนี้ ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(๑) กระทําต่อหญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้เจ็บป่วย
(๒) ร่วมกันกระทําหรือกระทํากับบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป
(๓) กระทําโดยนําผู้อื่นจากภายนอกราชอาณาจักรให้มาขอทานในราชอาณาจักร
(๔) กระทําโดยผู้ปกครองหรือผู้ดูแลของผู้ทําการขอทาน
(๕) กระทําโดยพนักงานเจ้าหน้าที่
(๖) กระทําโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอํานาจหน้าที่ดูแลหรือให้คําปรึกษาบุคคลตาม (๑) ความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง (๑) (๒) และ (๔) ไม่ใช้บังคับกับการกระทําระหว่างบุพการี และผู้สืบสันดาน
มาตรา ๒๓ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอํานาจเปรียบเทียบได้ และเมื่อผู้กระทําความผิดได้ชําระค่าปรับตามจํานวนที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กําหนดแล้ว ให้ถือว่า คดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๒๔ ให้สถานสงเคราะห์ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการตามพระราชบัญญัติ ควบคุมการขอทาน พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๕ ผู้ซึ่งถูกส่งตัวไปยังสถานสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งรับการสงเคราะห์อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ได้รับการคุ้มครอง และพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๖ การดําเนินการออกระเบียบโดยคณะกรรมการตามมาตรา ๙ เพื่อปฏิบัติการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ หากไม่สามารถดําเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดําเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบ
มาตรา ๒๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการ ตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอํานาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และประกาศจัดตั้งสถานคุ้มครองและพัฒนา คุณภาพชีวิตเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ที่มาภาพ:http://www.shutterstock.com