ชาวบ้านอึดอัดพูดคุยดับไฟใต้ไม่คืบหน้า อธิการราชภัฏยะลาบอกยังมีหวัง
หัวข้อสนทนาของชาวบ้านร้านตลาดที่ชายแดนใต้ตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ส่งท้ายเดือนเมษาฯก้าวสู่เดือนพฤษภาฯ หนีไม่พ้นการสะดุดหยุดชะงักของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล ไม่ยอมลงนามในร่างบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับกรอบการพูดคุย หรือทีโออาร์ เมื่อวันพุธที่ 27 เม.ย.
ฟังเสียงจากคนในพื้นที่จริงๆ ที่ต้องอยู่ต้องเจอกับสถานการณ์รายวัน จะพบว่ามีทั้งสิ้นหวัง ยังวาดหวัง และหวาดกลัว
นายรักชาติ สุวรรณ ตัวแทนเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า กรอบข้อตกลงฯ หรือร่างทีโออาร์ หากได้ติดตามข่าวก็คงได้รับทราบกันแล้วว่าไม่ผ่านการอนุมัติจากท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะว่าไปแล้วเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร หรือบ้างท่านอาจจะวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะต้องเป็นแบบนี้
“เราอาจไม่รู้ว่าร่างทีโออาร์เขาเขียนอะไรไว้ หรือมีข้อตกลงอะไรหรือไม่ อาจจะมีบางข้อความที่สื่อออกไปแล้วเกิดความอึดอัดใจของรัฐบาลไทยหรือเปล่า จึงไม่ผ่านการลงนาม แต่ประเด็นปัญหาคือหลังจากกลับมาแล้ว การสื่อสารที่จะให้ประชาชนรับทราบ จะสื่อออกมาแนวไหน หรือแม้แต่จะต้องร่างกรอบการพูดคุยกันใหม่หรือไม่ และจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ เรื่องเหล่านี้ มันเกี่ยวโยงกับความรู้สึกอึดอัดใจของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาล” นายรักชาติ กล่าว และว่า
“ความเนิ่นนานของเวลาย่อมสร้างปัญหาทางความรู้สึกให้กับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะความไม่จริงใจต่อกระบวนการพูดคุย อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ภาคประชาสังคมที่ทำเรื่องสันติภาพหรือสันติสุขอยู่ จะลองมาร่วมกันร่าง กรอบแนวคิดเป็นทีโออาร์จำลองได้หรือไม่” เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพฯ ตั้งประเด็นไว้ให้คิดต่อ
นางปาตีเมาะ เปาะอีแตดาโอ๊ะ ประธานสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ กล่าวทำนองเดียวกันว่า ทุกคนตั้งความหวังกับการพูดคุยครั้งนี้เป็นอย่างมาก ขอเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายแสดงความจริงใจกับการแก้ปัญหาให้ชัดเจน และให้มีการแถลงความคืบหน้าให้ประชาชนได้รับทราบ ที่สำคัญอย่าลืมนำข้อเสนอของผู้หญิงเข้าสู่โต๊ะพูดคุยด้วย
“กังวลว่าหลังจากนี้ความรุนแรงจะยืดเยื้อมากขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างใช้สถานการณ์ในพื้นที่เป็นการต่อรองทางการเมือง ประชาชนจะเป็นเหยื่อของเกมทางการเมืองของทั้ง 2 ฝ่าย” ปาติเมาะ แสดงความกังวล
ขณะที่ ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า การพูดคุยยังไม่ได้ล้มไป แต่ท่าทีเมื่อวันที่ 27 เม.ยงถือว่ามีความชัดเจนจากทั้ง 2 ฝ่ายว่าต้องการความรอบคอบและให้เกียรติกัน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องของประเทศชาติ เป็นเรื่องใหญ่ ไม่สามารถผลีผลามได้ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องดูให้เรียบร้อยเกี่ยวกับข้อตกลงต่างๆ คิดว่าต้องใช้เวลา ต้องอดทน การที่ทั้ง 2 ฝ่ายหันหน้ามาคุยกันก็ถือเป็นเรื่องดี เชื่อว่าการพูดคุยจะสามารถเดินต่อไปได้
“การพูดคุยยังไม่ล้ม เพียงแต่อาจมีเหตุผลที่ยังไม่เหมาะสม เป็นเรื่องของการใช้ความรอบคอบในการตัดสินใจ เพราะถ้าพลาดขึ้นมา จะมีปัญหาอื่นตามมา ฉะนั้นต้องตกลงในเบื้องต้นให้ได้ก่อน ยังมีอะไรที่ไม่เรียบร้อย เชื่อว่าทุกอย่างจะบรรลุผลได้ ขอให้ใจเย็นๆ เหตุการณ์ดำเนินมาถึง 12 ปีแล้ว ถือว่าไกล ต้องใช้เวลาและอดทน สันติภาพที่ถาวรจะเกิดขึ้น ประชาชนต้องอดทนและมีความหวังว่าจะสงบ สามารถเกิดการพัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประเพณีได้ทั้งหมด” อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ระบุ
แม้ความรู้สึกของคนในพื้นที่จะหลากหลาย แต่ดูเหมือนทุกฝ่ายมีความหวังเดียวกัน คือ สันติภาพ!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.อักษรา
ขอบคุณ : ภาพจาก พล.อ.อักษรา