มีผลแล้ว! แยก ป.ป.ท.จาก ก.ยุติธรรม เป็นองค์กรขึ้นตรงนายกฯ
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.ป.ป.ท. ฉบับใหม่ แยกออกจากกระทรวงยุติธรรม ยกระดับเป็นองค์กรอิสระ ขึ้นตรงนายกฯ ให้ ครม.-ป.ป.ช.-คตง. คัดรายชื่อแห่งละ 5 คน ส่ง ปธ.ศาลฎีกา-ปธ.ศาลปกครองสูงสุด-ปธ.ศาล รธน.-ปธ.ผู้ตรวจฯ เลือกกรรมการ กำหนดเวลาพิจารณาเรื่องร้องเรียน 3 เดือน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 หรือ พ.ร.บ.ป.ป.ท. และ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2559 โดย พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับ มีเนื้อหาสาระสำคัญคือ ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ออกจากสังกัดกระทรวงยุติธรรม ยกระดับเป็นองค์กรอิสระ และขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
สำหรับเนื้อหาสำคัญใน พ.ร.บ.ป.ป.ท. ฉบับใหม่ มีการปรับปรุงวิธีการได้มาของคณะกรรมการ ป.ป.ท. จากเดิมกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่สรรหาและจัดบัญชีรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกจำนวนหกคนเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ
เปลี่ยนเป็นกำหนดให้คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เสนอรายชื่อบุคคลผู้มีคุณสมบัติองค์กรละ 5 คน ต่อคณะกรรมการคัดเลือก ได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นกรรมการคัดเลือก และกำหนดให้กรรมการมีอายุครบกำหนด 70 ปี พ้นจากตำแหน่ง
นอกจากนี้ยังปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ท. และสำนักงาน ป.ป.ท. ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การรับเรื่องไว้พิจารณาได้กำหนดระยะในการพิจารณา 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับการกล่าวหา รวมถึงกำหนดให้เลขาธิการ และพนักงาน ป.ป.ท. ที่ได้รับมอบหมาย มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นแทนคณะกรรมการ ป.ป.ท.
ขณะเดียวกันได้ยกเลิกการให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ท. รวมถึงกำหนดให้กรณีที่พนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้กล่าวหาและส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณา ให้พนักงาน ป.ป.ท. มีอำนาจพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ต้องมีหลักประกันด้วย
ทั้งนี้ หมายเหตุในการปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐมีกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงและการดําเนินการล่าช้าและก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์และรูปแบบของการทุจริตที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สมควรปรับปรุงกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง และกําหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ รวมทั้งพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐของสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐได้ช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐให้เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐในส่วนของการได้มา องค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามและการพ้นจากตําแหน่งของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
และกําหนดให้สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสํานักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง เพื่อให้มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน รวมทั้งเพิ่มเติมมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ อันจะมีผลให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐบรรลุผลและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนจึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ขณะที่ หมายเหตุในการปรับปรุง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงฯ ระบุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 เพื่อกําหนดให้สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเป็นส่วนราชการไม่สังกัดสํานักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงและกําหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสํานักงานและขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี สมควรกําหนดให้สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
อ่าน พ.ร.บ.ป.ป.ท. ฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/038/39.PDF
อ่าน พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงฯ ฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/038/49.PDF