คลังเผยตัวเลขฟ้องร้องดำเนินคดีเบี้ยวหนี้กยศ. พุ่งกว่า 7 แสนราย
คลังเผย กยศ.ดำเนินการมา 20 ปี อนุมัติเงินกว่า 4 ล้านราย มีผู้ชำระหนี้แล้วกว่า 4 แสนราย หนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ 1.09 ล้านราย ถึงกำหนดชำระหนี้ 3.6 ล้านราย ตัวเลขฟ้องร้องดำเนินคดีพุ่งกว่า 7 แสนราย
วันที่ 29 เมษายน ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายวัลลภ ตังคณานุ รักษ์ สมาชิกสนช. ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง ปัญหาการค้างชำระหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ดังนี้
1.ปัจจุบันกยศ.ได้ให้นักเรียน นักศึกษา กู้ยืมเงินจากกองทุนไปแล้วจำนวนกี่ราย และเป็นจำนวนเงินเท่าใด ตลอดจนมีผู้นำเงินมาชำระหนี้คืนทั้งหมดแล้วเท่าใด และคงเหลือจำนวนเงินที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้คืนรวมทั้งหมดเท่าใด
2.การฟ้องร้องดำเนินคดีในกรณีเรียกเงินกู้ยืมคืน มีปริมาณคดีที่ยังค้างอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลจำนวนเท่าใด และในแต่ละปีต้องเสียงบประมาณในการทวงหนี้ผู้กู้ไปมากน้อยเท่าใด
3. รัฐบาลจะมีนโยบายหรือมาตรการในการบังคับหรือทวงเงินกู้ยืมคืนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบกระทู้ถามแทนนายกรัฐมนตรี โดยชี้แจงว่า กยศ.เริ่มดำเนินการมา 20 ปี อนุมัติเงินให้กว่า 4 ล้านราย มีผู้ชำระหนี้แล้วกว่า 4 แสนราย หนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ 1.09 ล้านราย ถึงกำหนดชำระหนี้ 3.6 ล้านราย
ส่วนการฟ้องร้องดำเนินคดีปัจจุบัน กองทุนได้ดำเนินคดีกับผู้กู้ยืมกว่า 7 แสนราย ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้กู้ชำระหนี้แต่ยังไม่มาชำระกว่า 7 แสนราย และอยู่ระหว่างการดำเนินการของศาล 33 ราย
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้ปีล่าสุดปี 2558 มียอด 271.17 ล้านบาทที่สูงขึ้น เนื่องจากมีกระบวนการติดตามหนี้เพิ่มเติมโดยการว่าจ้างเอกชน ทั้งนี้ก่อนครบเวลาชำระหนี้จะมีการแจ้งภาระหนี้ให้ทราบเป็นระยะหากรวมระยะเวลา 2 ปีนับจากสำเร็จการศึกษา ก่อนจะถึงขั้นตอนการดำเนินคดีจะใช้เวลาแจ้งภาระหนี้ 7 ปี ถือว่าเป็นกระบวนการที่ผ่อนปรน
"กระบวนการติดตามทวงหนี้ยังไม่สมบูรณ์มากนัก ส่งผลให้ตัวเลขาการชำระหนี้น่ากังวล กยศ.พยายามแก้ไขปัญหาโดยการสร้างระบบแรงจูงใจในเรื่องของค่าตอบแทนต่างๆ ทำลงนามความร่วมมือ (MOU) กับนายจ้าง เพิ่มช่องทางการชำระหนี้ การสร้างจิตสำนึกโดยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา"
รมช.คลัง กล่าวอีกว่า รัฐบาลเล็งเห็นถึงปัญหาและสั่งการให้กระทรวงการคลังปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงจะมีการรวม กยศ. และ กองทุนเพื่อการศึกษา (กรอ.) เพื่อความมีเอกภาพ
นายวิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนผู้ชำระที่ไม่มีจิตสำนึกจะใช้ช่องทางใหม่ คือ ให้กรมสรรพากรแจ้งองค์กรนายจ้างให้หักเงินเดือน ซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้กู้ เชื่อว่ากระบวนการเพิ่มช่องทางการชำระหนี้โดย การสร้างจิตสำนึก การหักโดยการยินยอมรวมถึงการผ่อนชำระให้ จะทำให้กระบวนการบริหารงานของ กยศ.มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่มาภาพ:www.studentloan.or.th/detail.php?cid=1529
เนื้อหาข่าว:จากวิทยุรัฐสภา