จาก "ผู้สูญเสีย" สู่ "ผู้เสียสละ" - 12 ปีกรือเซะ...ไฟใต้ดับได้ด้วยความเข้าใจ
หากจะพูดถึงสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในห้วงกว่า 1 ทศวรรษมานี้ คือเหตุการณ์กรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547
เพราะเป็นเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่ถึง 1 วัน แต่คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 109 ศพ
12 ปีผ่านไป...เหตุการณ์กรือเซะสร้างบทเรียนอะไรให้กับการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้บ้าง เป็นเรื่องที่น่าขบคิด
วันที่ 28 เมษายน เมื่อ 12 ปีที่แล้ว เป็นวันที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง เมื่อกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมซึ่งส่วนใหญ่มีเพียงกริช มีด และของมีคมเป็นอาวุธ กระจายกันบุกเข้าโจมตีป้อมจุดตรวจของเจ้าหน้าที่รวม 11 จุดในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และสงขลา
จุดใหญ่ที่สุดคือที่ มัสยิดกรือเซะ มัสยิดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองปัตตานี เฉพาะจุดนี้จุดเดียวมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 ศพ และเหตุการณ์ในวันนั้นมีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตมากถึง 109 คน ถือเป็นเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่วันปล้นปืน 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา
หนึ่งในผู้เสียชีวิตในวันนั้น และเสียชีวิตอยู่ในมัสยิดกรือเซะด้วย คือ พ่อของ คอรีเยาะ หะหลี ชายวัยกลางคนจากบ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
เฉพาะที่บ้านส้มหมู่บ้านเดียว มีครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์กรือเซะมากถึง 8 ครอบครัว ชีวิตของพวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบาก เนื่องจากต้องสูญเสียเสาหลักไป
ความตายที่ส่วนหนึ่งเกิดจากปฏิบัติการตอบโต้ด้วยอาวุธหนักของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ครอบครัวของคนเหล่านี้เคยจมอยู่กับความเจ็บปวดที่ซ้ำเติมด้วยปัญหาความยากจน
แต่ด้วยความพยายามเยียวยาของภาครัฐด้วยการจ่ายค่าชดเชยให้กับครอบครัวผู้สูญเสียเมื่อปลายปี 2555 รวม 109 ราย เป็นเงินถึง 302 ล้านบาท ได้ช่วยให้ความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น
หลายคนได้รับโอกาสในการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ และผันตัวเองมาเป็น “มือบน” ช่วยเหลือดูแลผู้สูญเสียจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมา และหนึ่งในนั้นก็คือ คอรีเยาะ หะหลี ซึ่งวันนี้เธอบอกว่าไม่มีความรู้สึกต่อต้านหรือต้องการล้างแค้นอยู่ในหัวใจอีกแล้ว มีแต่การพลิกวิกฤติเป็นโอกาส พลิกบทบาทจาก “ผู้สูญเสีย” มาเป็น “ผู้เสียสละ”
“รู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งเมื่อถึงวาระครบรอบเหตุการณ์กรือเซะ ขอทุกฝ่ายหยุดใช้พวกเราเป็นเครื่องมือ เพราะพวกเราจบแล้ว ครอบครัวอยู่อย่างปกติสุขแล้ว ไม่มีแรงที่จะไปต้อต้านหรือล้างแค้นรัฐโดยการจับอาวุธต่อสู้ เราอยากพลิกวิกฤติมาเป็นโอกาสให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่มากกว่า” คอรีเยาะ บอก
บทบาทของเธอ คือการดึงความช่วยเหลือจากภาครัฐให้เข้าถึงเหยื่อความรุนแรงและผู้คนที่ด้อยโอกาสในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ครอบครัวผู้สูญเสียหลายครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และร่วมมือร่วมใจพัฒนาพื้นที่ให้ไปสู่ปลายทางที่ทุกคนวาดหวัง...นั่นคือสันติสุข
“ทุกวันนี้เราไม่ได้เป็นแค่เหยื่อ เรายังเป็นคนที่ช่วยเหลือคนอื่นได้ คอยเป็นตัวกลางประสานงานเมื่อชาวบ้านมีปัญหา รู้สึกชีวิตมีคุณค่าและมีความสุขด้วย เราพยายามพลิกทุกอย่างให้เป็นโอกาส เพื่อสามารถมาพัฒนาชาวบ้านในพื้นที่ได้ ใครเดือดร้อนก็จะมาหา มาขอความช่วยเหลือ เราก็รับปัญหามา แล้วส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดที่รับผิดชอบไปแก้ไข ปัญหาถูกแก้ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ทุกปัญหาที่ส่งไป ทุกหน่วยจะรีบดำเนินการให้ทันที”
แม้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวผู้สูญเสียจะดีขึ้น แต่บาดแผลในใจก็ไม่อาจลบเลือนไปได้ง่ายๆ ผู้สูญเสียหลายคนบอกว่าเหตุการณ์ร้ายครั้งนั้นเป็นเหมือนละครชีวิต เป็นละครที่มีตอนจบเป็นโศกนาฏกรรม แล้วจะให้ลืมไปง่ายๆ ได้อย่างไร
ปาตีเมาะ หะหลี แม่ของคอรีเยาะ ซึ่งต้องสูญเสียสามีไปในเหตุการณ์กรือเซะ บอกว่า ไม่เคยลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย ทุกปีจะทำอาหารเลี้ยงชาวบ้าน ปีนี้ก็ทำ ขนมจีนเลี้ยง จะให้ลืมได้อย่างไร
“เขา (หมายถึงสามี) เป็นคนดี ก่อนที่เขาจะจากไป เราป่วยพอดี เขาจะทำกับข้าว หาน้ำให้กินทุกวัน โดยเฉพาะวันไหนเขาไม่ได้ไปกรีดยาง เขาก็จะทำกับข้าวเตรียมไว้ พอเขาจากไป ทำให้ยากที่จะลืม” ปาตีเมาะ เล่าความหลัง
“มันเหมือนละครจริงๆ ชีวิตคนเรา นี่คือเหตุผลที่เครียดทุกวัน บางครั้งก็ร้องไห้คนเดียว ไปหาหมอ หมอก็พยายามถามว่าเป็นอะไร เราจะบอกก็อายหมอ เลยเงียบ แต่หมอรู้ว่าเราเครียดจนนอนไม่ได้เลยบางช่วง” เป็นบาดแผลในใจของคนที่อยู่ข้างหลัง
ขณะที่ สารีปะ สะแลแม ภรรยาของ อิสมะแอ ลาเตะ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์กรือเซะเช่นกัน บอกว่า หลังจากได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ ครอบครัวก็อยู่ดีขึ้นกว่าเดิม เงินที่ได้มาก็นำไปซื้อสวนยาง สร้างบ้านที่มั่นคง จ่ายหนี้ และแบ่งให้ลูกๆ
“แค่นี้ก็ดีใจแล้ว ชีวิตครอบครัวอยู่สุขสบายมากขึ้น จากที่ไม่มีบ้านก็มีบ้าน จากที่มีหนี้ก็ไม่มีหนี้ ฉันอยากให้เหตุการณ์สงบเสียที อย่าให้มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บที่เกิดจากเหตุการณ์รุนแรงอีกเลย”
จากการทำงานของภาครัฐ ประกอบกับเวลาที่ล่วงผ่านไป ทำให้ทราบว่าเหยื่อในเหตุการณ์กรือเซะจำนวนไม่น้อยที่ถูกหลอกให้ไปตาย
นายมิง (นามสมมติ) ชายหนุ่มวัย 35 ปี หนึ่งในผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น ทำให้รู้เลยว่าขบวนการไม่ได้เริ่มจากอุดมการณ์ แต่เป็นการชักจูงโดยที่ผู้ร่วมอยู่ในขบวนการไม่รู้ตัว ทำให้ทุกวันนี้ครอบครัวของเหยื่อจากเหตุการณ์กรือเซะพูดตรงกันว่า “ถูกหลอก”
“อันนี้ยืนยันได้ในฐานะผู้ที่รอดมา พวกเราถูกหลอกให้ไปตายจริงๆ” นายมิง กล่าว
ปัญหาชายแดนใต้ในวันนี้ หลักใหญ่ใจความจึงอยู่ที่การยอมรับอดีต ทำความเข้าใจ และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยอีก สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ควรเกิดแค่บนโต๊ะเจรจานอกประเทศ แต่ควรทำกับคนในพื้นที่เอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ร้ายแรง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มัสยิดกรือเซะ
2 (ซ้าย) คอรีเยาะ (ขวา) ปาตีเมาะ
3 คอรีเยาะขณะลงพื้นที่ช่วยชาวบ้าน