ชุมชนภาคกลาง ประกาศจุดยืนแก้ภัยพิบัติท้องถิ่น-เสนอนโยบายแก้อุทกภัยชาติ
เครือข่ายองค์กรชุมชนภาคกลาง จัดงานฟื้นฟูน้ำท่วม ถอดบทเรียนจากพื้นที่ “ชาวบ้านต้องจัดการตนเองก่อน” เสนอท้องถิ่น-รัฐบาล ปรับตัวบริหารน้ำใหม่ หนุนกองทุนภัยพิบัติตำบล ปรับวิถีการเกษตร
เมื่อเร็วๆนี้ คณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชน 9 จังหวัดภาคกลาง ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช) จัด “งานฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยพิบัติ สู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลุ่มน้ำภาคกลาง” ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต.บางกระบือ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี โดยขบวนองค์กรชุมชนทั้ง 9 จังหวัดได้ร่วมกันประกาศจุดยืนจัดการภัยพิบัติต้องเริ่มนับหนึ่งที่ชุมชน พร้อมข้อเสนอนโยบายเพื่อแก้ปัญหามหาอุกทกภัยระดับชาติ
นางพวงทิพย์ อุ่มโพธิ์ นายก อบต.ท่าฉนวนจ.ชัยนาท กล่าวว่าตำบลท่าฉนวนเป็นพื้นที่น้ำท่วมทุกปี การรับมือภัยกับน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมานั้นชาวบ้านตกลงร่วมกันว่ายอมให้ครัวเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 100 ครัวเรือนท่วมเพราะต้องมีที่อยู่ให้น้ำ เพื่อรักษาคนกว่า 1,000 ครัวเรือน และพื้นที่นากว่า 15,000 ไร่ ซึ่งเก็บเกี่ยวไม่ทัน โดยมีอาสาสมัครในตำบล 500 คนคอยช่วยเหลือชุมชนทั้งจัดทำอาหาร ก่อทรายกั้นน้ำ เฝ้าระวังน้ำ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ทำให้คนและพื้นที่นาส่วนใหญ่ปลอดภัย ทั้งนี้จึงเสนอให้รัฐสนับสนุนงบประมาณผ่านท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นซึ่งรู้จักพื้นที่ดี จัดการตนเอง
นางอร่ามศรี จันทร์สุขศรี ผู้นำชุมชนวัดเขาจอมคีรีนาคพรต เทศบาลนครนครสวรรค์ ระบุว่าคนในพื้นที่มีประสบการณ์น้ำท่วมปี 2549 จึงร่วมกันวางแผนป้องกันน้ำปี 2554 เช่น บ้านเรือนหลายหลังได้ยกสูงขึ้น สร้างผนังดินเพื่อรักษา 6 ชุมชนกว่า 1,000 ครัวเรือนให้เยาวชนช่วยรายงานสถานการณ์น้ำรายวัน อย่างไรก็ตามน้ำท่วมปีนี้หนักว่าที่ผ่านมาจึงยังรับมือไม่ไหว ทั้งนี้มีความเห็นว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชนด้วย และต้องไม่มุ่งป้องกันเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม
ร้อยโทบุญชอบ สมัครวงศ์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบางกระบือ จ.สิงห์บุรี กล่าวว่าคนบางกระบือคุ้นเคยกับวิถีชีวิตที่อยู่กับน้ำ บ้านทุกหลังมีเรือ และในเดือน เม.ย.54 หลังจากที่ได้รับงบประมาณจาก พอช. สภาองค์กรชุมชนได้ได้จัดอบรมเยาวชนในตำบลช่วงปิดเทอม โดยให้ว่ายน้ำเป็น คุ้นเคยกับอุปกรณ์ในการช่วยชีวิต เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง การใช้เชือกช่วยคนที่กำลังจะจมน้ำหรือโยงเป็นสะพานยึดเพื่อข้ามน้ำ ฝึกการทำแพไม้ไผ่ พายเรือ ขับเรือยนต์ ฝึกดำน้ำลึก เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองและคนอื่นได้
“ปีนี้น้ำมาเร็วเกินกว่าที่คิด จึงหลีกไม่พ้นผลกระทบ อย่างไรก็ดีปีนี้ตำบลเราไม่มีผู้เสียชีวิต เยาวชนที่ฝึกมาก็มีบทบาทช่วยเหลือดูและส่งของเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัย หลังจากน้ำลดชาวบ้านก็ได้ปล่อยคาราวาน ทำความสะอาด ทำอาหาร ทำถนน 7 วัน และที่นี่เรามีมีกองทุนภัยพิบัติของตนเองด้วย”
ร้อยโทบุญชอบ ยังกล่าวถึงข้อเสนอว่า อยากให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการทำนาของเกษตรกรจากปีละ 3 ครั้งเหลือปีละ 2 ครั้ง โดยให้เว้นช่วงฤดูน้ำหลาก ให้รัฐส่งเสริมพันธุ์ข้าวที่ทนน้ำให้เกษตรกร
นางพรรณี จันทรวงษ์ ผู้นำชุมชนตำบลคลองวัว อ. เมือง จ.อ่างทอง. กล่าวว่าคลองวัวเป็นพื้นที่รับน้ำ จึงเตรียมการช่วยเหลือตนเองก่อน เช่น นำกองทุนสวัสดิการชุมชนมาทำถุงยังชีพแจกทุกครอบครัว ทั้งนี้เสนอว่าการตัดไม้ทำลายป่าเป็นสาเหตุใหญ่ของภัยพิบัติ ต้องลงโทษให้หนัก และไม่เห็นด้วยกับการกักน้ำไว้มากๆต้องค่อยๆปล่อยเพื่อบรรเทาผลกระทบ ส่วนการช่วยเหลือของท้องถิ่นและรัฐบาลต้องไม่เลือกปฏิบัติ
ด้าน นายพลากร วงศ์กองแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่าการแก้ปัญหาภัยพิบัติมีรูปธรรมจากชุมชนหลายพื้นที่ที่สามารถจัดการตนเองได้ดี แต่ปัญหาปีนี้ใหญ่มาก ต้องใช้ภูมิปัญญาชุมชน ขณะเดียวกันก็ต้องใช้ความรู้และข้อมูลข้างนอกมาช่วยเช่นกัน แต่ที่ผู้หวังดีข้างนอกต้องรับฟังเสียงและข้อมูลชาวบ้าน
ผญ.ปฐมมล กันหา ผู้นำชุมชน จ.สระบุรี ระบุว่าการจัดการตนเองเรื่องภัยพิบัติ ชุมชนต้องนับหนึ่งก่อนโดยสร้างพื้นที่รูปธรรม แล้วท้องถิ่นหรือระดับนโยบายค่อยมาต่อยอด เช่น ต่อยอดเรื่องกองทุนภัยพิบัติซึ่งหลายพื้นที่มีอยู่แล้ว
………………………………
(ล้อมกรอบ)
ข้อเสนอของขบวนชุมชน 9 จังหวัดภาคกลาง (นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา) เพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติ (อุทกภัย)…
สิ่งที่ขบวนองค์กรชุมชนจะดำเนินการเอง
1.จัดตั้งกองทุนแก้ปัญหาภัยพิบัติระดับตำบล/เมือง ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนสวัสดิการ
ชุมชน 2.ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการลุ่มน้ำ 3.จัดทำแผนป้องกันและรับมือภัยพิบัติในระดับตำบลหรือเครือข่าย ครอบคลุมระบบฐานข้อมูลชุมชน ข้อมูลคน สัตว์เลี้ยง เพื่อรองรับการอพยพ มีระบบอาสาสมัคร ศูนย์ประสานงาน กำหนดจุดปลอดภัย จุดเสี่ยงภัย เส้นทางอพยพ อาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์การเดินทางทั้งทางบกและทางน้ำ
4.จัดตั้งศูนย์ประสานงานและศูนย์เตือนภัยในชุมชน เพื่อสื่อสารเตือนภัยและช่วยเหลือตนเองของชุมชน 5.จัดระบบดูแลกันเองเบื้องต้น เช่น แต่ละตำบลมีข้าวสารอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างน้อยหนึ่งเดือนระหว่างเกิดภัย 6.ปรับวิถีการทำเกษตร/การทำนา เว้นการทำนาฤดูน้ำหลาก และเก็บเกี่ยวให้เสร็จสิ้นก่อนเพื่อลดการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร 7.ประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อรับการช่วยเหลือและแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
1.ท้องถิ่นและรัฐบาลสมทบงบประมาณเข้ากองทุนแก้ปัญหาภัยพิบัติของชุมชน 2.ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการเปิด-ปิดน้ำในเขื่อนโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมและประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย โดยอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่แก้มลิงเพื่อเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก พัฒนาและจัดระบบห้วยหนองคลองบึง ให้สามารถกักน้ำและระบายน้ำได้รวดเร็ว โดยเชื่อมโยงกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำสาขา สร้างระบบทางด่วนพิเศษให้น้ำท่วมไหลหลาก มีหน่วยงานรัฐรับผิดชอบดูแลจัดการภัยพิบัติโดยตรง ปรับปรุงระบบระบายน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพ เช่น ขยายประตูน้ำให้สอดคล้องกับขนาดคลอง ขุดลอกสม่ำเสมอ ควบคุมการสร้างถนนในอนาคตที่ปิดกั้นทางน้ำ
3.รัฐบาลสนับสนุนศูนย์จัดการภัยพิบัติระดับชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมให้ท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางแก้ปัญหาภัยพิบัติ โดยสนับสนุนภาคประชาชน สภาองค์กรชุมชน ชุมชนท้องถิ่น และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นร่วมบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ และจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติระดับพื้นที่เอง 4.มีระบบการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงกับศูนย์ประสานงานหรือศูนย์เตือนภัยชุมชน 5.ปรับปรุงมาตรฐานการรับมือภัยน้ำท่วม การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่รวดเร็วและเป็นธรรม
6.ท้องถิ่นและรัฐบาลสนับสนุนพันธุ์ข้าวที่ทนต่อน้ำท่วมให้เกษตรกร หรือปลูกพืชทดแทนที่ใช้เวลาน้อย หน่วยงานหลักคือกรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ต้องร่วมกำหนดแผนงานที่สอดคล้องกันเพื่อแก้ปัญหาประชาชน 7.ให้มีหน่วยงานภัยพิบัติที่รับผิดชอบโดยตรง และมีการศึกษาวิจัยเพื่อลดปัญหาภัยพิบัติ 8.ให้ชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดพื้นที่ประกาศภัยพิบัติ และมีส่วนร่วมบริหารจัดการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย .