ดร.อดิศร ลั่นปฎิรูปอุตฯ ประมงทั้งระบบ ยันเรือนอกน่านน้ำ ต้องมีใบอนุญาต
อธิบดีกรมประมงคนใหม่ ยันวิกฤติประมงไทยไม่ใช่ใบเหลือง IUU แต่คือการบริหารจัดการ ยันพรก.ประมง 2558 หัวใจปฎิรูป พร้อมแนะคนกรมประมงปรับเปลี่ยนแนวคิดการืทำงานใหม่
วันที่ 27 เมษายน กรมประมง จัดสัมมนาวิชาการ "ทิศทางการประมงนอกน่านน้ำไทย ภายหลังพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558" ณ ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โดยมีผู้เกี่ยวข้องในวงการประมงนอกน่านน้ำเข้าร่วม
ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงการทำประมงที่มีปัญหาเรื่องทรัพยากร ความสมดุลของระบบนิเวศ ขณะที่การทำประมงนอกน่านน้ำไทย ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ หากประมงนอกน่านน้ำไทยหายไปจะเป็นวิกฤติประเทศ ที่ผ่านมาเรามีปัญหามานานแต่ได้รับการแก้ไขน้อยมาก
"วิกฤติของไทยไม่ใช่ใบเหลืองอียู แต่คือการบริหารจัดการการประมงที่ถูกต้องเหมาะสม หลายประเทศจึงไม่ยอมรับ ไม่ซื้อสินค้าประมง หวั่นว่าจะลุกลามไปเรื่องอื่น การควบคุมกำกับจึงต้องเกิดขึ้น รวมถึงจำเป็นต้องปฎิรูปอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ ไม่เฉพาะภาคเอกชน แต่รวมไปถึงหน่วยงานราชการ ทั้งกรมประมง กรมศุลการ และกระทรวงแรงงานด้วย"
สำหรับโครงสร้างกรมประมงนั้น อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ไม่สามารถทำงานในรูปแบบใหม่ได้ ฉะนั้น คนกรมประมงต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำงานใหม่ การบริหารจัดการทรัพยากรประมงต้องได้รับการบริหารอย่างยั่งยืนด้วย
การทำประมงนอกน่านน้ำไทย ทำประมงนอกน่านน้ำสากล อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า มีการออกกฎระเบียบนานาชาติ ออกความตกลงระหว่างประเทศ มีผลบังคับ ในฐานะรัฐชายฝั่งจึงมีข้อตกลง รวมถึงของซื้อของขายก็มีกฎเกณฑ์บังคับ จะเห็นว่า วันนี้โลกมีกติกา ไม่ใช่มองแค่การซื้อขาย นโยบายรัฐไทยจึงพูดถึงความยั่งยืนทางอาหาร ทะเล มหาสมุทร อาหารของมนุษยชาติ เพราะประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก เรากำลังทำสิ่งเหล่านี้เพื่ออนาตลูกหลาน
ส่วนพรก.การประมง 2558 อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กำหนดให้กรมประมงออกใบอนุญาตการทำประมงเรือนอกน่านน้ำ จากอดีตที่ไปขออนุญาตจากรัฐชายฝั่ง และ ให้มีการควบคุมเฝ้าระวัง รวมไปถึงเรือขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล ก็ต้องมีการจดทะเบียนกับกรมประมง และให้มีผู้สังเกตุการณ์ประจำ มีการตรวจสุขอนามัยเรือด้วย ขณะเดียวกันกฎหมายใหม่นี้ก็เน้นให้มีโทษปรับที่รุนแรง
ทั้งนี้ อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงระเบียบการประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุม หรือ IUU ของสหภาพยุโรปด้วยว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้จะไปหารือและให้ข้อมูล หลังจากอียูให้คำแนะนำไทยทั้งเรื่องการออกใบอนุญาต การคำนวณทรัพยากรสัตว์น้ำ ที่ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งประเทศไทยไม่เคยทำมาก่อน