แพทย์เบาหวานหนุนเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง
หมอเบาหวานขานรับเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง ชี้เป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ ยันคนไทยติดหวาน ส่งผลให้เกิดโรครุมเร้า ทั้งเบาหวาน ความดัน สูญเสียค่ารักษาพยาบาลคิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวถึงกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ลงมติเห็นชอบให้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพนั้น ถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ และลดการติดหวาน ซึ่งทุกวันนี้คนไทยบริโภคน้ำตาล 100 กรัมต่อคนต่อวัน ทั้งๆ ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 50 กรัมต่อวัน นอกจากนี้ก็จะช่วยให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจกับผลิตภัณฑ์ของตัวเองด้วย ซึ่งทุกวันนี้น้ำตาลในเครื่องดื่มที่วางขายตามตลาดทั่วไปมีน้ำตาลถึง 12 เปอร์เซ็นต์
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าวว่า ผลการศึกษาพิสูจน์ชัด การบริโภคน้ำตาลเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหลาย ทั้งโรคอ้วน, โรคหัวใจหลอดเลือด และโรคเบาหวาน ในแต่ละปีต้องเสียค่าใช้จ่ายรวมกันแล้วคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 2.14% ของจีดีพี หรือเกือบสองแสนล้านบาท
"มาตรการเก็บภาษีนี้ ถือเป็นมาตรการเข้มงวดในการป้องกัน ดีกว่ารอให้เกิดโรคแล้วมารักษากันทีหลัง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าใช้งบประมาณสูงมาก ขณะเดียวกันครอบครัวและหน้าที่การงานของผู้ป่วยก็มีปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่"นายกสมาคมโรคเบาหวาน กล่าว และว่า คนเราไม่จำเป็นต้องบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงในชีวิตประจำวันก็ได้ เพราะในอาหารที่รับประทานในมื้อปกติ มีน้ำตาลพอเพียงต่อความต้องการของร่างกายแล้ว เช่น จากข้าว หรือก๋วยเตี๋ยว หรือกรณีนมจืดธรรมชาติ100% มีน้ำตาลแลคโตสในตัวถึง 5%
สำหรับตัวชี้วัดผลของการบริโภคน้ำตาลของคนไทยนั้น ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าวว่า คืออัตราการป่วยเป็นโรคเบาหวาน ขณะนี้คนไทย 88 คนใน 100 คนมีความเสี่ยงที่เป็นโรคเบาหวานแล้ว
สำหรับประเทศที่จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล โดยใช้ปริมาณน้ำตาลเป็นเกณฑ์การจัดเก็บ เช่น ฟินแลนด์ เม็กซิโก และบางรัฐของสหรัฐอเมริกา ซึ่งการขึ้นภาษีนี้ เป็นการลงทุนน้อยที่สุด แต่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ซึ่งมาตรการดังกล่าว นอกจากจะมีศักยภาพในการส่งเสริมสุขภาพแล้ว ยังสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐอีกด้วย