หมอไทยทำงาน100 ชม./สัปดาห์ ปธ.สพศท.หวั่นบั่นทอนกำลังรักษาคนไข้
ชำแหละข้อจำกัดแพทย์ไทยยุคปัจจุบัน ทำงานเกิน 100 ชม./สัปดาห์ แย่งห้องผ่าตัด ถูกมองเป็นผู้ขายบริการ ปธ.สพศท.หวังรัฐยุติใช้การเมืองนำหน้าวิชาชีพแก้ปัญหา
วันที่ 27 เมษายน 2559 แพทยสภา จัดประชุมทิศทางการประกอบวิชาเวชกรรมในอนาคต ณ ห้องประชุม ไพจิตร ปวะบุตร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี
นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) เปิดเผยถึงความจริงและข้อจำกัดทางการแพทย์ในประเทศไทย ว่า รพ.ชุมชน มีแพทย์ตรวจรักษาที่มีความรู้ทางเวชศาสตร์ทั่วไป กว้าง แต่ไม่ลึก ขณะที่ รพ.ศูนย์ มีแพทย์ตรวจรักษาที่มีความรู้ทางเวชศาสตร์เฉพาะด้าน แคบ แต่ลึก คนไข้ 1 คน จึงใช้แพทย์หลายคน ดังนั้น หลายแห่งจึงใช้ทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก
“ปัจจุบัน รพ.หลายแห่ง มีการจัดทอดผ้าป่า หรือขอรับบริจาค เพื่อระดมเงินมาพัฒนา ถามว่า รัฐบาลอยู่ที่ไหน” ประธาน สพศท. กล่าว และว่า ยังมีข้อจำกัดในการดูแล ซึ่งเคยมีการศึกษาชั่วโมงการทำงานของแพทย์ พบว่า มากกว่าครึ่งทำงานเกิน 100 ชม./สัปดาห์
นพ.ประดิษฐ์ ยังกล่าวว่า ตลกเศร้า คือ แพทย์ประจำ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป 116 แห่ง แย่งห้องผ่าตัด บางคนถึงขั้นทะเลาะกัน เพื่อต้องการห้องให้คนไข้ได้ผ่าตัด เพราะปัจจุบันเหลือเพียง 100 กว่าห้อง จากเดิมที่มีกว่า 800 ห้อง เพราะถูกปิดตัวไป ผลที่ตามมา คือ คนไข้เสียชีวิตมากขึ้น อะไรทำให้เราอยู่ในสภาพเช่นนี้
นอกจากนี้ รพ.ชุมชน ถูกลดขีดความสามารถลง เพราะกลัวการฟ้องร้อง กลายเป็นสถานีอนามัย แต่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล และไม่เห็นด้วยที่กรณีฟ้องร้องมองคนไข้เป็นผู้บริโภค เพราะแพทย์ไม่ใช่ผู้ขายบริการ และคนไข้ไม่ใช่ผู้บริโภค แต่เป็นการประกอบวิชาเวชกรรม และหลายคนเข้ามาให้เราช่วยเหลือ
“ระบบสาธารณสุขของไทยมีปัญหามานาน แต่ที่ผ่านมาใช้การเมืองนำวิชาชีพ จึงแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะการเมืองเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มและคะแนนนิยม และหากใช้ประชานิยม ก็จะกลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวชาวบ้านตำหนิ พัฒนาไม่ได้” ประธาน สพศท. กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้แพทยสภาได้ผลักดันร่างประกาศแพทยสภา เรื่อง แนวทางการกำหนดภาระงานแพทย์ โดยมีรายละเอียด จำกัดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ ไม่เกิน 80 ชม./สัปดาห์ ควรมีวันหยุดอย่างน้อย 1 วัน/สัปดาห์ ระยะเวลาเวรปฏิบัติการไม่ควรเกิน 16 ชม.ต่อเนื่องกัน ถ้าระยะเวลาปฏิบัติงานติดต่อกัน 24 ชม.ต้องมีเวลาหยุดพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชม. การอยู่เวรปฏิบัติงานนอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 7 เวร/เดือน และภายหลังการปฏิบัติงานในกะดึก (หลังเที่ยงคืน) ต้องมีเวลาหยุดพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชม. อีกทั้งแพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี เป็นต้นไป ควรงดอยู่เวรปฏิบัติงานนอกราชการ .