ยุคสร้างข่าว-สื่อข่าวเองได้ องคมนตรี ห่วงสื่อดิจิทัล ขาดการกำกับดูแล
องคมนตรี ชี้สังคมดิจิทัลเปลี่ยนแปลงรวดเร็วคุณธรรม จริยธรรมเป็นเรื่องน่าห่วง เน้นคนสื่อกำกับการดูเเลกันเองเป็นอันดับแรก แนะมหาวิทยาลัยปรับปรุงหลักสูตรให้ก้าวทัน
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ศูนย์คุณธรรม(องค์มหาชน) ร่วมกับ องค์กรเครือข่ายสื่อมวลชน 19 องค์กร และคณะนิเทศศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน สื่อคุณธรรม สร้างสรรค์สังคมไทย”โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ จริยธรรมสื่อมวลชน ในยุคดิจิทัล"
โดยในตอนหนึ่งของการบรรยาย ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวถึงสังคมในยุคดิจิทัล กับการกำกับควบคุมสื่อว่า ใครควบคุมสื่อ เป็นคำถามที่มีมาในทุกยุคทุกสมัย สิ่งที่สื่อมวลชนต้องทำให้ได้เป็นอันดับแรกคือการควบคุมกันเอง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชน ลำดับต่อมาคือ สมาคมวิชาชีพสื่อ ออกกฎเกณฑ์ จรรยาบรรณวิชาชีพขึ้นมาเพื่อที่จะควบคุมสื่อ โดยตั้งแต่โบราณ วิชาชีพต่างๆ มีการจัดตั้ง สมาคมเพื่อควบคุมวิชาชีพตนเอง เพื่อให้มีศักดิ์มีศรี ในสายตาของประชาชน
"การตั้งสมาคมวิชาชีพขึ้นมาต้องทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อจะปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่ม ทำงานแบบลูบหน้าปะจมูกหรือ มีอคติ"
ศ.เกียรติคุณ นพ. เกษม กล่าวต่อไปว่า อาชีพสื่อเป็นอาชีพสาธารณะ แต่ก็ไม่ใช่สาธารณะแบบนักการเมืองหรือราชการ สื่อมวลชนทำงานเพื่อความสุขและประโยชน์ของสาธารณะ อาชีพสื่อจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นศักดินาที่ 5 ฉะนั้น ต้องถือเอาประโยชน์ส่วนรวมสำคัญกว่าส่วนตน แต่หากการควบคุมกันเองของคนสื่อไม่เกิดผล ท้ายสุดต้องมีกฎหมายบ้านเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับดูแลควบคุมการทำงานของสื่อ
องคมนตรี ยังกล่าวถึงสื่อดิจิทัล เป็นเรื่องที่ใหญ่โตมากสำหรับมนุษย์ ในศตวรรษนี้ใครตามไม่ทันก็เจ๊ง เทคโนโลยีอยู่ในชีวิตของพวกเรา เป็นดิจิทัลมีเดียไปหมด มหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในสาขาเหล่านี้อาจต้องกลับมาทบทวนว่าสิ่งที่เราทำการเรียนการสอนอยู่ โบราณ เชยไปหรือยัง นักศึกษา นิสิตที่จะออกไปทำงานในยุคดิจิทัลจะสามารถออกไปทำงานได้จริงหรือไม่ ก่อนจะเปลี่ยนหลักสูตรอาจารย์ที่สอนในด้านนิเทศศาสตร์เราทันสมัยหรือยัง เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่ว่าสอนสอนเรื่องเดิมๆ 40ปีเหมือนเดิม
"หลักสูตรการเรียนการสอน คือสิ่งที่ผมเป็นห่วงมากที่สุด ในยุคสมัยนี้ นอกจากนี้สื่อดิจิทัลยัง ทำให้เกิดการตัดคนกลางหรือที่เรียกว่า dis-intermediation เราจะเห็นว่าสื่อดิจิทัลทำให้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องอาศัย ข้อกลางหรือคนกลาง อีกต่อไปแล้ว"องคมนตรี กล่าว และว่า เราอาจเคยรอรับหนังสือพิมพ์ ทุกวันนี้ไม่ต้องแล้วเพราะข่าวอยู่ในมือถือ เราสื่อตรงกับผู้ผลิตได้ทันที เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่มีอาชีพคนกลางต้องระวังตัวเอง เพราะว่าวันหนึ่งเราอาจไม่มีงาน
ทั้งนี้ ศ.นพ.เกษม กล่าวว่า ดิจิทัลทำให้คนมีเสรีมากขึ้น ประชาชนเป็นผู้สร้างข่าวและสื่อข่าวได้เอง อิสระเราเหล่านี้ ปัญหาเลยเกิดขึ้นทั่วโลกว่าใครจะควบคุมเนื้อหา อันนี้เป็นคำถามที่นักสื่อสารต้องรีบคิด เราต้องรีบตั้งตัวใหม่ เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนแปลงเร็วมาก นักวิชาการทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยต้องทำวิจัย เพื่อสร้างความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง และเพื่อเข้าใจผลกระทบ หาทางในการปรับปรุงและพัฒนา
"อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปเร็วแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่มุนษยชาติไม่เคยเปลี่ยนคือเรื่องของคุณธรรม สมัยไหนก็ตามที่คุณธรรมหย่อหย่อนสังคมก็จะเฉไปเฉมา มีความขัดแย้ง แต่ถ้าคุณธรรมเข้มแข็งจะทำให้สังคมสามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป" องคมนตรี กล่าว