"ผู้ว่าฯเดร์" ธีระ มินทราศักดิ์...ปีสุดท้ายกับเป้าหมายปัตตานีสันติสุข
"จริงๆ คิดว่าน่าจะเป็นผู้ว่าฯครั้งแรกที่ปัตตานีแล้วไปเกษียณที่อื่น แต่ของผมแปลก คือไปเป็นผู้ว่าฯที่อื่นแล้วกลับมาเกษียณที่ปัตตานี หลายคนบอกว่าไปจังหวัดที่ใหญ่แล้วกลับมาจังหวัดเล็ก ผมว่าสิ่งนี้ไม่สำคัญ แต่ประการสำคัญคือได้ใช้ความรู้ความสามารถกลับมาช่วยพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง"
เป็นวาทะเปิดใจครั้งแรกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ของ "ผู้ว่าเดร์" นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีคนใหม่ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ท่ามกลางกระแสต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
ชื่อเสียงของ "ผู้ว่าเดร์" นอกจากเรื่องฝีไม้ลายมือในการทำงานแล้ว เขายังเป็นชาวมลายูมุสลิมจากพื้นที่คนแรกที่ก้าวขึ้นตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการฝ่ายปกครองในส่วนภูมิภาค คือเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ก่อนจะย้ายออกไปเป็นผู้ว่าฯนครศรีธรรมราช และย้อนกลับมาที่ปัตตานีบ้านเกิดในปีสุดท้ายของอายุราชการ
นายธีระเป็นชาวปัตตานีโดยกำเนิด จบการศึกษารัฐศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สิงห์แดง) เส้นทางชีวิตราชการเติบโตในดินแดนด้ามขวานตลอดกว่า 30 ปี บรรจุเข้ารับราชการครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2519 และเคยเป็นปลัดอำเภอหลายอำเภอใน จ.ปัตตานี ต่อมาปี 2541 เขาขึ้นเป็นผู้อำนวยการกองประสานงานความมั่นคง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปี 2544 เป็นนายอำเภอระแงะ จ.นราธิวาส ถัดจากนั้นอีก 1 ปีเป็นนายอำเภอเบตง จ.ยะลา ปี 2546 เป็นปลัดจังหวัดปัตตานี จากนั้นอีก 2 ปีเป็นรองผู้ว่าฯนราธิวาส รองผู้ว่าฯปัตตานี และขึ้นเป็นผู้ว่าฯยะลาเมื่อปี 2549 ก่อนจะขยับไปเป็นผู้ว่าฯจังหวัดใหญ่ของภาคใต้อย่างนครศรีธรรมราชเมื่อปี 2552 และหวนคืนสู่ดินแดนปลายสุดด้ามขวานอีกครั้งในฐานะผู้ว่าฯปัตตานี
การกลับมาเที่ยวนี้เขามาพร้อมกับยุทธศาสตร์ "ปัตตานีสันติสุข" แต่ด้วยระยะเวลาที่เหลือเพียง 1 ปี ผู้ว่าฯเดร์จะทำได้แค่ไหน ตั้งแต่บรรทัดจากนี้ไปคือคำตอบของเขาและความรู้สึกที่ได้รับใช้บ้านเกิด
O วินาทีแรกเมื่อรู้ว่าได้กลับมาเป็นผู้ว่าฯปัตตานีซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนเอง รู้สึกอย่างไร?
1 ตุลาฯทุกปี (วันแรกของปีงบประมาณใหม่ ซึ่งโดยธรรมเนียมจะเป็นการรับตำแหน่งใหม่ของข้าราชการที่ได้รับการโยกย้ายแต่งตั้ง) คิดตลอดว่ามีโอกาสกลับบ้านไหม ถึงแม้จะไปใหญ่ที่ไหน ถ้าได้กลับมาปัตตานีก็ยินดีครับ นั่นคือคำตอบสุดท้าย ผมดีใจที่จะได้ใช้ความรู้ความสามารถกลับมาช่วยพัฒนาบ้านเกิดตนเองนั่นคือประการแรก
ประการที่สอง คือ อยากกลับมาเกษียณที่บ้าน ถามว่าเกษียณที่บ้านได้อะไร คำตอบคือได้ตอบแทนคุณแผ่นดิน คือที่นี่ปัตตานี เพราะฉะนั้นถ้าผมไปทำที่อื่น ผมก็ได้ใจ แต่อาจจะไม่ได้อะไรเลยจากผม ชีวิตราชการที่เหลือแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ 10 เดือนก็ตาม ผมก็ดีใจ ทุกอย่างเป็นจังหวะมากกว่า ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้อย่างไรนั้น ก็อยู่ที่การบูรณาการของพวกเราทุกคน
O กระแสตอบรับในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง?
บางคนบอกว่าผมมาทำที่ปัตตานีได้ใจและได้คะแนนด้วย ที่อื่นได้ใจอย่างเดียวแต่ไม่ได้คะแนน ยิ่งไปกว่านั้นมีคนบอกว่าแบเดร์กลับมาเพื่อต้องการลงเล่นการเมือง นั่นเป็นเรื่องอนาคต เราก็ว่าตามกันไป แต่สิ่งที่สำคัญ เป็นความอิคลาส (ความจริงใจ) ของผมก็คือต้องการกลับมาเห็นหน้าพวกเรา แม้จะอยู่ที่ไหนก็คิดถึงบ้านตลอด และอยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิดตนเอง ถ้าไม่ช่วยปัตตานีก็ไม่รู้จะช่วยใครแล้ว
ผลงานที่ จ.ยะลาและนครศรีธรรมราช (สองจังหวัดที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯก่อนกลับมาปัตตานี) เป็นตัวชี้วัดความตั้งใจทำงานของผมได้ในระดับหนึ่ง เมื่อถึงปัตตานีก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ต่างกับนครฯ ต่างกับที่อื่น ฉะนั้นต้องหวนกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างน้อยที่สุดการลดอัตราความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นหลักสำคัญ
O วางแผนการทำงานแก้ไขปัญหาพื้นที่เอาไว้อย่างไรบ้าง?
จริงๆ ก็คือมันไม่มีก่อนหรือหลัง แต่มันต้องทำควบคู่กันไป ถามว่าคนอื่นถ้ามาแบบไม่รู้จัก อย่างน้อยเบื้องต้นก็ต้องทำความรู้จักกับพื้นที่ ทำความรู้จักกับผู้คน แต่ผมไม่จำเป็นแล้วสำหรับตรงนั้น ผมจะเดินสายมอบนโยบาย ยุทธศาสตร์ให้กับหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนาทันที นั่นคือสิ่งที่ผมอยากจะทำเป็นสิ่งแรกๆ
O ทราบว่ามียุทธศาสตร์ปัตตานีสันติสุข ได้วางไว้อย่างไรบ้าง?
นอกเหนือจากยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งเรื่องรู้รักสามัคคี และเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา รวมทั้งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังมียุทธศาสตร์ของรัฐบาล ทุกอย่างต้องสอดคล้อง เพราะฉะนั้นการกำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับทุกๆ ฝ่าย ผมมองว่าคือสิ่งสำคัญ เพื่อมิให้เกิดการสูญเปล่า และเป็นยุทธศาสตร์ที่เราทำได้ทันที ก็เลยกำหนดยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในกรอบความคิดของผมว่าเป็นยุทธศาสตร์ปัตตานีสันติสุข คือ ทำความเข้าใจ ลดความหวาดระแวง สร้างความยุติธรรม นำปัตตานีสันติสุข
4 คำนี้ ถามว่าทำไมผมต้องทำความเข้าใจ ทำไมจะต้องลดความหวาดระแวง ทำไมจะต้องสร้างความยุติธรรม แล้วปัตตานีสันติสุขมันจะเป็นได้อย่างไร เป็นแนวคิดที่ผมคิดตั้งแต่ต้นว่าเป้าหมายก็คือทำให้ผลกระทบลดน้อยที่สุด และลดสถานการณ์ร้ายต่างๆ ให้กลับสู่ภาวะปกติ จะทำได้ไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เป็นความจริงใจและความตั้งใจของผมที่อยากทำให้กับจังหวัดปัตตานี
O อยากให้ช่วยขยายความเนื้อหาในยุทธศาสตร์ทั้ง 4 คำที่ว่านั้น?
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ทำความเข้าใจ ถามว่าทำไมเราต้องทำความเข้าใจ ทำความเข้าใจเรื่องอะไร คำตอบมันก็มีหลายเรื่อง อย่างน้อยที่สุดก็คือภาคราชการต้องเข้าใจภาคประชาชน และภาคประชาชนต้องเข้าใจภาคประชาชนกันเอง พุทธกับอิสลามต้องเข้าใจกัน หรืออิสลามกับอิสลามต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน
ผมเองพยายามศึกษาหลายเรื่อง จัดทำคู่มือขึ้นมา เช่น ‘อิสลาม..ความจริงที่ต้องเปิดเผย’ ใครที่บิดเบือนหลักศาสนาก็ต้องแก้ปัญหาด้วย 12 ประเด็นที่ระบุในคู่มือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการญิฮาด ทำไมต้องญิฮาด ฆ่าคนแล้วผิดอย่างไร 13 ประเด็นของการญิฮาดอยู่ในคู่มือ ‘อิสลาม...ความจริงที่ต้องเปิดเผย’ นี่คือเป็นสิ่งที่ผมต้องทำความเข้าใจ ชี้แจงระหว่างมุสลิมกับมุสลิม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์และศาสนา
สำหรับข้าราชการไทยพุทธหรือมุสลิม ต้องทำความเข้าใจก็คือต้องเข้าใจ ต้องเข้าถึงอิสลาม ไทยพุทธจะเข้าใจแค่เรื่องอิสลามไม่กินหมูกับต้องละหมาดอย่างเดียวมันไม่ใช่คำตอบ เพราะฉะนั้นการจะเข้าถึงจิตวิญญาณตรงนี้ การทำความเข้าใจคือสิ่งสำคัญ นอกนั้นก็เป็นการปฏิบัติด้านสังคม การประชาสัมพันธ์ทางจิตวิทยาเชิงรุก
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ลดความหวาดระแวง เป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องสร้างองค์กรให้เกิดความเชื่อมั่น อย่างน้อยที่สุดองค์กรภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างความคิดในเชิงบวก เสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรภาครัฐ ผมเชื่อว่าความเชื่อมั่นไว้วางใจ การนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผยต่อกัน และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และขจัดความหวาดระแวง ก็คือการใช้วัฒนธรรมดับไฟใต้ เพราะบ้านเรามีวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีไทยพุทธ อิสลาม คริสต์ และไทยจีน ฉะนั้นความหลากหลายตรงนี้ ผมจะต้องนำวัฒนธรรมมาใช้ และผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความหวาดระแวงได้ เพราะเราไม่มีการแบ่งแยก เรายอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความยุติธรรม เน้นความเท่าเทียมเสมอภาคกัน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานด้านความยุติธรรมและการอำนวยความเป็นธรรม พี่น้องชาวไทยพุทธและมุสลิมต้องได้รับความเป็นธรรมเท่าเทียมกัน ไม่ใช่มุสลิม 80% แล้วต้องใหญ่กว่าไทยพุทธ นั่นไม่ได้ คนมากกว่าต้องดูแลคนน้อยกว่า ตลอดจนการปราบปรามยาเสพติด บ่อนการพนัน และตัดไม้ทำลายป่า ใครผิดใครถูกก็ว่าไปตามหลักฐาน
คดีความมั่นคงต้องอยู่บนความถูกต้องชอบธรรม กำหนดยุทธวิธีทางปกครองในการ 'แยกปลาออกจากน้ำ' จัดตั้ง 'ศูนย์ปัตตานีสันติสุข' (Pattani Peace Outreach Center) ใครที่รู้ว่าตัวเองหลงผิด อยากกลับมาเป็นคนดีในสังคม หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้วอยากร้องเรียน ศูนย์ปัตตานีสันติสุขพร้อมจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ยุทธศาสตร์ที่ 4 นำปัตตานีสันติสุข เป็นการออกแบบว่าคุณจะก้าวไปทิศทางไหน อนาคตปัตตานีต้องมองอย่างไร ประการต้นๆ ก็เช่น การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว สินค้าโอท็อป เป็นต้น ฉะนั้นต่อไปข้างหน้าอาหารฮาลาลเราจะไประดับไหน อินเตอร์ขนาดไหน เราต้องมองภาพให้ออก
การทำความเข้าใจ ลดความหวาดระแวง สร้างความยุติธรรมเพื่อนำปัตตานีให้สันติสุขได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่าย ผมคนเดียวทำไม่สำเร็จแน่นอน ฉะนั้นอีกแนวคิดหนึ่งที่ผมใช้การบริหารราชการ คือ ‘คนสำราญ งานสำเร็จ’ คนสำราญก็คือทำงานให้มีความสุข และให้กำลังใจซึ่งกันและกันในการทำงาน ส่วนงานสำเร็จคือทำงานเชิงรุกโดยมีตัวชี้วัดผลงานที่เป็นที่พึงพอใจและประทับใจของประชาชน
O พูดเรื่องพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เราลงทุนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลแต่กลับหยุดชะงักมาหลายปี จะทำอย่างไร?
เท่าที่ผมได้ศึกษา ตอนนี้มันติดขัดหลายเรื่อง ทั้งผู้รับเหมา ผู้ก่อสร้าง หรือสวัสดิภาพต่าง ซึ่งตัวชี้วัดของการแก้ปัญหามีไม่กี่ตัว แต่ที่ผ่านมาไม่กระเตื้อง สถานการณ์ความไม่สงบก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของเราช้ามาก แต่อย่างน้อยที่สุดผมต้องเข้าไปติดตาม ผลักดันและสนับสนุนเร่งรัดให้มันเกิดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าต้องเป็นจริง
O 4 ปีข้างหน้าจะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่ปัตตานียังมีปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและการศึกษา ที่ผ่านการการแก้ไขและพัฒนาเป็นไปอย่างเชื่องช้า จะจัดการปัญหาและเตรียมความพร้อมพวกนี้อย่างไร?
ครับ เราช้าไปเมื่อสิบปีที่แล้ว สมัยผมเป็นนายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัดแล้ว จริงๆ ควรจบตั้งนานแล้ว แต่มันช้า ต้องยอมรับข้อเท็จจริง เราไม่ปฏิเสธหรอก ฉะนั้นเมื่อช้าก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เร็ว ซึ่งผมก็จะเดินยุทธศาสตร์ตามที่ผมได้วางไว้ ผมเชื่อว่ายังไม่สายเกินไป
O จากทัศนะของผู้ว่าฯและข้อเท็จจริงในพื้นที่ตลอดมาชัดเจนว่าสถานการณ์ความไม่สงบเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้หลายเรื่องไม่เดินหน้าเท่าที่ควร คิดว่าตัวแปรอยู่ตรงไหนและจะจัดการอย่างไร?
ตัวแปรสถานการณ์มันมีหลายตัวแปร หลายคนบอกว่าเกี่ยวกับยาเสพติดบ้าง บางคนก็ว่าเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เพราะคนมันจน ไม่มีงานทำ ก็เลยกลายเป็นแนวร่วม หรืเพราะขาดการศึกษา จริงๆแล้วตัวแปรเหล่านี้มีส่วนอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด ผมเทียบภาคอีสานกับภาคใต้ ภาคอีสานมียาเสพติดเยอะ การศึกษาก็น้อย แต่ทำไมไม่มีระเบิด ขณะที่บ้านเรายาเสพติดมีน้อย การศึกษาสูง แต่ทำไมยังเกิดระเบิด ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว อยู่ที่ว่าเราจะอิงจิตวิญญาณของคนในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน
O ขณะนี้ทุกฝ่ายพยายามเสนอแนวทางเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ คิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ว่าฯจะไปมีบทบาทในเรื่องเหล่านี้?
ต้องเป็นระดับนโยบายของรัฐบาล เราดูนโยบายเป็นหลัก คืถ้ารัฐบาลไม่เปิดตรงนี้ เราจะไปคุยก็คงไม่ได้ ประการถัดมาก็คือคนที่จะไปพูดคุยนั้นใช่ตัวจริงหรือไม่ เพราะสมัยที่ผมเป็นผู้ว่าฯยะลา ผมเคยคุยกับระดับแกนนำ เขาบอกว่าเขาห้ามไม่ได้ วันนี้มันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เด็กมันไปของมันเอง เขาห้ามได้เฉพาะแค่คนของเขาเองคือราว 10 -20 คน แต่ห้ามทั้งหมดไม่ได้ ฉะนั้นการเจรจาก็ต้องดูนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก
O ปัญหาบ่อนการพนันที่พูดถึงกันมากและเป็นปัญหามากในขณะนี้ มีมาตรการแก้ไขอย่างไร?
จากข้อมูลที่ผมพอมีอยู่บ้างตอนนี้ทราบมาว่าคนมีสีเป็นเจ้าของโต๊ะด้วย ใครจะเล่นก็เล่นไป อย่าให้ผู้ว่าฯรู้ ถ้ามีคนแจ้งมา ผมรู้ ผมจับแน่นอน งานนี้ไม่มีเลี้ยง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายธีระ มินทราศักดิ์ (ภาพโดย แวลีเมาะ ปูซู)