4 กระทรวง ลงพื้นที่เหมืองทอง พิจิตร อีก 2 สัปดาห์ สรุปต่ออายุ บ.อัคราฯ
4 กระทรวง ลงพื้นที่ตรวจเข้มเหมืองทอง อัคราฯ ก่อนรวบรวมผล พิจารณาตัดสินใจต่ออายุในอีก 1-2 สัปดาห์ ยังไม่หารือสารพิษไหลลงเเม่น้ำน่าน กระทบคนกรุง ด้านปชช.ฝ่ายคัดค้าน ยันรัฐต้องไม่นำเสนอผู้สนับสนุนประกอบการตัดสินใจ เหตุเป็นกลุ่มคนงานนายทุน
วันที่ 23 เมษายน 2559 นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และดร.วิจารย์ สีฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฝ่ายคัดค้านและสนับสนุนเหมืองทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และเพื่อรวบรวมข้อมูลในการพิจารณาต่อหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตของบริษัทดังกล่าว ณ อำเภอทับคล้อ จ.พิจิตร
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงเช้าระหว่างที่รัฐมนตรีและผู้แทนรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้คัดค้านเหมืองทองคำนั้นได้มีกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ประมาณ 300 คน นำโดยนางอารมณ์ คำจริง ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนรอบเหมืองทองคำในการดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบโดยรอบพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
นางอารมณ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอคัดค้านการรับฟังเสียงประชาชนผู้สนับสนุนเหมือง เนื่องจากเป็นกลุ่มของคนงานบริษัท อัคราฯ และครอบครัวที่ถูกเกณฑ์มาเพื่อเป็นเสียงสนับสนุน สร้างความชอบธรรมในการอนุมัติอนุญาตการทำเหมืองแร่ทองคำ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวเป็นพนักงานกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเองอยู่ใต้บังคับคำสั่งของบริษัทอัคราฯ ในฐานะผู้ว่าจ้าง ซึ่งพนักงานดังกล่าวมิอาจปฏิเสธได้ เนื่องจากเกรงจะถูกออกจากงาน
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาพบว่า คนงานเหล่านั้นได้ตรวจพบสารโลหะหนักหลายชนิดในร่างกายจากผลการตรวจของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยรังสิต แต่กลับต้องมาถือป้ายเรียกร้องสนับสนุนเอาเหมือง เสียงของบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นจึงเป็นเสียงที่ไม่ได้เกิดจากความชอบธรรม หากเป็นเสียงของภาวะจำยอมจึงขอคัดค้านเสียงเหล่านั้นไม่ให้นำมาประกอบเพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำเนินการเกี่ยวกับเหมืองทองคำ
“กลุ่มบุคคลที่ไม่เอาเหมืองแร่ทองคำคัดค้านสัมปทานเหมืองทองคำ คัดค้านนโยบายทองคำ คัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ รวมถึงคัดค้านการต่อใบประกอบโลหะกรรมทองคำ อาจจะมีจำนวนมากถึง 60 ล้านคน ในประเทศไทย มิได้มิเพียงประชาชนในจ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก เท่านั้น” นางอารมณ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นรัฐมนตรีและผู้แทนรัฐมนตรีได้ไปยังบริษัท อัคราฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นของผู้สนับสนุนเหมืองทองคำ โดยมีนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานงานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร พนักงาน และประชาชน ต้อนรับ พร้อมเยี่ยมชมกิจการเหมืองอีกด้วย
นายเชิดศักดิ์ กล่าวถึงกรณีจะได้รับการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตของบริษัทอัตราฯ ขณะนี้มั่นใจส่งเอกสารไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดทุกประการ ส่วนจะได้รับการพิจารณาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ ทั้งนี้ ยืนยันไม่มีทางที่บ่อเก็บกักกากแร่แห่งที่ 2 จะรั่วไหล โดยจะมีการตรวจสอบทุก 3 เดือน
ส่วนข้อกังวลที่เกิดขึ้นเป็นเพียงชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ ที่ไม่ยอมรับฟังข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาตลอด คนหลายพันคนละแวกเหมืองทองคำสามารถอาศัยร่วมกันได้อย่างดี ไม่อย่างนั้นคงไม่สามารถเชิญชวนประชาชนให้สนับสนุนบริษัท อัคราฯ ได้ และหากไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตจริง บริษัท อัคราฯ ก็ต้องยุติการดำเนินงานทั้งหมด
ขณะที่นางอรรชกา ระบุว่า การทำงานครั้งนี้ของคณะทำงานเพื่อเปิดโอกาสให้นำข้อมูลที่มีอยู่มาไว้ที่จุดเดียวเพื่อพิจารณาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ ดิน พืช หรือเลือด เพื่อจะแยกแยะข้อมูลเป็นสัดส่วนได้ แทนที่จะต่างคนต่างทำ หรือบอกว่าผลการศึกษาของใครดีกว่ากัน
ส่วนกรณีข้อกังวลว่า สารอันตรายที่รั่วไหลจากเหมืองทองคำจะลงสู่แม่น้ำน่านและแม่น้ำเจ้าพระยา จนอาจส่งผลกระทบกับชาวกรุงเทพฯ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้คงต้องมีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังว่ามีการรั่วไหลลงสู่แม่น้ำน่านตามที่วิพากษ์วิจารณ์กันหรือไม่
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีข้อสรุปจะต่อหรือไม่ต่อใบอนุญาตของบริษัทอัคราฯ ในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า .