พ.ร.บ.มั่นคงฯกับปมปัญหา...นิยาม"ผู้ต้องหา" ต้องไม่รวมผู้ต้องสงสัยตาม พ.ร.ก.
ความชะงักงันชั่วคราวของกระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) หลังจากบุคคลที่ถูกต้องหาว่ากระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงชุดแรก 4 คนยืนกรานต่อศาลจังหวัดนาทวีว่าไม่สมัครใจเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนแทนการถูกดำเนินคดีอาญานั้น ทำให้หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการตามมาตรา 21 อย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะในแง่ของการสร้างความเข้าใจในกระบวนการและความชัดเจนทั้งในเรื่องรายละเอียดของข้อกฎหมาย รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าหลายแง่มุมยังคงมีคำถามและค่อนข้างพร่าเบลอ
หากย้อนไปพิจารณาข้อสังเกตของ "มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม" ก่อนหน้านี้ ก็จะพบว่ามีคำถามกันตั้งแต่นิยามของคำว่า "ผู้ต้องหา" ที่อยู่ในข่ายเข้ารับการอบรมตามกระบวนการมาตรา 21 กันเลยทีเดียว สาเหตุประการหนึ่งก็ดูจะเป็นเพราะ "ถ้อยคำในกฎหมาย" ค่อนข้างคลุมเครือด้วย เพราะไม่ได้ใช้คำว่า "ผู้ต้องหา" ตรงๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น (ซึ่งจะส่งผลต่อสิทธิและหน้าที่ของตัวผู้ถูกกล่าวหาเองและเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องตามมา) แต่ใช้คำว่า "ผู้ใดต้องหาว่าได้กระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด" ซึ่งบัญชีความผิดที่กำหนดและใช้อยู่ในปัจจุบันก็มีทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายอื่น อีกทั้งถ้อยคำที่ใช้ในกฎหมายยังเปิดช่องให้ภาครัฐกำหนดความผิดอะไรเพิ่มเติมก็ได้ตลอดเวลา
ความคลุมเครือนี้ทำให้บางฝ่ายกังวลว่าเป็นช่องทางให้รัฐสามารถตีความครอบคลุมไปถึง "ผู้ต้องสงสัย" ที่ถูกออกหมาย ฉฉ. ซึ่งออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ด้วยหรือไม่?
บทความของ อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ที่ชื่อ "ผู้ต้องหากับมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ" ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่ก่อนมีปัญหา 4 ผู้ต้องหาฯชุดแรกปฏิเสธเข้ารับการอบรม ก็ได้ตั้งอรรถาธิบายเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
และน่าคิดว่าเพราะความไม่ชัดเจนเหล่านี้หรือไม่ที่ทำให้กระบวนการตามมาตรา 21 เดินหน้ายากเย็นเหลือเกิน
"ผู้ต้องหา"กับมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
หลังจากที่หลากหลายฝ่าย หลากหลายองค์กรทั้งผู้ที่สนับสนุน ต่อต้าน และกังวลกับการบังคับใช้มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แม้กฎหมายฉบับดังกล่าวหลากหลายฝ่ายเห็นว่ามีความเข้มข้นน้อยกว่าพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ที่ประกาศใช้มาโดยตลอด และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 ที่ประกาศใช้นับตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 โดยประกาศต่ออายุทุกๆ 3 เดือนจนถึงปัจจุบัน แต่การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็ยังปรากฏปัญหา
ที่ผ่านมารัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว 1 อำเภอ และมีแนวโน้มจะยกเลิกในอีกหลายอำเภอตามความเห็นของฝ่ายบริหาร ทว่าก็ยังไม่ได้รับความเห็นด้วยจากฝ่ายความมั่นคงทั้งในส่วนหน้าและส่วนกลาง
อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เป็นอำเภอแรกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รับการยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเป็นพื้นที่แรกในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ (อำเภอแรกในสามจังหวัด) หลังจากประกาศไปแล้วในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เมื่อปลายปี 2552
หลังจากที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทั้ง 2 พื้นที่ดังกล่าวแล้ว สาระสำคัญหรือหัวใจหลักของมาตรา 21 คือการอบรมแทนการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งผู้ต้องหามี 2 กลุ่ม คือ
- ผู้กลับใจเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงาน หรือ
- พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าบุคคลนั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเปิดโอกาสให้ผู้นั้นกลับใจมอบตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
โดยขั้นตอนหลังจากนั้น คือ เมื่อพนักงานสอบสวนส่งรายงานการสอบสวนและความเห็นไปให้ ผอ.รมน. (ในพื้นที่ชายแดนใต้หมายถึง ผอ.รมน.ภาค 4 คือ แม่ทัพภาคที่ 4) และ ผอ.รมน.เห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน ให้ ผอ.รมน.ส่งบันทึกสำนวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล หากเห็นสมควรศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ ผอ.รมน.เพื่อเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนและปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ศาลกำหนดด้วยก็ได้ หลังจากนั้นสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหานั้นเป็นอันระงับไป
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสาระสำคัญในมาตรา 21 แล้ว จะเห็นได้ว่าผู้ที่มีบทบาทและกระทบมากที่สุดนั้นก็คือ "ผู้ต้องหา"
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (2) บัญญัติว่า "ผู้ต้องหา หมายความถึงบุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดแต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล" การถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้นต้องเป็นการกล่าวหาต่อเจ้าพนักงานว่าได้กระทำความผิดอาญาขึ้นโดยคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายหรือคำกล่าวโทษของบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้เสียหาย
ผู้ต้องหาฯตามมาตรา 21 จึงต้องเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดลักษณะความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเอาไว้ ขณะที่การร้องทุกข์ของผู้เสียหายหรือการกล่าวโทษของบุคคลอื่นว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดอาญานั้น ต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอในการที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวหาด้วย
จากคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การร้องทุกข์ส่วนใหญ่แล้วจะร้องทุกข์ในกรณีไม่ทราบตัวผู้กระทำความผิดเป็นส่วนใหญ่ โดยจะมีการกล่าวหาของเจ้าพนักงานมากกว่าการร้องทุกข์ของผู้เสียหาย โดยพยานหลักฐานหลักในการกล่าวหาของเจ้าพนักงานนั้น มักจะมีพยานหลักฐานเพียงแค่คำให้การซัดทอดของผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกหรือตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเท่านั้น โดยซัดทอดถึงขบวนการที่มีอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลายกรณีปรากฏว่าผู้ที่ให้การซัดทอดเองก็มิได้ถูกดำเนินคดีอาญาต่อศาลแต่อย่างใด หรือเจ้าพนักงานจะมีเพียงคำให้การรับสารภาพในชั้นควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกหรือตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งหลักฐานดังกล่าวเป็นการอ้างขึ้นของบุคคลที่ถูกซักถามตามกฎหมายพิเศษ ช่วงเวลาการซักถามตามกฎหมายพิเศษนั้นจะเป็นการซักถามของเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจที่ไม่ใช่พนักงานสอบสวนตามกฎหมายแต่อย่างใด และการให้ถ้อยคำตามกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้อยู่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย เพราะการให้การหรือให้ถ้อยคำนั้นไม่มีผู้ที่ตนไว้วางใจ ญาติ หรือทนายความเข้าร่วมรับฟังด้วย
นอกจากนั้น หลายกรณียังปรากฏว่ามีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างการซักถามเพื่อให้ผู้ให้ถ้อยคำยอมรับสารภาพหรือซัดทอดต่อบุคคลอื่นอีกด้วย การให้การปรปักษ์ต่อตนเองนั้นถึงแม้จะเป็นการให้การในชั้นซักถามตามกฎอัยการศึกหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯก็ตาม ก็มิอาจนำมาเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษตามกฎหมายได้ หากนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาประกอบก็ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 (4) คุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในการที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง ประกอบกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อที่ 14 (3) ที่ระบุถึงสิทธิในการที่จะไม่ถูกบังคับให้ให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองหรือให้รับสารภาพผิด
ดังนั้นเจ้าพนักงานที่กล่าวโทษต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอที่เห็นได้ว่าหรือเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดจริง และพนักงานที่รับแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษก็ย่อมที่จะพิจารณาขั้นต้นในการที่จะรับเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษดังกล่าวว่าผู้ต้องหานั้นได้กระทำหรือเชื่อได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามคำร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นด้วย
อย่างไรก็ตาม หากบุคคลใดตกอยู่สถานะของผู้ต้องหา สิทธิต่างๆ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ, ICCPR และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย ที่สำคัญการรับมอบตัว การสอบสวน หรือการให้คำให้การของผู้ต้องหาจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ต้องหาจะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการพบหรือปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว ให้ทนายความหรือบุคคลที่ตนไว้วางใจเข้าร่วมในการสอบปากคำในชั้นสอบสวน ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติ หรือในชั้นที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งนั้น ผู้ต้องหาสามารถมีทนายความร่วมในการไต่สวนคำร้อง ยื่นคำร้องคัดค้าน รวมทั้งสามารถนำพยานหลักฐานของตนเข้าร่วมในกระบวนการไต่สวนของศาลด้วย
ฉะนั้นตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จึงเห็นได้ว่า "ผู้ต้องหา" ที่เข้ามอบตัว หรือผู้ต้องหาที่พนักงานสอบสวนเห็นว่ากระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ต้องเป็น "ผู้ต้องหา" ตามที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น จะนำผู้ที่มีหมายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือผู้ที่ควรเฝ้าระวังหรือบุคคลเป้าหมายด้านความมั่นคงที่อยู่ในเรือนจำ บุคคลผู้หลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือบุคคลอื่นๆ ที่ไม่มีพยานหลักฐานเกี่ยวข้องด้านความมั่นคงแต่ประสงค์เข้าร่วมรายงานตัว หรือบุคคลที่อพยพออกจากพื้นที่ด้วยความหวาดกลัวแต่มีความประสงค์จะกลับคืนสู่ภูมิลำเนาไม่ได้
เพราะบุคคลเหล่านั้นมิใช่ "ผู้ต้องหา" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู เป็นทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
บรรยายภาพ : ปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สามารถจับกุมทั้งผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยได้เป็นจำนวนมาก