นักวิชาการ ฉะ เหมืองทองไทยได้ไม่คุ้มเสีย BOI ยันไม่ส่งเสริมกิจการตั้งแต่ปี 58
นักวิชาการ ฉะนโยบายเหมืองทองไทย รัฐได้ไม่คุ้มเสีย ถามยังต้องทำต่ออีกหรือไม่ ด้าน BOI ยัน ไม่มีการส่งเสริมกิจการเหมืองทองในไทยตั้งแต่ปี 58
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ที่ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทางเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายเพื่อนร่วมทุกข์ และเครือข่ายปกป้องผืนป่าตะวันออก จัดเสวนา “ เศรษฐศาสตร์ทองคำ คุ้ม ไม่คุ้ม เหมืองทองไทย”
ดร.อดิศร์ อิศรางกูล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า คำว่าคุ้มไม่คุ้มนั้น ในแง่ของธุรกิจที่ไม่ใช่เหมืองแร่อาจจะสามารถตอบได้ง่าย และตรงไปตรงมา แต่กรณีของเหมืองแร่จะมีตัวแปรที่ซ้อนเร้นอีกมากมายที่ทำให้การจะนิยามคำว่า คุ้มหรือไม่นั้นเป็นเรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เราจะบอกว่า คุ้มได้หรือไม่ หากเหมืองจ่ายค่าภาคหลวงไปแล้ว แต่สิ่งแวดล้อม ชีวิตของผู้คนต้องล้มตาย เราควรเอาชีวิตไปเเลกกับความคุ้มค่าด้านเม็ดเงินจริงหรือ
ดร.อดิศร์ กล่าวว่า การพูดเรื่องคุ้มไม่คุ้มไม่ควรแค่กรณีของบริษัทอัคราฯ หรือเหมืองทองที่พิจิตรเท่านั้น เพราะตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา กิจการเหมืองแร่ทั้งประเทศนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับนักลงทุนเจ้าของเหมือง สร้างอาชีพให้กับแรงงาน และสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลในรูปค่าภาคหลวงแล้ว การทำเหมืองแร่ยังส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างปฏิเสธไม่ได้ ประกอบกับการบริหารจัดการเหมืองแร่ที่หละหลวม ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมไทยได้ว่า กิจการเเหมืองแร่เป็นกิจกรรมที่มีความรัดกุมไม่สร้างภาระที่ต้องจ่ายในระยะยาว ด้วยเหตุนี้รัฐควรทบทวนการดำเนินกิจการเหมืองแร่อย่างรอบด้านและสร้างความมั่นใจกับสังคมไทยว่า กิจการเหมืองแร่จะไม่สร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมดังเช่นที่ผ่านมา
"รายได้ด้านเม็ดเงิน กับต้นทุนด้านสุขภาพ ความเสียหายของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เราควรเอาไปแลกจริงหรือ ที่ผ่านมาผู้ดำเนินนโยบายไม่เคยเอาเรื่องนี้มา บวกลบ"
ด้าน ดร.สมิธ ตุงคะสมิต ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เรามาชั่งง่ายๆ ในด้านเศรษฐศาสตร์ เราจะพบว่า ไทย ข้อดี ข้อเสีย ในการชั่งน้ำหนัก (Cost benefit analysis) ว่าจะคุ้มหรือไม่คุ้ม ตาชั่งซ้ายคือดี ขวาคือเสีย ด้านผลดี ที่ผ่านมาเราเปิดเหมืองทองคำมาราว 15 ปี เราเก็บค่าภาคหลวงได้ราว 6.6% เปรียบง่าย ขุดได้ 100 บาท ไทยได้แค่ 6.6 บาท ถ้าเป็นบ่อนการพนันเจ๊งไปแล้ว ถ้าดูแค่ตาชั่งตรงนี้ก็ชัดเจนว่าเราไม่คุ้มเลย อีกอย่างเราปล่อยให้ทองคำทั้งหมดออกจากประเทศไป เพราะเราทำให้บริสุทธิ์ 99% ไม่ได้ เราขายถูก แต่เราซื้อทองคำรูปพรรณในราคาที่แพงมาก
"ถึงวันนี้ผลการตรวจเลือด และปัญหาด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมค่อนข้างชัดเจน ประเทศไทยต้องคิดแล้วว่า ตกลงเราจะเอาอย่างไรกับยุทธศาสตร์ของชาติ เราจะเป็นประเทศที่จะทำเกษตรกรรมไปพร้อมๆ กับอุตสาหกรรม แล้วยังไต่อ หรือจะเอาเกษตรกรรม นำโดยที่มีอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรม ตามแผนรัฐบาล 5 คลัสเตอร์ ซึ่งก็ไม่ได้มีคลัสเตอร์ไหนที่เป็นเรื่องของทองคำ ถ้าเราต้องชัดเจนในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ"
ด้านนายกฤษดา เวชวิทยาขลัง นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการ สำนักนโยบายส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน (BOI) กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา BOI มองถึงการส่งเสริมธุรกิจที่มีความคุ้มค่าในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง และหายาก ในหนึ่งปีไทยนำเข้าทองคำหลายล้านบาท เรามองว่าสินทรัพย์ที่เรามีในผืนดิน ทำอย่างไรจะให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นมา ก็เห็นว่าเหมืองทองน่าจะช่วยสร้างเศรษฐกิจในประเทศได้ แต่ก่อนที่จะมีการส่งเสริมการลงทุน เราเองก็คำนึงถึงการมีประทานบัตร รวมถึงมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมต้องมีการทำ EIA และ EHIA ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการส่งเสริมการลงทุน ถ้าหากบริษัทที่จะเข้ามาทำเหมืองไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่เราวางไว้ ทางสำนักฯ มีสิทธิ์ในการยกเลิกการส่งเสริมออกไปได้
"แต่การจะยกเลิกการประทานบัตรนั้นทาง BOI ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบ และในปีที่ผ่านมา ทางBOI ได้มีมติยกเลิกการส่งเสริมการลงทุนในเรื่องการทำเหมืองแร่ทองคำ รวมไปถึงอุตสาหกรรมการแต่งแร่ แล้วกลับมาเน้นการส่งเสริมการลงทุนในภาคการเกษตร ยกระดับการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น" นายกฤษดา กล่าว และว่า ทุกวันนี้ก็ไม่สบายใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ในฐานะเป็นคนไทย คงไม่มีใครอยากได้กิจการแบบนั้น