นักวิชาการห่วงแลนด์มาร์คเจ้าพระยาศึกษา 7 เดือน ขึ้นหิ้ง เสียของ
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดเวทีรับฟังความเห็นครั้งที่ 1 ส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วง แบบไม่มี ข้อมูลไม่เพียงพอทำโครงการแบบมัดมือชก ตอบสังคมไม่ได้สร้างไปคุ้มหรือไม่ หวั่นอนาคตใครจะดูแลพื้นที่ทางจักรยานเจ้าพระยา
วันที่ 22 เมษายน กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งดำเนินงานศึกษาทางวิชาการ สำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทระยะ 57 กิโลเมตร และระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ณ ห้องอมรินทร์ โรงแรมเอส.ดี.อเวนิว ปิ่นเกล้า โดยมีภาคประชาชน หน่วยงาน องค์กร และภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม
นายศรชัย โตวานิชกุล ผู้อำนวยการสำนักงานออกแบบ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การเปิดรับฟังความเห็น จะเป็นการสร้างความเข้าใจที่ดีต่อโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันได้มีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ รวมถึงการเผยแพร่ว่า ใช้งบประมาณสูง 14,0000 ล้านบาท นั้น ขอยืนยันโครงการนี้ยังไม่มีรูปแบบ โดยกทม. ได้ว่าจ้างสถาบันการศึกษาให้ไปรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำมาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมชุมชน สังคม เอกลักษณ์ของชุมชน เพื่อนำมาออกแบบ ก่อนถึงขั้นตอนการออกแบบต่อไป
จากนั้นมีการนำเสนอโครงการฯ ความจำเป็น วัตถุประสงค์ สาระสำคัญ แนวคิดการออกแบบ กระบวนการศึกษา และการมีส่วนร่วม และการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยทีมงานที่ปรึกษาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการ ดร.นพปฎล สุวัจนานนท์ รองผู้จัดการ นายรณฤทธิ์ ธนโกเศศ ภูมิสถาปนิก และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และชุมชน ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี โฆษก และรศ.ดร.วันเพ็ญ วิโรจนกูฎ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม
ในช่วงท้ายมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งที่ส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงโครงการพัฒนาริมเจ้าพระยา โดยอยากให้ทำเรื่องเร่งด่วน และที่สำคัญกว่าก่อน เช่น การฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำเจ้าพระยา การขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยา
ส่วนข้อมูลของโครงการฯ ต่อการรับรู้ของประชาชน มีการแสดงความเห็นว่า ปัจจุบันมีข้อมูลไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังไม่มีความชัดเจนด้วยว่า คือ โครงการนี้ต้องการจะสร้างอะไรกันแน่ พร้อมกับเสนอแนะหากต้องการความร่วมมือจากประชาชน การนำเสนอ หรือรับฟังความคิดเห็นต้องไม่ใช่ทำแบบการมาโฆษณาชวนเชื่อ หรือมัดมือชก แต่ต้องแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่า คนไทยได้ประโยชน์อะไรบ้าง และมีนวัตกรรมอะไรใหม่
พร้อมทั้งมีการแสดงความเป็นห่วง การดูแลพื้นที่ทางจักรยานนี้ในอนาคต เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดดูแล ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งทางน้ำ ก็แสดงความเป็นห่วงรูปแบบที่ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน จะกระทบการดำเนินธุรกิจในอนาคต
ด้านดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ อดีตอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นถึงตัวเลขงบประมาณโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ที่ทางการเคยให้ตัวเลขงบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือแม้กระทั่งทางคอนกรีตกว้าง 19 เมตรนั้น ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้ลอยมาแต่อย่างใด แต่ภาครัฐเป็นผู้ให้ข้อมูล ซึ่งปัจจุบันทีมที่ปรึกษาฯ บอก Set Zero ไม่เอาแล้ว ถามว่า ทีมที่ปรึกษาสามารถ Set Zero ซึ่งขัดกับตัวความคิดของรัฐบาลแต่ต้นทางได้หรือไม่
ทั้งนี้ ดร.ธงชัย ได้เสนอทีมที่ปรึกษา ควรทำการศึกษาและวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment: SROI) ด้วย เชื่อว่าจะทราบว่าโครงการนี้คุ้มหรือไม่คุ้ม อีกทั้งโครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ 57 กิโลเมตรในแผนแม่บท ฉะนั้นการศึกษาผลกระทบจึงต้องวิเคราะห์ระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เชื่อว่า สามารถดูศักยภาพ ขีดจำกัดของพื้นที่ และสามารถตอบสังคมได้โครงการนี้ควรทำหรือไม่ควรทำ
“การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นการหามาตรการแก้ปัญrหาให้โครงการนี้ผ่านไป แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ควรทำหรือไม่ควรทำแต่แรก แต่หากทำ SEA ก่อน อาจได้คำตอบโครงการนี้ไม่ควรทำก็ได้” ดร.ธงชัย กล่าว และแสดงความเป็นห่วงระยะเวลาศึกษาโครงการ 7 เดือนจะทำไม่ทัน และไม่อยากให้การศึกษาครั้งนี้ถูกนำขึ้นหิ้ง เนื่องจากเป็นเงินภาษีของคนไทยทุกคน ขณะที่การทำแผนแม่บทก็ต้องทำอย่างรอบคอบ ฉะนั้นเมื่อภาพใหญ่ของโจทย์ก็ไม่ชัด ทำให้ภาพปฏิบัติก็ดูจะเป็นไปได้ยาก