กตป.ให้ใบเหลืองกสทช.ด้านโทรคม จี้เเก้ปัญหาผู้บริโภคถูกเอาเปรียบเป็นการทั่วไป
กตป.เเจกใบเหลือง กสทช.ประเมินผลงานด้านโทรคมไทย 4 ประเด็นต้องปรับปรุง เผยเเก้ร้องเรียน ผู้ใช้บริการถูกเอาเปรียบ เเนะสางปัญหาเป็นการทั่วไป ไม่ใช่รายกรณี ยกกรณีคิดค่าโทรเกินจริง
วันที่ 21 เมษายน 2559 คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (กตป.) จัดแถลงข่าวชี้แจงการประเมินผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง การกำกับดูแลโทรคมไทย กสทช.สอบผ่านหรือต้องปรับปรุง ณ อาคาร ไอ ทาวเวอร์ 1 กรุงเทพฯ
ดร.อมรเทพ จิรัฐิติเจริญ กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า จากการติดตามผลการดำเนินงานของ กสทช. ตลอดปี 2558 มีผลงานสอบผ่านในหลายเรื่อง โดยพบมีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น อาจมีบ้างที่ล่าช้าในบางประเด็น ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านคลื่นความถี่จากระบบสัมปทานมาเป็นใบอนุญาต และการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะได้ถูกนำมาใช้งานมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่ กสทช.ต้องปรับปรุง ที่สำคัญ คือ การบริหารทรัพยากรโทรคมนาคม โดยการเรียกคืนคลื่นความถี่ กสทช.ทำหน้าที่มา 5 ปีแล้ว ยังไม่สามารถรวบรวมหรือเรียกคืนคลื่นความถี่ในส่วนของราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงไม่มีการกำหนดอายุการถือครองคลื่นความถี่ที่ชัดเจนในหลายใบอนุญาต จนอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ทรัพยากร ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถคาดคะเนการดำเนินกิจการล่วงหน้าได้
สำหรับกรณีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz กรรมการ กตป.กล่าวว่า ไม่มีการเปิดเผยผลการศึกษาระหว่างการรับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนในกระบวนการออกหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตคลื่นความถี่ และขาดแผนงานในการดูแลผู้ใช้บริการในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้ถือสิทธิใช้คลื่นความถี่จากผู้ประกอบการหนึ่งไปอีกผู้ประกอบการหนึ่ง ซึ่งการไม่เปิดเผยผลการศึกษานั้น ทำให้ผู้รับฟังไม่มีข้อมูลทัดเทียมในการแสดงความคิดเห็นอย่างถูกต้อง
ดร.อมรเทพ ยังกล่าวถึงประเด็นอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ กสทช.ต้องปรับปรุง โดยปกติตลาดโทรคมนาคมที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ควรปล่อยให้ตลาดกำหนดราคากันเองอย่างเหมาะสม แต่กรณีประเทศไทยเป็นตลาดโทรคมนาคมแข่งขันไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องสร้างวิธีการกำกับราคาค่าบริการ ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.ออกประกาศ กสทช.เรื่องอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555 อัตราค่าบริการไม่เกิน 0.99 บาท/นาที
ปัญหาขณะนี้ คือ ประกาศ กสทช.ฉบับดังกล่าวบังคับใช้กับผู้มีอำนาจเหนือตลาดเท่านั้น ซึ่งเดิมมีเอไอเอสและดีแทค แต่เมื่อมีการยกเลิกไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันไม่มีผู้มีอำนาจเหนือตลาด นั่นแสดงว่า แม้มีประกาศอัตราขั้นสูง แต่ไม่มีคนบังคับทางปฏิบัติ และมีเมื่อบริการ 3จี จะถูกคิดค่าบริการตามเงื่อนไขแนบท้ายลดค่าบริการลงร้อยละ 15 แต่จากการตรวจสอบพบ สำนักงาน กสทช.ใช้อัตราค่าเฉลี่ยในการคำนวณจากทุกแพ็คเกจรวมกัน จึงมีโอกาสที่การคิดค่าเฉลี่ยจะถูกบิดเบือนได้
กรรมการ กตป. กล่าวด้วยว่า กรณีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติเรื่องกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริง กสทช.ยังต้องสร้างนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการคิดค่าบริการตามจริง หากมองว่าการคิดค่าบริการเป็นนาทีเอาเปรียบผู้บริโภค ต้องคำนวณเป็นวินาที สามารถออกประกาศใช้บังคับกับทุกแพ็คเกจได้ทันที ซึ่งแพ็คเกจเหล่านั้นสามารถให้บริการตามปกติได้ ยกเว้นเพียงให้เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณค่าบริการเท่านั้น
ปัญหาเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอีกประเด็นต้องปรับปรุง ดร.อมรเทพ ระบุว่า โดยปกติการร้องเรียนของผู้ใช้บริการควรร้องเรียนกับผู้ประกอบการเป็นหลัก ยกเว้นไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือไม่มีข้อสรุป จึงค่อยมาร้องเรียนกับ กสทช. ซึ่งที่ผ่านมาพบมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมากไม่ถูกขัดกรองด้วยเงื่อนไขข้างต้น ทำให้ กสทช.ต้องรับภาระหนักและนำมาสู่การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างล่าช้า
ทั้งนี้ หลายเรื่องที่ร้องเรียนไปยัง กสทช.เป็นประเด็นซ้ำ เช่น การคิดค่าบริการเอสเอ็มเอสที่สมัครโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งพบว่า กสทช.มักแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณี สำหรับผู้ที่ยื่นเรื่องร้องเรียน และใช้กระบวนการยาวนาน 1-2 ปี หรือการคิดค่าโทรเกินจริง แม้จะได้รับเงินส่วนต่างคืนแล้ว แต่ยังมีผู้ใช้บริการอีกหลายรายที่ถูกเอาเปรียบ เปรียบเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ใต้ผิวน้ำยังมีเสียงร้องเรียนที่ไม่ได้รับการแก้ไขจำนวนมาก ฉะนั้น กสทช.ต้องสร้างความชัดเจน ไม่ควรแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณี แต่ควรแก้ไขปัญหาเชิงรุก เป็นการทั่วไป ด้วยการสร้างกฎเกณฑ์เข้ามาควบคุมให้มีประสิทธิภาพกว่านี้
กรรมการ กตป. กล่าวอีกว่า ประเด็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน กสทช.ยังไม่สามารถทำให้เกิดการแข่งขันได้ในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยยังกระจุกตัวอยู่ที่ผู้ให้บริการเอกชนรายใหญ่ 3 ราย หรือแม้แต่ตามเงื่อนไขใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2100 MHz ต้องประกันการให้บริการโครงข่ายโดยมีความจุอย่างน้อยร้อยละ 10 ของโครงข่ายทั้งหมด ให้แก่ผู้บริการโครงข่ายเสมือน (MVNO) พบยังไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาต 3จี แต่มี MVNO ที่ทำสัญญากับผู้ประกอบการที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ พบปัญหาสำคัญที่ทำให้ MVNO ไม่สามารถขยายบริการมากนัก เนื่องจากสัญญาการเช่าหรือขอใช้โครงข่ายไม่เป็นสัญญาระยะยาว การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการ และการลงทะเบียนซิมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ MVNO จากที่กล่าวมาทั้งหมดจึงให้คะแนน กสทช. เป็นใบเหลือง ต้องปรับปรุง .