ประกาศกกต.กำหนด 7 สิงหาฯ วันออกเสียงประชามติ -ตั้งคำถามพ่วง
คณะกรรมการการเลือกตั้ง กําหนดให้วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ เป็นวันออกเสียงประชามติ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรธน. ทั้งฉบับ บวกคำถามพ่วง
วันที่ ๒๐ เมษายน ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องกำหนดวันออกเสียงประชามติ
โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๕๙ มาตรา ๓๙/๑ กําหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนดวันออกเสียงประชามติซึ่งต้องไม่เร็วกว่าเก้าสิบวัน แต่ไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันถัดจากวันที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญส่งคําอธิบายสาระสําคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยวันออกเสียงประชามตินั้น ต้องกระทําในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ในการนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติเสนอประเด็นอื่นไม่เกินหนึ่งประเด็นที่สมควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการออกเสียงประชามติ
เพิ่มเติมว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบพร้อมในคราวเดียวกันด้วยก็ได้
คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับคําอธิบายสาระสําคัญของร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๙ และได้รับประเด็นอื่นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๙ เพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติมว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบพร้อมไปในคราวเดียวกัน
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๓๙/๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๕๙ ประกอบกับมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการประชุม
ครั้งที่ ๑๕/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๙ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงกําหนดให้วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ เป็นวันออกเสียงประชามติ ประเด็นดังต่อไปนี้
๑. ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... ทั้งฉบับ
๒. ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบประเด็นเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ “ท่านเห็นชอบ หรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกําหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง ๕ ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”