เครือข่ายชาวบ้าน ยื่นข้อเสนอ “ป่าชุมชนเพื่อปฏิรูปสังคมเป็นธรรม”
นักวิชาการชี้โครงสร้างอำนาจไม่สมดุลบ่อเกิดพิพาทรุนแรงป่าไม้-ที่ดิน ป่าชุมชนเป็นรูปธรรมปฏิรูปท้องถิ่นเข้มแข็ง เครือข่ายฯยื่น รบ.ทบทวน กม.ป่าไม้ เสนอ พ.ร.บ.สิทธิชุมชนจัดการทรัพยากร
เร็วๆนี้ ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (รีคอฟ) และองค์กรเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนา “ป่าชุมชนไทยเพื่อการปฏิรูปที่เป็นธรรมและยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลง” มีการเสวนา “โอกาสการปฏิรูปการจัดการที่ดิน ป่าไม้ท่ามกลางกระแสปฏิรูปประเทศไทย” โดย ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่าปี 2521 เริ่มมีการรณรงค์ให้ชุมชนเข้ามาดูแลป่า แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะรัฐบาลยังคงปล่อยให้นายทุนสัมปทานป่าไม้ จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างนายทุนและรัฐบาลกับชาวบ้าน แกนนำชาวบ้านหลายคนถูกยิงเสียชีวิต กระทั่งเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 จึงมีการร่างกฎหมายป่าชุมชน ภายใต้การขับเคลื่อนขององค์กรชาวบ้านและประชาสังคม
“หลายชุมชนอยู่กับป่าดูแลป่าถูกประณามว่าเป็นผู้ทำลายป่า ความจริงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ประเทศล้วนแต่มีชุมชนเป็นผู้ดูแล ไม่มีพื้นที่ป่าไหนที่ดูแลได้โดยกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ”
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า ชาวบ้านยังไม่มีอำนาจจัดการป่าอย่างเด็ดขาด ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่โครงสร้างอำนาจที่ไม่สมดุล หลายรัฐบาลแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ รัฐมองป่าเชิงเศรษฐกิจมากกว่ามิติทางสังคมและจิตวิญญาณ จึงเกิดการแก้ปัญหาโดยใช้ความรุนแรง ทุจริตความคอรัปชั่น และไม่เป็นธรรมกับชุมชนที่ดูแลรักษาป่า
ผศ.ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งรีคอฟ กล่าวว่า การทำลายป่าเกิดจากนายทุนเหมือง นายทุนรีสอร์ทและคนมีเงินเเข้าไปบุกรุกทำลายทรัพยากร การดูแลป่าถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านไม่มีทางทำได้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องเข้าใจว่าชาวบ้านอยู่กับป่ามานาน เครือข่ายป่าชุมชนทำให้ชุมชนเข้มแข็งรู้สิทธิของตนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ที่ต้องมีการกระจายอำนาจให้ชาวบ้านไม่ใช่ให้แค่องค์กรปกครองท้องถิ่น
นายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) กล่าวว่า การเกิดป่าชุมชนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมคือชุมชนได้สิทธิดูแลป่าตามกฏหมาย สร้างบรรทัดฐานให้ชาวบ้านที่ไม่มีเงินและอำนาจสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ เป็นรูปธรรมที่แสดงว่าสิทธิชุมชนเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย รัฐอ้างเสมอว่าดูแลเรื่องน้ำป่าทะเลเพื่อประชาชน แต่ที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าไม่ได้ทำเพื่อประชาชนแต่ทำเพื่อคนบางกลุ่มเท่านั้น ต่อจากนี้นโยบายทุกรัฐบาลไม่สามารถปฏิเสธเรื่องสิทธิชุมชนได้อีกต่อไป
“การปฏิรูปต้องเปิดพื้นที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม รัฐต้องปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ ทั้งกฎหมายน้ำและที่ดิน ต้องเปิดพื้นที่ให้ชุมชนท้องถิ่นทุกระดับจัดการทรัพยากรทั้งระบบได้ ส่วนเครือข่ายป่าชุมชนจะใช้โอกาสนี้ผนึกกำลังกันอย่างไรเพื่อให้เท่าทันการกำหนดนโยบายของรัฐก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย”
นายพลากร วงศ์กองแก้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) กล่าวว่า ป่าชุมชนที่ทำมายาวนานจะนำไปสู่การปฏิรูป ชุมชนต้องเปลี่ยนเป้าหมายการต่อรองไปที่จังหวัด ทำให้ระบบราชการเข้ามาสนับสนุนงบประมาณ ขับเคลื่อนที่ระดับตำบล ระดับจังหวัดแล้วโยงขึ้นไประดับประเทศ
“ชุมชนต้องหาวิธีสร้างพลังต่อรองจากระดับล่าง การดูแลทรัพยากรต้องเกิดจากพื้นที่ เชื่อมท้องถิ่น อบต.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขึ้นไปสู่จังหวัด ประเทศ ทั้งระบบจึงจะเกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ ชุมชนต้องผลักดันให้ อบจ.เข้ามามีส่วนร่วม ไม่จำเป็นต้องพึ่งพารัฐบาล ก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการเสวนา กำนันตระกูล สว่างอารมณ์ ในฐานะ ตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชนประเทศไทย ได้นำเสนอ “ข้อเสนอเชิงนโยบายป่าชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมอย่างเป็นธรรมและความยั่งยืน” เพื่อเสนอต่อรัฐบาล อาทิ ให้มีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ผลักดัน พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ส่วนนางสายชล พวงพิกุล ประธานเครือข่ายป่าชุมชนเขาราวเทียนทอง จ.ชัยนาท กล่าวถึงความร่วมมือของเครือข่ายป่าชุมชน อาทิ ร่วมกันขยายรูปธรรมการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น และพัฒนากองทุนจัดการทรัพยากรระดับพื้นที่ .
……………………..…..
(ล้อมกรอบ)
“ข้อเสนอเชิงนโยบายป่าชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมอย่างเป็นธรรมและความยั่งยืน”
1.เป้าหมายเพื่อการจัดการป่าชุมชนเพื่อความยั่งยืนและประโยชน์สุขของคนในสังคม เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร 2.ชุมชนมีสิทธิในการเข้าถึงการจัดการป่าตามลำดับของสิทธิเพื่อความเป็นธรรมมากกว่ากรรมสิทธิ์แบบเบ็ดเสร็จ 3.เสริมสร้างธรรมาภิบาลและพัฒนากลไกการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น บนหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลความสัมพันธ์ระหว่างรัฐส่วนกลาง อปท. ประชาสังคม องค์กรชุมชนและปัจเจกชน 4.สร้างรูปแบบและกลไกการจัดการทรัพยากรร่วมกันของภาคีต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมในเชิงนโยบายประกอบด้วย 1.สร้างปฏิบัติการพื้นที่รูปธรรมเพื่อพัฒนาการกระจายอำนาจและกลไกท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรฯไปให้ถึงชุมชนไม่ใช่แค่ อบต. 2.พัฒนาระบบฐานข้อมูลทรัพยากรฯให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้ตามความเป็นจริง 3.ทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าไม้พ.ศ.2484 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติพ.ศ.2504 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ.2507 และพ.ร.บ.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน 4.พัฒนายุทธศาสตร์และการฟื้นฟูการจัดการทรัพยากรฯในระยะยาว 5.ผลักดันให้มีพ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรฯ 6.ยุตินโยบายและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชนที่คุกคามและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ สิทธิชุมชนและความมั่นคงทางอาหาร
พันธสัญญาภาคีเครือข่ายป่าชุมชนประเทศไทย
1.ชุมชนจะตระหนักและรู้ในคุณค่าศักดิ์ศรีวัฒนธรรม นำองค์ความรู้พัฒนาท้องถิ่นของตนเอง 2.เสริมสร้างประชาคม ชุมชน ท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาฐานนิเวศน์ ตรวจสอบ ถ่วงดุลชุมชนท้องถิ่น 3.ร่วมกับ อปท.สร้างและขยายรูปธรรมผลการจัดการทรัพยากรโดยอาศัยการกระจายอำนาจและกลไกท้องถิ่นในการพัฒนาข้อบัญญัติในการจัดการทรัพยากรทั้งระดับตำบล อำเภอ จังหวัด 4.ร่วมกับ อปท.ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลท้องถิ่นเพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลป่าชุมชนระดับชาติ
5.ศึกษาวิจัยเพื่อองค์ความรู้ใหม่ในการยกระดับการจัดการป่าชุมชนให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง 6.เสริมสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น 7.พัฒนากองทุนในการจัดการทรัพยากรฯ และเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ 8.เสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายป่าชุมชนระดับชาติให้มีบทบาทในการพัฒนา ประสานเชื่อมโยงเวทีระหว่างประเทศและสมาพันธ์ป่าชุมชนโลก 9.ชุมชนต้องมีการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงจากภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต .