ภาค ปชช.ดัน ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้ ส่งเสริมคนปลูกป่า 26 ล้านไร่ ใน 10 ปี
คกก.ธนาคารต้นไม้ทั่วปท. ยื่นหนังสือนายกฯ ทบทวนเเผนทวงคืนผืนป่า 26 ล้านไร่ หวั่นปชช.เดือดร้อน ไร้ที่ดินทำกิน ดันร่าง พ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้ สร้างเเรงจูงใจ-มูลค่าต้นไม้ขณะมีชีวิต ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว เตรียมล่ารายชื่อสิ้นเม.ย.59 เชิญ 'บิ๊กตู่' ร่วมงาน COP26/1 Payom ชมชุดความรู้ นวัตกรรมชาวบ้าน
วันที่ 20 เมษายน 2559 คณะกรรมการธนาคารต้นไม้ทั่วประเทศราว 80 คน นำโดยนายพงศา ชูแนม ผู้จัดการใหญ่และประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้ นายสุนทร รักษ์รงค์ และนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมการที่ปรึกษา ธนาคารต้นไม้ เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อนำเสนอแนวทางการส่งเสริมปลูกต้นไม้และแผนการเพิ่มพื้นที่ป่า 26 ล้านไร่ หรือให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ โดยมีพล.อ.สกล ชื่นสกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับมอบ ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล
นายพงศา กล่าวว่า ตามหลักการมูลค่าจะเกิดขึ้นเมื่อต้นไม้มีชีวิต แต่ที่ผ่านมามูลค่ามักเกิดขึ้นเมื่อต้นไม้ตาย ถูกเผา แปรรูป แล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการธนาคารต้นไม้มีความเชื่อแตกต่างจากหลักการที่ระบุไว้ คือ เชื่อว่าที่ผ่านมากรมป่าไม้ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถปลูกป่าเพิ่มขึ้นได้ มิหนำซ้ำยังทำให้ป่าลดลง ประกอบกับการปลูกป่าก็ไม่สามารถสร้างขึ้นจากการกดขี่หรือปลายกระบอกปืน แต่ต้องสร้างโดยใช้แรงจูงใจ
ทั้งนี้ ตามที่รัฐบาลได้ให้พันธสัญญากับโลกในเวทีการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (Conference of Parties:COP21) ณ กรุงปารีส ว่าจะลดอุณหภูมิโลก 2 องศาเซลเซียส ภายใน 20 ปี จึงมีนโยบายปลูกป่าให้ครบร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ หรืออีก 26 ล้านไร่ กรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงใช้อำนาจยึดที่ดินทำกินของประชาชนที่เข้าไปครอบครองโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ 35 ล้านไร่ คืน
ประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้ กล่าวต่อว่า ถ้ารัฐทวงคืนผืนป่า เพื่อปลูกป่าเพิ่ม 26 ล้านไร่ จะทำให้มีคนสูญเสียที่ดิน 26 ล้านไร่ ทันที และจะทำให้คนยากจน หรือไม่มีที่ดินทำกิน ยากลำบาก กลายเป็นปัญหาสังคมตามมา คณะกรรมการธนาคารต้นไม้จึงเสนอทางออกไปยังรัฐบาล โดยให้ใช้ชุดความรู้และนวัตกรรมของธนาคารต้นไม้ที่ดำเนินการมา 10 ปี เป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งมุ่งส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้จากแรงจูงใจ ปลูกในที่ดินของตนเอง
“10 ปีที่ผ่านมาของธนาคารต้นไม้ สามารถปลูกป่าเพิ่มได้ 150 ล้านต้น ใน 3,000 สาขาทั่วประเทศ” นายพงศา กล่าว และว่า สนับสนุนการเพิ่มพื้นที่ป่าของรัฐบาลภายใน 10 ปี แต่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนปลูกในที่ดินของตนเอง โดยไม่ต้องทวงคืนผืนป่า 26 ล้านไร่ จะได้ต้นไม้ 1,040 ล้านต้น มูลค่า 1.04 ล้านล้านยาท สร้างรายได้ 2.65 แสนล้านบาท แก่เกษตรกรรายย่อย 2.6 ล้านครัวเรือน
นอกจากนี้ภาคประชาชนยังมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารต้นไม้ ประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้ กล่าวถึงสาระสำคัญว่า รัฐต้องออกกฎหมายรับรองให้ต้นไม้ที่มีชีวิตของประชาชนมีมูลค่าเป็นทรัพย์ สร้างแรงจูงใจด้วยการจ่ายค่าตอบแทนการปลูกต้นไม้ให้แก่ประชาชน แทนการจ่ายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เเละโอกาสเดียวกันนี้ขอเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมกิจกรรมกับคณะกรรมการธนาคารต้นไม้ด้วย
กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นมีชื่อว่า งานเสวนาปฏิบัติการเรื่อง ความรู้และการออกแบบนวัตกรรมการปลูกป่า 26 ล้านไร่ ครั้งที่ 1 (COP26/1 Payom) ระหว่างวันที่ 30 เมษายน-1 พฤษภาคม 2559 ณ ธนาคารต้นไม้สาขาป่าพะยอม อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง โดยมีดร.เกริก มีมุ่งกิจ ประธานคณะกรรมการบริหารธนาคารต้นไม้ ร่วมต้อนรับ
ด้านนายหาญณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมถึงร่าง พ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้ว่า วันที่ 30 เมษายน และ 1 พฤษภาคม 2559 จะมีการเปิดให้ประชาชนลงชื่อเสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว และเชิญผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปรับ หลังจากนั้นจะยื่นหนังสือต่อ สนช.อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการเปิดรับฟังความคิดเห็น และตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อปรับปรุงแก้ไข โดยได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ดังเช่น สภาเกษตรกรแห่งชาติ เพราะเชื่อว่า การจะเพิ่มพื้นที่ป่าได้นั้นต้องทำให้ชาวบ้านเกิดแรงจูงใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้ นอกจากการทำให้ต้นไม้มีมูลค่าเป็นทรัพย์สินขณะที่มีชีวิต สามารถนำเป็นทรัพย์สินใช้กับรัฐได้ เหมือนทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น ประกันคน ค้ำประกันหนี้สิน ฯลฯ แล้ว ยังให้ต้นไม้ของประชาชนที่ปลูกและดูแลรักษาเป็นของประชาชนไม่อยู่ในบังคับและหวงห้ามของกฎหมายอื่น สามารถจัดการได้อย่างเสรี ตลอดจนให้จัดตั้งองค์กรธนาคารต้นไม้ทั้งระดับสาขา จังหวัด และชาติ เพื่อส่งเสริม ตรวจนับ รับรองมูลค่าต้นไม้ ตั้งกองทุนสนับสนุนค่าตอบแทนในการดูแลรักษาต้นไม้ในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าต้นไม้ ระยะเวลา 10 ปี ด้วย