ดีเอสไอไม่เคยแจ้งข้อมูล! ปปง.ปัดเอี่ยวปมคืนเงินขายที่249 ล.ให้ศุภชัย
ปปง.ออกเอกสารชี้แจงกรณี ศุภชัย ศรีศุภอักษร ได้รับเงินคืน 249 ล. จากการขายที่ดิน 477 ล. ใช้หนี้สหกรณ์คลองจั่น ยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย ขณะที่ ดีเอสไอ ไม่เคยประสานงานแจ้งข้อมูลให้รับทราบ
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อปี 2556 มีการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตัวแทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.)ผู้แทนฝ่ายผู้เสียหาย(สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด) และนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก ในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย (สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำกัด) โดยนายศุภชัย ฯ กับพวก ได้แสดงความยินยอมให้ขายทรัพย์สินเพื่อนำเงินที่ได้จากการขายดังกล่าวให้แก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น (ผู้เสียหาย) แต่จากการขายที่ดิน จำนวน 1,838 ไร่ ให้กับบริษัทพิษณุโลกเอทานอล จำกัด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 477,880,000 บาท โดยมีการจ่ายเงินชำระค่าซื้อที่ดินดังกล่าวเป็นเช็ค จำนวน 6 ฉบับ และปรากฏว่า นายศุภชัย ฯ ได้รับเช็คไป 1 ฉบับ จำนวน 249 ล้านบาท แต่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ได้รับเช็คไป 1 ฉบับ จำนวนเงินเพียง 100 ล้านบาท นั้น
(อ่านประกอบ :ปปง.-ดีเอสไอ ขายที่'ศุภชัย' 477ล. ตีเช็คให้ตัวเอง249 ล. คืนสหกรณ์แค่100 ล.)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 เม.ย.59 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ชี้แจงกรณีนี้ โดยระบุคำชี้แจงของ พันตำรวจเอก สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงาน ปปง. รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. ว่า สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการธุรกรรม ในการประชุมครั้งที่ 15/2556 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2556 ได้มีมติให้ สำนักงาน ปปง. ดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย (สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด) โดยส่งเรื่องพร้อมทรัพย์สินให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย และเลขาธิการ ปปง. จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานประสานงานในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดีดังกล่าว โดยมีผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้แทนฝ่ายผู้เสียหาย (สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด) มาร่วมประชุมหารือเรื่องดังกล่าว ซึ่งนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก ได้แสดงความยินยอมให้ขายทรัพย์สิน แล้วนำเงินที่ได้ไปคืนให้กับสหกรณ์ ฯ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและเยียวยาผู้เสียหาย ซึ่งผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับทราบเรื่องความยินยอมดังกล่าว และรับว่าจะนำไปเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาตามแนวทางดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ ผู้แทนฝ่ายผู้เสียหาย(สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด) ได้เห็นชอบในการขายทรัพย์สิน ที่อยู่ระหว่างการอายัดของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อนำเงินมาให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด ที่ขณะนั้นกำลังประสบปัญหาขาดเงินหมุนเวียนในกิจการอย่างหนัก ดังนั้นคณะทำงานประสานงานในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดีดังกล่าว จึงได้จัดทำบันทึกแสดงความตกลงและยินยอมให้ขายทรัพย์สิน ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2556 ไว้เป็นหลักฐานแล้วมอบให้กับทุกฝ่ายไปฝ่ายละ 1 ชุด ทั้งนี้การจะขายทรัพย์สินได้เท่าใดหรือจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เป็นเรื่องของกระบวนการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายตามอำนาจหน้าที่พนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษต่อไป
พ.ต.อ.สีหนาทฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย เป็นการดำเนินการก่อนที่จะมีการแก้ไขระเบียบและกฎหมายใหม่ ซึ่งเดิมตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคท้าย ได้กำหนดว่า ในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ให้เลขาธิการส่งเรื่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดความผิดฐานนั้นดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายก่อน สำนักงาน ปปง. จึงได้ประสานไปยังพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิให้กับผู้เสียหายตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ดีในกรณีการขายทรัพย์สินและคืนเงินให้กับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กว่า 249 ล้านบาท การดำเนินการดังกล่าวไม่มีผู้แทนของสำนักงาน ปปง. ร่วมในการพิจารณา และกรมสอบสวนคดีพิเศษมิได้มีการรายงานหรือแจ้งรายละเอียดการดำเนินการดังกล่าวให้กับสำนักงาน ปปง. ทราบแต่อย่างใด
อนึ่งในกรณีการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในช่วงที่ผ่านมาแต่เดิมมักมีปัญหาข้อขัดข้องอยู่เนือง ๆ สำนักงาน ปปง. จึงได้เสนอขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับที่ 5 พ.ศ.2558 มาตรา 49 วรรคหก กล่าวคือ “ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ให้เลขาธิการขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินด้วยในคราวเดียวกันและเมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้ให้ผู้เสียหายตามวรรคนี้แล้ว ให้สำนักงานดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลโดยเร็ว” ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 8 ตุลาคม 2558 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2558 เพื่อเป็นการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่เป็นผู้เสียหายในคดีต่าง ๆ ก่อนที่ศาลจะสั่งให้ทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน หากผู้เสียหายมีหลักฐานว่าเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงและมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก็สามารถยื่นแบบฟอร์มการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายมายังสำนักงาน ปปง. เพื่อให้สำนักงาน ปปง. ยื่นต่อศาลพิจารณาคุ้มครองสิทธิให้กับผู้เสียหายต่อไป ซึ่งกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ขณะนี้มีผู้มายื่นแบบคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายที่สำนักงาน ปปง.แล้วกว่า 200 ราย มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ จึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ได้ความเสียหายสามารถยื่น แบบคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน พร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่ สำนักงาน ปปง. จะได้รวบรวมเอกสารข้อมูลทั้งหมดยื่นต่อศาลแพ่งให้นำทรัพย์สินดังกล่าวมาเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเร็วต่อไป สามารถดาวน์โหลดคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานทั้งแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน ปปง.www.amlo.go.th หรือ สามารถรับแบบฟอร์มได้ที่ส่วนรับเรื่องเรียน กองสื่อสารองค์กร สำนักงาน ปปง. สะพานหัวช้าง พร้อมแนบหลักฐานต่างๆ ที่ใช้ประกอบการยื่นคำร้องด้วย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน ปปง. 1710 ตามวันและเวลาราชการ
อ่านประกอบ :