ประมูลรอบใหม่ เคาะสเปครถเมล์ NGV (ในฝัน) ยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุง
เปิดร่างทีโออาร์จัดซื้อรถเมล์ NGV 4 พันล. หลังเเก้ไขรอบใหม่ตามข้อสังเกต กวพ.อ. เพื่อความชอบธรรมประมูล พร้อมเเง้มสเปครถโดยสารมาตรฐานระดับท๊อป ให้บริการคนทั่วไป-พิการ ลดความเหลื่อมล้ำในการสัญจรบนท้องถนน
หลังจากคณะกรรมการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) มีมติยกเลิกการประกวดราคาจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (รถเมล์ NGV) จำนวน 489 คัน วงเงิน 1.7 พันล้านบาท เนื่องจากร่างขอบเขตของงาน (Terms of Refence:TOR) ยังมีช่องโหว่ควรปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.)
โดยขณะนั้น ‘ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์’ อดีตประธานคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังในเรื่องดังกล่าวชี้ว่า การยกเลิกการประกวดราคาเกิดขึ้นเพราะความไม่เป็นมืออาชีพและใสสะอาดขององค์กร ขสมก. หากมีความเป็นมืออาชีพมากกว่านี้ การจัดซื้อรถเมล์ NGV จะไม่มีปัญหาเลย
(อ่านประกอบไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ :ประมูลเมล์เอ็นจีวีล่มเหตุขสมก.ไม่มีความเป็นมืออาชีพ)
ล่าสุด 18 เม.ย. 59 บอร์ด ขสมก.ได้ปรับแก้ไขร่าง TOR เรียบร้อยแล้ว และจัดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วย โดยจะจัดประกวดราคาจัดซื้อรถเมล์ NGV พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษา วงเงินทั้งสิ้น 4 พันล้านบาท
แบ่งเป็น จัดซื้อรถเมล์ NGV 1.7 พันล้านบาท และค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา 10 ปี 2.3 พันล้านบาท คาดว่าจะเคาะราคาราวต้น ก.ค. และส่งมอบล๊อตแรก ต.ค. ซึ่งจะครบ 489 คัน ภายในปีนี้
“สเปคของรถเมล์ NGV ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยยังคงเป็นรถเมล์ชานต่ำ ขนาด 12 เมตร และใช้ก๊าซ NGV” สุรชัย เอี่ยมวชิรกุล ผอ.ขสมก. อธิบายถึงคุณลักษณะของรถ เพื่อให้มั่นใจว่า ในร่าง TOR ฉบับใหม่นี้ ไม่มีการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว ยกเว้นปรับให้ถ้อยคำบางตอนชัดเจนขึ้นเท่านั้น
(อ่านประกอบ:ขสมก.เคาะราคาจัดซื้อรถเมล์ NGV ต้น ก.ค. 59-‘เจ๊เกียว’ ชี้ไทยยังไม่พร้อมใช้ระบบไฟฟ้า)
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากขั้นตอนการประกวดราคาจะถูกจับตาเป็นพิเศษแล้ว หลายคนยังสนใจหน้าตารูปร่างของรถเมล์ NGV ในอนาคต จะมีคุณลักษณะอย่างไร ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอ
ร่าง TOR กำหนดกรอบคุณลักษณะของรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน จะต้องนำเข้าทั้งคันจากต่างประเทศหรือประกอบในประเทศก็ได้ แต่อุปกรณ์และชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบต้องเป็นไปตามมาตรฐานของผู้ผลิตและกรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ
โดยเป็นรถโดยสารปรับอากาศ ไม่มีบันได (No Step Bus) ขนาด 2 เพลา 4 ล้อ (ยาง 6 เส้น) ขนาด 12 เมตร (ความยาวของรถจากกันชนหน้าถึงกันชนท้ายไม่น้อยกว่า 11.50 เมตร และไม่เกิน 12 เมตร)
ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซ NGV อัดเป็นเชื้อเพลิง มีกำลังเครื่องยนต์ไม่น้อยกว่า 174 kW สามารถรับน้ำหนักบรรทุกรวม (GVW) ไม่น้อยกว่า 1.6 หมื่นกิโลกรัม
บนรถยังต้องติดตั้งค้อนทุบกระจกไม่ต่ำกว่า 6 อัน เครื่องดับเพลิงขนาด 5 ปอนด์ ไม่น้อยกว่า 2 ถัง และขนาด 10 ปอนด์ ไม่น้อยกว่า 2 ถัง ได้มาตรฐาน มอก. และให้มีขนาดที่กรมขนส่งทางบกประกาศกำหนด
มีประตูฉุกเฉิน ประตูขึ้น-ลง สำหรับพนักงานขับรถ และเข็มขัดนิรภัยสำหรับพนักงานขับรถ 1 เส้น
ส่วนลักษณะของรถและโครงสร้างของรถโดยสาร ร่าง TOR กำหนดให้มีที่นั่งไม่น้อยกว่า 35 ที่นั่ง (รวมที่นั่งคนพิการชนิดพับเก็บได้ 2 ที่นั่ง) พร้อมราวจับโดยสารรองรับได้ไม่น้อยกว่า 60 คน ที่สำคัญ จะต้องถูกออกแบบให้สามารถวิ่งให้บริการประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลตามสภาพของถนนและสะพานในเส้นทางเดินรถสายหลักในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมประชุมและรับฟังความคิดเห็นต่างกังวลว่า หากมีการออกแบบชานต่ำไม่ดี จะส่งผลกระทบต่อการให้บริการ เพราะถนนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือทางเท้า มีมาตรฐานไม่เหมือนกัน จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ทราบหรือไม่ว่า มีการกำหนดให้รถโดยสารมีสีฟ้าตามประกาศองค์การเรื่องแบบสีตัวถังรถและกำหนดจุดพื้นที่แบบตราสัญลักษณ์สำหรับรถโดยสารใหม่ใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ NGV ประกาศ ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2557 และต้องเป็นระบบเกียร์อัตโนมัติด้วย
ความพิเศษอีกหนึ่งสิ่งที่รถเมล์ NGV ต้องมี คือ การติดตั้งป้ายสัญญาณต่าง ๆ ให้เห็นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น
ป้ายอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับบอกหมายเลขเส้นทางและชื่อต้นทาง ปลายทาง ติดตั้งด้านหน้ารถและด้านหลังรถ ขนาดกรอบไม่น้อยกว่า 20x120 ซม. แสดงตัวอักษรวิ่งขนาดความสูง 15 ซม. และบริเวณด้านข้างซ้าย ด้านบนของประตูทางขึ้นลง ขนาดไม่น้อยกว่า 20x75 ซม.
จัดให้มีจอแสดงภาพแบบแอลซีดี เเละระบบ e-Ticket บริเวณทางขึ้นด้านหน้าและตรงกลางของรถโดยสารด้วย
อีกทั้ง ต้องมีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัย โดยการติดตั้งกล้องวงจรปิด ให้สามารถมองเห็นสภาพรถด้านหน้า ภายในรถ และการขึ้นลงของผู้โดยสาร รวมถึงติดตั้งภายนอกรถโดยสารด้านหลัง เพื่อช่วยในการถอยรถสำหรับพนักงานขับรถ โดยบันทึกภาพไม่น้อยกว่า 15 วัน และสามารถเชื่อมต่อระบบภาพและเสียงออนไลน์ได้
ที่น่าสนใจ คือ การจัดซื้อรถเมล์ NGV ครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ร่าง TOR จึงกำหนดให้มีการติดตั้งอุปกรณ์มากมาย
ประตูเข้าออกทางด้านซ้ายมือสำหรับผู้โดยสาร 2 ประตู บริเวณด้านหน้าและตรงกลางรถ โดยประตูรถบริเวณตรงกลางรถให้มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 90 ซม. ไม่มีเสาหรือสิ่งกีดขวางทางขึ้นลงของผู้โดยสารพิการ และต้องมีแสงสว่างเพียงพอสำหรับการใช้งานเวลากลางคืน
พร้อมกันนี้ต้องติดตั้งทางลาดที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 80 ซม. โดยเมื่อวางเทียบกับทางเท้าต้องมีความลาดชันไม่เกินกว่า 1 ใน 8 ในแนวตั้งต่อแนวราบ และกรณีวางเทียบกับระดับพื้นดินต้องมีความลาดชันไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ในแนวตั้งต่อแนวราบ โดยต้องรับน้ำหนักคนพิการและรถคนพิการได้เหมาะสมและปลอดภัย
กรณีที่มีความยาวมากกว่า 1.20 เมตร ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันมิให้รถคนพิการตกจากทางลาดด้วย และต้องจัดให้มีพื้นที่จอดรถคนพิการอย่างน้อย 2 ที่ อยู่บริเวณประตูตรงกลางรถโดยสาร โดยมีความกว้างยาวไม่น้อยกว่า 80 ซม.X 1.30 เมตร ต่อ 1 ที่
ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับยึดตรึงเก้าอี้เข็นคนพิการ เพื่อป้องกันการลื่นไถลของเก้าอี้เข็น โดยสามารถปลดออกได้ง่าย พร้อมติดภาพสัญลักษณ์คนพิการเหนือพื้นที่ดังกล่าว
บนรถโดยสารยังต้องมีที่นั่งคนพิการชนิดพับเก็บได้ ไม่น้อยกว่า 2 ที่นั่ง และไม่เกิน 4 ที่นั่ง ภายในบริเวณพื้นที่จอดเก้าอี้รถเข็นคนพิการด้วย
สิ่งหนึ่งไม่ค่อยเห็นในรถโดยสารปัจจุบันบ่อยนัก คือ ให้มีสัญญาณกริ่งหยุดรถ ภายในบริเวณที่นั่งสำหรับคนพิการ โดยอยู่สูงจากพื้นที่ไม่น้อยกว่า 70 ซม. แต่ไม่เกินกว่า 1.20 เมตร และเมื่อกดกริ่งสัญญาณแล้ว ให้มีสัญญาณเสียงที่ต่างจากสัญญาณเสียงกดกริ่งให้รถจอดของคนทั่วไป
พร้อมกับมีสัญญาณไฟกระพริบ แสดงบริเวณใกล้ ๆ กริ่งสัญญาณ เพื่อให้คนพิการหูหนวกรับทราบว่ากริ่งสัญญาณทำงานและพนักงานขับรถได้ยินเสียงกริ่งสัญญาณแล้ว
ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้คนพิการทราบว่า รถโดยสารคันใดมีความพร้อมในการให้บริการ โปรดสังเกตสัญลักษณ์คนพิการ ซึ่งจะถูกติดขึ้นขนาดไม่น้อยกว่า 25x25 ซม.ด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังตัวรถ
ทั้งหมดนี้คือสเปคของรถเมล์ NGV บางส่วนที่ถูกระบุไว้ในร่าง TOR โครงการจัดซื้อฯ ฉบับใหม่ ซึ่งหากเป็นไปตามกรอบระยะเวลาดำเนินการ ภายในปี 59 คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีรถเมล์คันใหม่ มาตรฐานระดับโลก คอยให้บริการอย่างแน่นอน สมดังที่รอคอยมานานหลายปี
ไม่ว่าคนปกติ คนพิการ ก็สามารถใช้บริการได้ โดยไม่ต้องกังวลว่า จะไม่สะดวกสบายเหมือนอย่างปัจจุบันอีกต่อไป .
อ่านร่างทีโออาร์โครงการจัดซื้อฯ ฉบับเต็ม:เปิดร่างทีโออาร์ (ฉบับเเก้ไข) จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน 4 พันล.