การตลาดเสี่ยงโชค ผลประโยชน์หรือมอมเมา กม.คุ้มครองได้หรือ?
แต่ละประเทศจะอนุญาตให้กระทำด้วยวิธีการส่งเสริมการขายได้ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในการกำกับดูแลของภาครัฐอย่างเข้มงวด ต่างจากประเทศไทยที่เปิดให้อย่างเสรีในชั่วยามนี้
เพราะความห่วงใยในสุขภาวะของประชาชนที่อาจจะต้องตกเป็นเหยื่อการตลาดอย่างไม่รู้ตัว เมื่อกิจกรรมทายผลเสี่ยงโชครับของรางวัล ด้วยการอุดหนุนผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อบริโภค อาจกลายเป็นภัยร้ายที่ทำลายร่างกายของประชาชนเอง
รางวัลใหญ่นับล้านบาท ถูกล่อตาล่อใจประชาชนผ่านการโฆษณาในแทบทุกช่องทางเพื่อให้เข้าถึงอย่างมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเครื่องดื่มประเภทชาเขียวยี่ห้อดังในเมืองไทย หลายปีมานี้จัดแคมเปญกระหน่ำซัมเมอร์ดึงยอดขายทะลุด้วยการโหมกระหน่ำแจกของรางวัลล่อใจผู้บริโภคจนกลายเป็นแคมเปญประจำหน้าร้อน
ความห่วงใยที่ว่าถูกสะท้อนออกมาในวงประชุมพัฒนาข้อเสนอมาตรการกำกับการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการขายด้วยวิธีการเสี่ยงโชค โดยระดมมันสมองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกทาง เพื่อหาทางกำกับดูแลการตลาดด้วยรูปแบบเสี่ยงโชคให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม
อีกหนึ่งที่เป็นตัวชี้วัดได้อย่างดี กับผลงานวิจัยของ ผศ.ศรัณยพงศ์ เที่ยงธรรม นักการตลาดจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่นิยามคำว่าการส่งเสริมการขายด้วยวิธีการเสี่ยงโชค นั่นคือ การลดราคา แลกของสมนาคุณ แจกของตัวอย่าง แต่โลกทุกวันย่อมเปลี่ยนไป เมื่อผลของการแจกไม่เหมือนเช่นเดิม เพราะด้วยรางวัลที่มีมูลค่ามหาศาล เกิดเป็นการล่อตาล่อใจผู้บริโภคให้อยากได้ และก็ส่งผลให้ต้องจับจ่ายซื้อสินค้านั้นๆ เผื่อด้วยความหวังว่าโชคคงจะเข้าข้างในสักวัน
ผศ.ศรัณยพงศ์ ระบุในผลการวิจัยว่า ปี 2557-2558 พบว่า ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเครื่องดื่ม มักใช้วิธีให้ผู้บริโภคได้เสี่ยงโชคผ่านช่องทางการส่งตัวเลข หรือรหัส ทั้งเป็นการส่งข้อความสั้น (SMS) ผ่านโทรศัพท์มือถือ ผลัดเปลี่ยนมาในรูปแบบผ่านแอพพลิเคชั่นของสินค้า หรือไลน์ จูงใจด้วยวิธีการให้รางวัลใหญ่ที่มีมูลค่าสูง เช่น รถยนต์ จักรยานยนต์ ทองคำ ท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น
แต่ที่น่าสนใจคือการจูงใจด้วยวิธีดังว่ามันเกิดผล เพราะคนไทยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปกว่า 44% เคยส่งเสี่ยงโชคกับผลิตภัณฑ์ชาเขียว และ 42% มีความถี่ในการส่งชิงโชคถึง 1-3 ครั้งต่อเดือน บวกกับตัวเลขอีก 39% เห็นว่า การเสี่ยงโชครูปแบบนี้ก็เหมือนกับการเล่นหวยแบบไม่ผิดกฎหมาย และอีกจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นการคืนกำไรให้กับผู้บริโภค
อีกทั้งจากเอกสารประกอบการประชุมของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2558 พบว่าหน่วยงานที่อนุญาตซึ่งก็คือเจ้าพนักงานกรมการปกครองอนุญาตให้มีการส่งเสริมการขายด้วยวิธีการเสี่ยงโชค เฉลี่ยมากถึง 48 ครั้งต่อเดือน สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการนิยมใช้วิธีการส่งเสริมการขายด้วยวิธีการเสี่ยงโชค และผู้บริโภคก็ชื่นชอบ ตอบรับเป็นอย่างดี
ความกังวลจึงเกิดขึ้น เพราะนักวิชาการหลายฝ่ายหวั่นเกรงว่า กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นการมอมเมาประชาชน และส่งเสริมให้คนติดการเสี่ยงโชค หรือแม้แต่เป็นช่องทางใหม่ของการเล่นพนัน แม้จะห้ามไม่ได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องมีมาตรการที่กำกับดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสาธารณะโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อนึกถึงกิจกรรมเสี่ยงโชคแล้ว เยาวชนกลุ่มตัวอย่างที่ถูกสำรวจจะนึกถึงชาเขียวเป็นอันดับแรก จึงเล็งเห็นว่า ถึงเวลาที่ต้องใช้กฎหมายมาควบคุมและกำกับดูแล
ก่อนไปถึงเรื่องการแก้ไขข้อกฎหมายบังคับใช้ ผศ.ศรัณยพงศ์ เสนอข้อมูลเพื่อเป็นชุดความรู้ โดยยกตัวอย่างกรณีส่งเสริมการขายด้วยการให้รางวัลด้วยวิธีการเสี่ยงโชคในบางประเทศ ที่ถูกแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มประเทศที่จัดกิจกรรมแบบประเทศไทย คือ โรมาเนีย สเปน
2.กลุ่มประเทศที่อนุญาตให้ทำได้แต่มุ่งเน้นมาตรการด้านภาษีและค่าปรับกรณีกระทำผิดสูง และค่าปรับอาจจะถึง 100 ล้านบาท คือ เนเธอแลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอร์เวย์ โปรตุเกสออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ผลความเข้มงวดทำให้กิจกรรมนี้ลดต่ำลง
3.กลุ่มประเทศที่อนุญาตและพิจารณาเป็นการขออนุญาตจัดพนันเกมส์ลอตเตอรี่ เช่น รัสเซียฮ่องกง
4.กลุ่มประเทศที่อนุญาต แต่ต้องไม่ให้เป็นการสร้างค่านิยมเรื่องโชค เช่น รวยด้วยโชค คือ ญี่ปุ่น อีกทั้งมูลค่าของรางวัลก็ต้องไม่เกิน 20 เท่าของราคาสินค้าหรือมูลค่ารวมของรางวัลต้องไม่เกิน 30,000 บาท
5.กลุ่มประเทศที่อนุญาตแต่ต้องเพิ่มช่องทางด้วยการให้เสี่ยงโชคฟรีโดยไม่ต้องซื้อผลิตภัณฑ์ คือ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
และ 6.กลุ่มประเทศที่อนุญาต แต่ต้องไม่ใช่กิจกรรมที่มีผลต่อการบิดเบือนการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ คือ เยอรมัน และออสเตรีย หรือกำหนดเงื่อนไขเอาไว้แล้วว่าต้องเป็นองค์กรการกุศลเท่านั้น เช่น สวีเดน
ผลวิจัยของผศ.ศรัณยพงศ์จะเห็นได้ชัดว่า แต่ละประเทศจะอนุญาตให้กระทำด้วยวิธีการส่งเสริมการขายได้ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในการกำกับดูแลของภาครัฐอย่างเข้มงวด ต่างจากประเทศไทยที่เปิดให้อย่างเสรีในชั่วยามนี้ ซึ่งเรื่องนี้เอง ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) มองว่า ช่องโหว่ของตัวกฎหมายทำให้ผู้ประกอบการที่ส่งเสริมการตลาดด้วยวิธีนี้โกยเงินเข้ากระเป๋าถึงปีละหลายพันล้านบาท โดยไม่จำต้องสนใจสุขภาวะของผู้บริโภคแม้แต่น้อย
เมื่อวกกลับมาในข้อบังคับตามกฎหมาย ที่ล่าสุดกระทรวงมหาดไทย ก็ชงเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีให้พิจารณารับหลักการร่างพ.ร.บ.การให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค พ.ศ.... ซึ่งเป็นของใหม่ที่จัดแยกออกจากพ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 ผลที่ต้องการ ก็เพื่อให้มีการควบคุมตรวจสอบ การอนุญาต การโฆษณา ตลอดจนมาตราโทษและค่าธรรมเนียมกรณีที่เกิดการกระทำผิด อีกทั้ง หากของเดิมที่รวบอยู่กับพ.ร.บ.การพนันฯ ก็ไม่ทันสมัย ยังรวมถึงบทกำหนดโทษที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
เมื่อร่างพ.ร.บ.การให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคฯ ถูกแจกจ่ายในที่ประชุมเพื่อให้เห็นถึงเนื้อหาอย่างคร่าวๆ ที่กระทรวงมหาดไทยได้ร่างเอาไว้ และล่าสุดก็อยู่ในมือของคณะรัฐมนตรี ที่เบื้องต้นเข้าใจในหลักการเป็นอย่างดีแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือจะต้องเอาไปถกกันในขั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้ลงมติรับเรื่องดังกล่าวให้สามารถบังคับใช้เป็นกฎหมาย
แต่สิ่งที่มีการวิพากษ์ถูกพุ่งไปในทิศทางเดียวกันว่า “โทษน้อย” หรือ “ยังไม่ครอบคลุม” และ “ดูเหมือนจะไม่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนมากนัก” ด้วยว่าในเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.การให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคฯ เช่น หมวด 1 มาตรา 5 ระบุว่า การจัดให้มีรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคด้วยวิธีใดๆ ในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตก่อน จึงจะทำได้
หรือในมาตรา 6 ระบุว่า การให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคในกรณีดังต่อไปนี้ จะอนุญาตไม่ได้ (1) มีลักษณะเป็นอันตรายต่อประชาชน ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี หรือมีกฎหมายอื่นห้ามจัดหรือโฆษณาให้มีการให้รางวัลด้วยวิธีการเสี่ยงโชค (2) มีลักษณะมอมเมาประชาชน เอาเปรียบ หรือไม่เป็นธรรม (3)ให้รางวัลมีลักษณะอันตรายต่อประชาชน หรือมีมูลค่าไม่เหมาะสมอันเป็นการเอาเปรียบ ขณะที่หมวด 2 เรื่องการออกใบอนุญาต ระบุว่า ให้เจ้าหน้าที่กรมการปกครองแต่ละพื้นที่เป็นผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตให้ เพิกถอน รวมถึงจัดเก็บค่าธรรมเนียม
ขณะที่ค่าธรรมเนียมขออนุญาตมีราคา คือ ไม่เกิน 1 วันฉบับละ 1,000 บาท ไปจนถึงสูงสุดคือใบอนุญาตไม่เกิน 1 ปี ฉบับละ 100,000 บาท ส่วนบทลงโทษที่ระบุเอาไว้ คือสูงสุดอยู่ที่ปรับไม่เกิน 80,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
เนื้อหาดังกล่าวถูกวิพากษ์ในที่ประชุมอย่างกว้างขวาง ธาม เชื้อสถาปนศิริ บอกเอาไว้ว่า หากเป็นจริงตามนี้ถือว่ากฎหมายไม่ได้เน้นการคุ้มครองประชาชนแม้แต่น้อย อีกทั้งยังไม่ทันสมัยและเป็นเนื้อหาที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะว่า สินค้าใดอนุญาตได้หรือสินค้าใดไม่สามารถอนุญาตให้ส่งเสริมการตลาดด้วยวิธีการเสี่ยงโชค
“ผมมองว่าโทษยังน้อยไปหากเทียบกับผลประกอบการที่พวกเขาจะได้ อีกทั้งยังไม่ชัดเจนว่ากฎหมายฉบับนี้จะให้ประโยชน์อะไรกับประชาชนในฐานะผู้บริโภค เพราะแต่ละอย่างมันกว้างเกินไป อย่างเช่น อะไรคือไม่ขัดศีลธรรมอันดี หรือของรางวัลต้องมีความเหมาะสม สิ่งนี้จะยิ่งเพิ่มการมอมเมาประชาชนหรือไม่” ธาม ให้ความเห็น
สอดรับกับช่องโหว่ที่นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) มองเห็นในเรื่องของการออกใบอนุญาต เพราะอำนาจทีว่าถูกมอบให้กับเจ้าพนักงานองค์กรส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เพียงคนเดียว ทำให้เกิดช่องโหว่ที่อาจจะสามารถทุจริตคอรัปชั่นได้ เพราะในเนื้อหาของพ.ร.บ.การให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคฯ ไม่ได้ระบุเอาไว้ว่า หากทำกิจกรรมการตลาดส่งเสริมการขายด้วยวิธีเสี่ยงโชคในพื้นที่ จะต้องขออนุญาตในพื้นที่เท่านั้น ช่องโหว่คือ หากในพื้นที่ไม่อนุญาต ผู้ประกอบการก็สามารถไปขออนุญาตยังจังหวัดอื่นๆ ได้
“เมื่อผลเป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้ผู้ประกอบการอาจแห่ไปขออนุญาตกับพื้นที่ๆ ไม่จุกจิกหรือออกใบอนุญาตได้ง่าย” นพ.ประวิทย์ เสนอในที่ประชุม
ขณะที่เจ้าพนักงานตัวแทนจากสำนักการสอบสวน และนิติการ กระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่า พ.ร.บ.การให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคฯ ยังสามารถถกกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปออกมาเป็นกฎหมายลูก และกฎกระทรวงเพื่อนำไปปฏิบัติต่อได้ เพียงแต่ร่างพ.ร.บ.นี้ ถือเป็นแม่แบบที่ครอบกำหนดในวงกว้างเท่านั้น อีกทั้งสิ่งที่ทำลงไปก็ยืนยันว่าเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน หาใช่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ
บทสรุปจะต้องเร่งระดมความเห็นกันอีกครั้งในเร็วๆ นี้ เพื่อให้ทันต่อการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมถึงมีความจำเป็นจะต้องเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้มีอำนาจมาร่วมรับฟังและเสนอข้อคิดเห็นดังกล่าว ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ร่างกฎหมายนี้มีความครอบคลุม และดูแลประชาชนได้อย่างจริงจัง ด้วยว่าเสียงจากที่ประชุมอาจจะไม่ดังไปถึงรัฐบาล ดังนั้น การระดมสมองครั้งต่อไปอาจจะต้องเข้มข้นอย่างที่สุด